เชื่อผิด ๆ!! กินเหล้ามากช่วยป้องกัน “โรคมาลาเรีย” สบส. ชี้ไม่จริง ย้ำกินมากยิ่งเสี่ยงเป็นโรค เหตุเมาไม่รู้เรื่อง ไม่ป้องกันยุงกัด เร่งอบรม อสม. เน้นพื้นที่ยังระบาด ช่วยเฝ้าระวังป้องกัน ดูแลการกินยารักษาในผู้ป่วย สกัดเชื้อดื้อยา
น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สธ. ได้จัดทำยุทธศาสตร์กำจัดโรคมาลาเรีย พ.ศ. 2560 - 2569 ตั้งเป้าภายในปี 2567 ต้องปลอดโรคมาลาเรีย ซึ่ง อสม. ถือว่ามีส่วนมากที่จะช่วยในการลดโรคได้ โดยกรมฯ ได้ร่วมกับกรมควบคุมโรคจัดอบรม อสม. ทั่วประเทศ เน้นใน 220 อำเภอ จำนวน 2,755 หมู่บ้าน ในพื้นที่ 10 จังหวัดที่ยังพบโรคนี้มาก ได้แก่ ตาก ยะลา กาญจนบุรี แม่ฮ่องสอน ศรีสะเกษ นราธิวาส สงขลา สุราษฎร์ธานี สุรินทร์ และ อุบลราชธานี ให้มีส่วนร่วมในการเฝ้าระวัง และส่งเสริมให้ประชาชนมีศักยภาพในการดูแลตนเอง และการป้องกันโรค หากป่วยเป็นโรคมาลาเรียจะต้องได้รับการดูแลให้กินยาตามแพทย์สั่ง คือ ให้ถูกกับชนิดของเชื้อและครบสูตร เพื่อป้องกันปัญหาเชื้อดื้อยา
นพ.ประภาส จิตตาศิรินุวัตร รองอธิบดี สบส. กล่าวว่า อสม. ที่ผ่านการอบรมแล้ว จะทำหน้าที่ในการเฝ้าระวังและป้องกันหลัก ๆ 5 เรื่องใหญ่ ได้แก่ 1. ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจในการป้องกันยุงกัด 2. ชี้แจงและแนะนำประชาชนให้ความร่วมมือเจ้าหน้าฉีดพ่นสารเคมีในบริเวณบ้าน โดยเฉพาะห้องนอนอย่างทั่วถึง 3. เมื่อประชาชนมีอาการสงสัยจะเป็นไข้มาลาเรีย คือ ไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ แต่ไม่มีน้ำมูก ปวดเมื่อยตามตัวและกล้ามเนื้อ ให้แนะนำไปพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษา ห้ามซื้อยากินเอง อาจเสียชีวิตได้ 4. ดูแลติดตามผู้ป่วยมาลาเรียให้กินยาให้ครบตามที่เจ้าหน้าที่แนะนำ และกลับไปตรวจเลือดซ้ำตามนัดทุกครั้ง และ 5. ปฏิบัติตัวเป็นตัวอย่างในการป้องกันโรคมาลาเรีย
“ที่น่าห่วงคือประชาชนบางส่วนมีความเชื่อผิด ๆ ซึ่งอาจทำให้การป้องกันไม่ได้ผลดี เช่น เชื่อว่า การดื่มสุราครั้งละมาก ๆ เป็นประจำ จะทำให้โอกาสป่วยเป็นไข้มาลาเรียน้อยลดน้อยลง โดยให้เหตุผลว่าจากการสังเกตเห็นเพื่อนบ้าน และตัวเขาเองซึ่งเป็นผู้ดื่มสุราจัด ไม่ค่อยป่วยเป็นโรคนี้ ตรงกันข้ามกับคนที่ดื่มเหล้าเล็กน้อยหรือนาน ๆ ครั้ง มักป่วยเป็นมาลาเรียบ่อย ๆ ซึ่งขอชี้แจงว่าวิธีการที่กล่าวมานอกจากใช้ไม่ได้ผลแล้ว เพราะเหล้าไม่มีผลในการป้องกันยุงกัด และคนที่ดื่มเหล้าจะมีความเสี่ยงถูกยุงก้นปล่องกัดจากอาการมึนเมา ขาดการระมัดระวังป้องกันยุงกัด และเผลอหลับได้ตลอดเวลา นอกจากนี้ ประชาชนบางส่วนยังเชื่อว่าไข้มาเรียนเกิดจากการดื่มน้ำในลำธารที่มีไข่ของยุงเข้าไป ซึ่งจะได้ให้ อสม.เน้นหนักการให้ความรู้ สร้างความเข้าใจให้ประชาชนปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง โดยเฉพาะในช่วงเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงการแพร่ระบาดของโรคมาลาเรียต่อไป” รองอธิบดี สบส. กล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่