xs
xsm
sm
md
lg

รพ.เกาะยาวฯ พ้อเบิกงบช่วยผู้ป่วยฉุกเฉินไม่ได้ เหตุส่งข้ามจังหวัด ระยะทางใกล้กว่า จนชาวบ้านต้องตั้งกองทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผอ.รพ.เกาะยาวชัยพัฒน์ จ.พังงา แจงส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินข้ามจังหวัดไปภูเก็ต เหตุระยะทางใกล้กว่า หวังผู้ป่วยปลอดภัย แต่เบิกงบไม่ได้ เหตุไม่ตรงตามระเบียบส่งต่อในจังหวัด ด้านชาวบ้านร่วมใจตั้งกองทุนช่วยเหลือ เผยค่าเรือเที่ยวละ 8,000 บาท ขณะที่ปลัด สธ. เผยเบิกงบได้ต้องเข้าเกณฑ์ เผยหากไม่เข้าเกณฑ์มีแนวทางช่วยเหลือ

นพ.มนฑิต พูลสงวน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเกาะยาวชัยพัฒน์ จ.พังงา กล่าวว่า รพ.เกาะยาวชัยพัฒน์ บนเกาะยาวน้อย เป็น รพ.ชุมชนขนาดเล็ก ศักยภาพการรักษามีข้อจำกัด ทำให้ประสบปัญหาการลำเลียงส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉิน หรือมีอาการรุนแรงจำเป็นต้องส่งโรงพยาบาลขนาดใหญ่มาโดยตลอด ซึ่งตามปกติจะต้องส่งต่อ รพ.พังงา ซึ่งอยู่จังหวัดเดียวกัน แต่มีข้อจำกัดด้านระยะทาง จึงต้องส่งข้ามจังหวัดไปที่ รพ.วชิระภูเก็ต แทน เพราะใช้เวลาน้อยกว่า ทำให้การส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินไม่มีงบในการช่วยเหลือ เนื่องจากพื้นที่ไม่ตรงตามเกณฑ์ จึงทำให้เบิกงบจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) งบจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) หรือแม้แต่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไม่ได้ ไม่ตรงตามเงื่อนไข

“ที่ผ่านมา ได้ทำหนังสือขอความช่วยเหลือไปยังกระทรวง และ สปสช. มาตลอด แต่ติดตรงระเบียบ บอกไม่มีระเบียบเบิก แต่ไม่มีการเสนอว่าต้องทำอย่างไรบ้าง ค่าเรือส่งคนไข้จะเบิกกับใคร ไม่มีคำแนะนำเลย ทั้งนี้ ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยที่จำเป็นต้องส่งต่อไปยัง รพ.วชิระภูเก็ต เดือนละ 10 ราย ค่าเรือลำเลียงประมาณ 8,000 บาทต่อเที่ยว เมื่อไม่มีงบ ทางชาวบ้านในพื้นที่ก็ร่วมกันตั้งกองทุนในพื้นที่เพื่อช่วยเหลือตรงนี้ เพราะ รพ. ไม่มีศักยภาพมาจ่ายให้ ส่วนที่ต้องส่งข้ามจังหวัดนั้น เพราะยึดเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นหลัก ให้ถึงโรงพยาบาลเร็วที่สุด” นพ.มนฑิต กล่าว

ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน ปลัด สธ. กล่าวว่า จากการสอบถามกับทางเลขาธิการ สพฉ. พบว่า หากผู้ป่วยฉุกเฉินจริง ๆ เบิกได้อยู่แล้ว แม้จะข้ามจังหวัดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการเบิกจ่ายค่ารถ เรือ หรือพาหนะอื่น ๆ กรณีนำส่งผู้ป่วยในระบบการแพทย์ฉุกเฉินจ่ายได้ แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์สำหรับพื้นที่เฉพาะหรือกันดาร อาทิ ต้องขึ้นทะเบียนเรือของอาสาสมัคร หรือผู้รับจ้าง และต้องเป็นเฉพาะกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินเท่านั้น แต่หากไม่เข้าเกณฑ์ การดึงความร่วมมือร่วมจ่ายในรูปกองทุนแบบที่เกาะยาวก็เป็นตัวอย่างที่ดี แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่ช่วยเหลือเลย

“กรณีไม่ใช่เจ็บป่วยฉุกเฉิน แต่เกินความสามารถของ รพ. ก็จะมีระบบมาช่วยหลือ ซึ่งล่าสุด เมื่อวันที่ 22 เมษายน ผมได้ลงนามเรื่องการจัดบริการทางการแพทย์และสังคมให้กับผู้ป่วยในพระบรมราชานุเคราะห์ พระราชานุเคราะห์ และผู้ด้อยโอกาสในสังคม ซึ่งเป็นความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งกรณีเกาะยาวน้อย เข้าเกณฑ์นี้ได้ แต่การช่วยเหลืออาจต้องใช้เวลาในการดำเนินการ ยืนยันว่า สธ. ไม่ได้นิ่งนอนใจเลย” ปลัด สธ. กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น