นักวิชาการหวั่นไทยเข้าร่วม TPP ทำเสียอธิปไตยออกกฎหมายคุมยาสูบ เหตุเปิดช่องบริษัทเอกชนฟ้องอนุญาโตตุลาการ โอกาสแพ้คดีสูง เสี่ยงเสียค่าปรับหัวโต
วันนี้ (28 ก.ค.) นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย กล่าวเรื่อง “TPP กับ อธิปไตยของไทย” ภายในการประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 ว่า หากประเทศไทยเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) จะทำให้อธิปไตยของประเทศไทยเสียหาย เนื่องจากในข้อตกลงการค้าฉบับนี้ ผู้ลงทุนสามารถฟ้องรัฐบาลได้ หากเห็นว่าผู้ลงทุนที่เป็นบริษัทเอกชนเสียสิทธิบางอย่างจากการดำเนินการของภาครัฐ ซึ่งไม่ได้เป็นการฟ้องศาลภายในประเทศ แต่จะเป็นการฟ้องอนุญาโตตุลาการที่เป็นศาลนอกประเทศ โดยจะมีผู้พิพากษา 3 คน จากตัวแทนที่รัฐบาลเลือก บริษัทเลือก และฝ่ายเป็นกลาง ฝ่ายละ 1 คน ที่น่ากังวลคือบริษัทบุหรี่อาจฟ้องรัฐบาลไทยต่ออนุญาโตตุลาการจากการออกมาตรการควบคุมบุหรี่ และรัฐบาลไทยมีความเสี่ยงที่จะแพ้คดีสูง เพราะอนุญาโตตุลาการบางคนที่มีการขึ้นบัญชีไว้อาจเคยว่าความให้กับบริษัทบุหรี่มาก่อน เมื่อแพ้คดีรัฐบาลก็ต้องยุติมาตรการที่ถูกฟ้องร้องและเสียค่าปรับมโหฬาร
นายไพศาล ลิ้มสถิตย์ กรรมการบริหารศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า หากบริษัทเอกชนต้องการฟ้องรัฐบาลไทย จะต้องฟ้องศาลปกครอง แต่หากไทยเข้าร่วม TPP จะถูกฟ้องอนุญาโตตุลาการที่เป็นศาลระหว่างประเทศ ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่ออธิปไตยของรัฐในการออกกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมยาสูบและประเด็นสุขภาพอื่น ๆ เพราะบริษัทเอกชนจะสามารถฟ้องรัฐบาลในศาลระหว่างประเทศได้ หากเห็นว่ากระทบสิทธิ และหากถูกฟ้องร้องรัฐบาลจะมีค่าใช้จ่ายในการสู้คดีค่อนข้างสูงราว 300 ล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อปี 2556 อังค์ถัดเคยมีการศึกษาระบุข้อเสียของการระงับข้อพิพาทด้วยอนุญาโตตุลาการ ว่า มีปัญหาความไม่เป็นกลาง หรือความอิสระของอนุญาโตตุลาการ ปัญหาผลประโยชน์ขัดกัน ไม่มีระบบตรวจสอบจริยธรรมเหมือนองค์กรศาล เพราะอนุญาโตตุลาการเป็นนักกฎหมายในบริษัทที่ปรึกษากฎหมายที่มีชื่อเสียง อาจถูกซื้อตัวได้ ปัญหากระบวนการที่ขาดความโปร่งใสและความชอบด้วยกฎหมาย ความขัดแย้งกันระหว่างคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ปัญหาที่ไม่สามารถอุทธรณ์ หรือแก้ไขความถูกต้องของคำชี้ขาดได้ และปัญหาเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายที่สูงมาก และระยะเวลาในการดำเนินการ แม้ต่อมามีการออกกฎเกณฑ์ใหม่เพื่อสร้างความโปร่งใส แต่ส่วนตัวมองว่าเกณฑ์ใหม่ก็ยังมีจุดอ่อน
“หากไทยเข้าร่วม TPP จะมีกรณีรัฐบาลไทย หรือหน่วยงานอาจถูกฟ้อง กรณีการออกกฎหมายควบคุมยาสูบ เช่น บริษัทบุหรี่ต่างชาติจะมีความเข้มแข็งมากขึ้นในการต่อต้านนโยบาย กฎหมายควบคุมยาสูบของไทย หน่วยงานไม่สามารถออกกฎหมายควบคุมยาสูบที่เข้มงวดในอนาคต หน่วยงานของรัฐอาจถูกบริษัทบุหรี่ต่างชาติฟ้องศาลปกครอง ประเด็นความชอบด้วยกฎหายของกฎหมายและรัฐบาลไทยอาจถูกร้องเรียนผ่านองค์การการค้าโลก” นายไพศาล กล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่