xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เตรียมขอทุนรัฐ-ประชาสังคม กำจัดโรคมาลาเรีย หลังกองทุนโลกยุติหนุนงบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สธ. เตรียมขอทุนรัฐบาล ภาคประชาสังคม กำจัดโรคมาลาเรียให้ได้ในปี 2567 หลังกองทุนโลกยุติการสนับสนุนงบในปี 2560 หวังเป็นเขตปลอดโรคมาลาเรียในปีอีก 10 ปีข้างหน้า คาด 5 ปี ใช้งบกว่า 2 พันล้านบาท

วันนี้ (14 ม.ค.) นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า สถานการณ์ของผู้ป่วยโรคมาลาเรียของประเทศไทยมีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ปี 2543 จากผู้ป่วยจำนวน 150,000 รายต่อปี หรือร้อยละ 85 เหลือเพียง 24,000 ราย ในปี 2558 โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่พบตามแนวบริเวณชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีการอพยพข้ามพรมแดน และมีการประกอบอาชีพที่ต้องพักค้างคืนในป่า สวนไร่ ซึ่งการควบคุมต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานหลายภาคส่วน ที่น่าห่วงคือ ประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้านในลุ่มแม่น้ำโขง ยังพบปัญหาเชื้อมาลาเรียดื้อต่อยารักษาหลายขนาน ตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ประเทศไทยมีพื้นที่ดื้อยาอนุพันธ์อาร์ติมิซินิน จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ตราด ตาก กาญจนบุรี และ ระนอง ซึ่งกรมฯ ได้ดำเนินการเฝ้าระวังและมีการปรับยารักษาให้เหมาะสมแล้ว

ภาพรวมประเทศไทยประสบผลสำเร็จในการควบคุมโรคไข้มาลาเรียเป็นอย่างมาก โดยปัจจุบันพบอัตราป่วยเพียง 0.37 ต่อประชากรพันราย ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้กระตุ้นให้ประเทศที่มีอัตราป่วยน้อยกว่า 1 ต่อประชากรพันราย ยกระดับนโยบายด้านมาลาเรียจากการควบคุมโรคเป็นการกำจัดโรคไข้มาลาเรีย ซึ่งประเทศไทยนั้น ก็แสดงจุดยืนในเรื่องดังกล่าว โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งจากคณะกรรมการอำนวยการกำจัดมาลาเรียแห่งชาติ มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และคณะกรรมการบริหารกำจัดมาลาเรียแห่งชาติ ซึ่งมีปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน” อธิบดี คร. กล่าว

นพ.อำนวย กล่าวว่า สธ. ได้พัฒนายุทธศาสตร์กำจัดโรคไข้มาลาเรียขึ้น โดยได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคม ยุทธศาสตร์กำจัดโรคมาลาเรียที่มีระยะเวลา 10 ปี ตั้งแต่ปี 2560 - 2569 โดยกำหนดเป้าหมายให้ประเทศไทยปลอดจากโรคไข้มาลาเรียทั้งประเทศภายในปี 2567 และได้รับการรับรองเป็นเขตปลอดโรคไข้มาลาเรียจากองค์การอนามัยโลก ภายในปี 2569 อย่างไรก็ตาม งบประมาณส่วนใหญ่ในการควบคุมโรคมาลาเรียได้รับสนับสนุนจากกองทุนโลก ซึ่งจะสิ้นสุดในปี 2560 หากขาดการสนับสนุนงบประมาณอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลให้โรคมาลาเรียกลับมาระบาดอีกครั้ง ซึ่งจะทำให้รัฐสูญเสียงบประมาณในการควบคุมโรค สธ. จึงได้มีการจัดเตรียมแผนเปลี่ยนถ่ายหลังสิ้นสุดการสนับสนุนจากกองทุนโลก เพื่อขอรับทุนสนับสนุนจากหลายภาคส่วน รวมทั้งงบประมาณจากรัฐบาลด้วย โดยงบประมาณเพื่อกำจัดโรคไข้มาลาเรียในระยะ 5 ปีแรก ปี 2560 - 2564 คาดว่า จะใช้เงินทั้งสิ้น 2,283 ล้านบาท

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น