xs
xsm
sm
md
lg

เตือนไวรัสตับอักเสบร้าย ติดต่อง่ายในไทยมี1-2ล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ทุกวันที่ 28 ก.ค. องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้เป็นวันโรคตับอักเสบโลก (World Hepatitis Day) โดยโรคตับอักเสบเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเป็นอันดับ 1 ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบเอ บี ซี ดี อี และจี รองลงมาคือ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งนี้ การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบางชนิด พบว่าเป็นสาเหตุของโรคตับแข็ง ตับวาย และมะเร็งตับ โดย WHO รายงาน ทั่วโลกมีผู้ป่วยเป็นโรคตับอักเสบปีละกว่า 400 ล้านราย เสียชีวิต 1.4 ล้านราย สำหรับประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 17 ก.ค. 2557 มีผู้ป่วยโรคตับอักเสบจากเชื้อไวรัส 4,824 ราย เสียชีวิต 2 ราย เชื้อที่พบมากที่สุดคือชนิด บี พบประมาณร้อยละ 70 รองลงมาคือชนิดเอ ส่วนใหญ่เกิดอย่างเฉียบพลันและเป็นเรื้อรัง พบผู้ป่วยได้ทุกเพศทุกวัย

นพ.ณรงค์ กล่าวอีกว่า เชื้อไวรัสตับอักเสบแต่ละชนิด มีวิธีการติดต่อและแพร่เชื้อต่างกัน โดยเชื้อชนิดเอและอี ติดต่อทางการกินอาหารที่มีเชื้อปนเปื้อน ส่วนเชื้อชนิดบี ซี ดี และจีแพร่ผ่านทางเลือด จากมารดาสู่ทารก การมีเพศสัมพันธ์ หรือจากการใช้ของมีคมร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อ ในการป้องกัน สธ.ได้จัดบริการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีให้เด็กแรกเกิดทุกรายที่คลอดในประเทศ ซึ่งปีที่ผ่านมามีความครอบคลุมสูงถึงร้อยละ 99.9 นอกจากนี้ จะเน้นการตรวจวินิจฉัยผู้ติดเชื้อระยะแรก เพื่อให้การรักษาได้อย่างทันท่วงที ตัดวงจรแพร่ระบาดให้ได้มากที่สุด

ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า เชื้อไวรัสตับอักเสบที่เป็นปัญหาคือ บี และซี เพราะมีการติดต่อคนอื่นคล้ายเชื้อเอชไอวี คือทางเลือด การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน การสัมผัสสารคัดหลั่งทางเพศสัมพันธ์ และจากแม่สู่ลูก แต่ติดกันง่ายกว่าเชื้อเอชไอวีถึง 50-100 เท่า เนื่องจากเชื้อมีความทนทาน สามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานหลายวัน มีระยะฟักตัว 1-6 เดือน เฉลี่ยนาน 3 เดือน คาดการณ์ว่าทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ประมาณ 2,000 ล้านคน โดย 240 ล้านคน จะกลายเป็นผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง และเสียชีวิตปีละ 6 แสนคนจากโรคตับแข็งและมะเร็งตับ ส่วนคนไทยประมาณได้ว่ามีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบราว 1-2 ล้านคน และในอนาคตคาดว่าจะมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งตับปีละประมาณ 250,000 คน

นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า การป้องกันโรคตับอักเสบ คือ 1.ลดละการดื่มเครื่องแอลกอฮอล์ 2.ใช้ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ 3.ไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน 4.ไม่สัก ฝังเข็ม หรือเจาะในร้านที่ไม่มีมาตรฐาน 5.หลีกเลี่ยงการใช้ของมีคมร่วมกัน เช่น มีดโกนหนวด 6. กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ดื่มน้ำสะอาด กินอาหารปรุงสุก โดยเชื้อไวรัสตับอักเสบจะตายเมื่อถูกความร้อน 100 องศาเซลเซียส 7.ล้างผักสดและผลไม้ให้สะอาดก่อนรับประทาน 8.ไม่ถ่ายอุจจาระลงน้ำ เพื่อไม่ให้แพร่กระจายสิ่งแวดล้อม

นพ.โสภณ กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ จะมีอาการดีซ่าน คือตัวเหลือง ตาเหลือง คลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลีย ปวดท้องบริเวณชายโครงขวา อาการตัวเหลืองตาเหลืองอาจเป็นนานหลายสัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนหนึ่งจะหายขาด แต่ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งอาจจะกลายเป็นพาหะโรค คือสามารถแพร่เชื้อสู่คนอื่นได้ โดยไม่มีอาการป่วย หากติดเชื้อในช่วงอายุ 1 ปีแรก มีความเสี่ยงต่อการกลายเป็นผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบเรื้อรัง ร้อยละ 90 หากติดในช่วงอายุ 1-4 ปี จะกลายเป็นผู้ติดเชื้อเรื้อรังร้อยละ 30-50 และหากติดในวัยผู้ใหญ่ จะกลายเป็นผู้ติดเชื้อเรื้อรังร้อยละ 10
กำลังโหลดความคิดเห็น