xs
xsm
sm
md
lg

VCT จะดีงาม ถ้า....

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นิมิตร์  เทียนอุดม
1 กรกฎาคม ของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น “วันรณรงค์ตรวจเอชไอวีแห่งชาติ” หรือ VCCT day (Voluntary Confidentiality Counseling and Testing - บริการให้การปรึกษาเพื่อการตรวจเลือดโดยสมัครใจและเป็นความลับ) โดยนัยยะคือการอยากชวนทุกคนได้ทบทวนความเสี่ยงต่อเอชไอวีของตัวเองในครึ่งปีแรกที่ผ่านมา หากพบว่ามีความเสี่ยง ก็อยากชวนเริ่มตรวจเอชไอวี เพื่อการจัดการชีวิตที่ดีในอีกครึ่งปีหลัง

ที่ว่า การตรวจเอชไอวี จะช่วยในการจัดการชีวิตที่ดีนั้น เนื่องจากการรู้ผลเลือดของตัวเองมีประโยชน์หลายอย่างครับ เช่น ถ้าพบว่าติดเชื้อก็เข้ารับการรักษาก่อนป่วย เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ วางแผนป้องกันกับคู่ได้ และหากตั้งครรภ์ก็จะได้ลดความเสี่ยงในการส่งต่อเชื้อให้ลูกด้วย หรือถ้าตรวจแล้วผลเป็นลบคือไม่ติดเชื้อก็จะได้ทำความเข้าใจกับความเสี่ยงของตัวเองและหาวิธีป้องกันที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตเพื่อทำให้ผลเลือดตัวเองเป็นลบตลอดไป

ปีนี้ หลายหน่วยงานได้ร่วมรณรงค์ในวัน VCCT day เช่น กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายตรวจเลือดเอชไอวี และทราบผลในวันเดียว เพื่อลดจำนวนการไม่กลับมาฟังผลของผู้ที่มาตรวจ คลินิกนิรนาม สภากาชาดไทยให้บริการคลินิกนอกเวลา เพื่อตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี ทุกวันเสาร์ เวลา 7.30 - 15.00 น. และกรุงเทพมหานคร จัดงานรณรงค์ “VCT ดีงาม” ที่ลานเชื่อมบีทีเอส สยามสแควร์วัน เมื่อวันที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยในงานมีบริการตรวจสุขภาพทั่วไป และให้บริการปรึกษาและตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีฟรีด้วย ซึ่งก็เป็นที่น่ายินดีว่า ตลอดงานมีประชาชนเข้ามารับบริการตรวจเอชไอวีกันอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม วันรุ่งขึ้น ก็เกิดการแชร์กระทู้ในพันทิปที่พูดถึงการบอกสถานะการติดเชื้อของคนที่เจ้าของกระทู้รู้จักให้คนอื่น ๆ ทราบ โดยที่เจ้าของกระทู้เองก็เป็นเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลกระทบวงกว้างต่อการตัดสินใจตรวจ/รักษา ของผู้ที่มีความเสี่ยงต่อเอชไอวี

ผลกระทบประการแรก ใครที่อยู่ระหว่างการตัดสินใจว่า กำลังจะไปตรวจหรือไม่ตรวจดี คงลังเลมากขึ้นว่าผลตรวจของตัวเองจะเป็นความลับหรือเปล่า โรงพยาบาลที่จะไปตรวจมีระบบการรักษาความลับของคนไข้มากน้อยแค่ไหน

ผลกระทบประการที่สอง หากตรวจแล้วพบว่าติดเชื้อเอชไอวี จะดำเนินชีวิตต่อไปอย่างไร แม้ว่าการรักษาเอชไอวี/เอดส์ จะก้าวหน้าไปมาก แต่ทัศนคติของคนในสังคมที่ยังไม่เปิดกว้างยอมรับเรื่องการอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อ ทั้ง ๆ ที่ผู้ติดเชื้อก็มีสุขภาพแข็งแรง สามารถทำงานได้ตามปกติ เหมือนคนอื่น ๆ ก็ย่อมทำให้คนจำนวนหนึ่งเลือกที่จะไม่รู้ผลเลือดของตัวเอง

กรณีนี้ ขอเรียกร้องให้ผู้บริหารโรงพยาบาลสอบสวน และต้องชี้แจงต่อประชาชนเพื่อสร้างความมั่นใจว่าระบบการให้บริการเรื่องเอชไอวี/เอดส์ ของหน่วยบริการมีการรักษาความลับที่ดี เชื่อถือได้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนที่เข้ามาใช้บริการว่าเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นความบกพร่องเฉพาะบุคคล

เราจะช่วยกันปรับเปลี่ยนทัศนคติเรื่องเอดส์ของคนในสังคมได้อย่างไร คำถามนี้สำคัญนะครับ เพราะเชื่อว่าหลายคนอาจจะเคยได้พบ ได้สัมผัส และได้อยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี คุณครูท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า เขาเคยกลัวเด็กที่ติดเชื้อเอชไอวีมาก และเขาจำเป็นต้องสอนเด็กคนนั้น แต่เมื่อเวลาผ่านไป เขาได้เรียนรู้ว่า เด็กที่ติดเชื้อเอชไอวีคนนั้นไม่ได้ต่างจากเด็กคนอื่น เขากินยา เขาไม่ป่วย เขาเรียนหนังสือได้ และทุกวันนี้เขาเรียนจบปริญญาตรีมีหน้าที่การงานที่ดี เมื่อคุณครูท่านนั้นถูกตั้งคำถามท้าทายว่า คิดว่าเด็กคนนั้นจะบอกเพื่อนร่วมงานไหมว่าตัวเองติดเชื้อเอชไอวี คุณครูก็อึ้งไปแล้วคาดเดาว่าคงไม่บอก เพราะหากบอก เขาอาจจะตกงาน ชีวิตที่ดำเนินไปอย่างปกติ ก็อาจจะไม่ปกติได้ถ้ามีคนรู้สถานะการติดเชื้อ

สังคมไทยอยู่กับเรื่องเอชไอวี/เอดส์ มาไม่ต่ำกว่า 20 ปีแล้วครับ เราเรียนรู้อะไรกันบ้างจากเวลาที่ผ่านไปนานขนาดนี้

ส่วนผมเรียนรู้ว่า ไม่ว่าเทคโนโลยีการป้องกันและการรักษาเอชไอวี/เอดส์ จะก้าวหน้าไปเพียงใด แต่หากทัศนคติของสังคมที่มีต่อเรื่องนี้ยังอยู่ที่เดิมเหมือนเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน การยุติปัญหาเอดส์ ก็คงเป็นเพียงภาพฝันครับ

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น