xs
xsm
sm
md
lg

จี้ออกซีแอล “ยาตับอักเสบซี” เหตุราคาแพง ถูกผูกขาด สธ.แจง รพ.ไม่ตรวจคัดกรอง เพราะ สปสช.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอ็นจีโอเอดส์ จี้ สธ. ออกมาตรการซีแอล “ยาตับอักเสบซี” ชนิดกิน ชี้ ประสิทธิภาพสูง แต่ราคาแพงถึง 2 ล้านกว่าบาท ต่อการรักษา 12 สัปดาห์ แถมถูกผูกขาดบริษัทยาอินเดียขายยาสามัญราคาถูกเฉพาะ 50 ประเทศ แต่ไม่รวมไทย สธ. ชี้ อยู่ระหว่างต่อรองราคานำเข้ามาใช้ในไทย แจง รพ. ไม่ตรวจไวรัสซี เพราะ สปสช. ไม่จ่ายเงินหากตรวจไม่พบ

วันนี้ (28 ก.ค.) ผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี กว่า 100 คน นำโดยนายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และ นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย เดินทางเข้าพบ นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้ 1. สธ. ประกาศมาตรการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (ซีแอล) ต่อยารักษาไวรัสตับอักเสบซี ในยากลุ่มดีเอเอที่เป็นยากิน เพราะมีประสิทธิภาพดีกว่ายาฉีดที่รักษาในปัจจุบัน และใช้เวลาในการรักษาน้อยกว่า ออกฤทธิ์ต่อตัวไวรัสโดยตรง และรักษาได้ทุกสายพันธุ์ 2. ให้หน่วยบริการของ สธ. ตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบซี และ 3. พัฒนาระบบการส่งต่อดูแลรักษาที่ชัดเจน สามารถรับการรักษาที่ รพ.ชุมชน หรือ รพ.ใกล้บ้าน เพื่อลดค่าใช้จ่ายและเวลาในการเดินทางไปรักษาลง

นายนิมิตร์ กล่าวว่า ที่เรียกร้องให้ใช้มาตรการซีแอล เพราะยารักษาไวรัสตับอักเสบซีแบบกิน มีประสิทธิภาพการรักษาให้หายขาดถึง 90% แต่บริษัทยาต้นแบบที่ขายในสหรัฐอเมริกายังตั้งราคาสูงที่ประมาณ 28,000 เหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 980,000 บาทต่อขวด การรักษาใช้ระยะเวลา 12 สัปดาห์ จะเป็นเงินประมาณ 2,940,000 บาท ซึ่งราคาสูงเกินความเป็นจริง นอกจากนี้ บริษัทยาต้นแบบที่มีสิทธิบัตรยายังเพิ่มกลไกการผูกขาดตลาดยาด้วยการทำสัญยากับบริษัทยาชื่อสามัญในประเทศอินเดีย หลายบริษัทอนุญาตให้ผลิตยาชื่อสามัญขายในราคาถูกได้ แต่กำหนดขายเพียงบางประเทศที่กำหนดไว้ในสัญญาเท่านั้น ส่วนประเทศไทยถูกจัดเป็นประเทศกำลังพัฒนา ไม่อยู่ในสัญญาพร้อมกับ 50 ประเทศ จึงไม่มีสิทธิเข้าถึงยาราคาถูก ซึ่งที่ผ่านมา การประกาศมาตรการซีแอลช่วยประชาชนเข้าถึงยาต้านไวรัสเอชไอวีและยารักษามะเร็งมากขึ้น จึงอยากให้ สธ. ประกาศใช้มาตรการซีแอลกับยาไวรัสตับอักเสบซี โดยให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นผู้ผลิตยา

ด้าน นพ.โสภณ กล่าวว่า สธ. พยายามผลักดันเรื่องนี้มาตลอด และร่วมมือกับ อภ. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมควบคุมโรค และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในการจัดการยาที่มีประสิทธิภาพให้ราคาถูกลงกว่านี้ เบื้องต้นได้รับรายงานจาก อภ. ว่า อีกประมาณ 2 เดือน ศาลในประเทศอินเดียจะมีการตัดสินปัญหาเรื่องสิทธิบัตรยารักษาโรคตับอักเสบซี อาจจะมีการเจรจาต่อรองนำเข้ามาใช้ในประเทศไทยได้ ส่วนเรื่องการทำซีแอลยาต้องพิจารณาประโยชน์และโทษ และดูความเหมาะสมให้ดีก่อนว่าอะไรที่จะเกิดกับประชาชน และประเทศชาติ ส่วนเรื่องการตรวจคัดกรองและการรักษาอยู่ที่ 7,500 บาท แต่มีปัญหาว่า สปสช. จะจ่ายให้ก็ต่อเมื่อตรวจเจอ และได้รับการรักษาเท่านั้น ถ้าตรวจแล้วไม่เจอก็ไม่จ่าย ทำให้โรงพยาบาลต้องออกค่าใช้จ่ายเอง ซึ่งจากสถิติในการตรวจที่ผ่านมา 10 คน จะมีเพียง 1 คนเท่านั้นที่ต้องได้รับการรักษา ทำให้โรงพยาบาลไม่ค่อยอยากตรวจ อย่างไรก็ตาม จะนำปัญหานี้เข้าไปหารือร่วมกับ สปสช. เพื่อหาทาออก



ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น