xs
xsm
sm
md
lg

ปวดข้อนิ้วมือเรื้อรัง...ระวังเป็นโรครูมาตอยด์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พญ. บุษกร ดาราวรรณกุล
อายุรแพทย์โรคข้อและรูมาติสซั่ม
โรงพยาบาลเวชธานี ลาดพร้าว 111

อาการปวดข้อนิ้วมือเป็นอีกหนึ่งอาการที่พบได้บ่อยไม่แพ้อาการปวดข้อเข่า หรือ ปวดหลัง ซึ่งสาเหตุอาจเกิดขึ้นได้จากหลายอย่าง ทั้งที่เกิดจากความผิดปกติของเนื้อเยื่อรอบ ๆ ข้อ เช่น เอ็นอักเสบ นิ้วล็อก พังผืดกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ หรืออาจเกิดจากความผิดปกติของข้อนิ้วมือเอง ได้แก่ ข้ออักเสบ และข้อนิ้วเสื่อม โรคข้ออักเสบที่เกี่ยวข้องกับบริเวณข้อนิ้วมือมีหลายโรค แต่โรคที่พบได้บ่อยและมีความสำคัญ จำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้อง คือ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เนื่องจากผู้ป่วยโรคนี้มีโอกาสที่ข้อจะถูกทำลาย กระดูกกร่อน และตามมาด้วยข้อผิดรูปหรือพิการได้

โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์เป็นโรคที่พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายในอัตราส่วน 8:1 สามารถพบได้ตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น จนถึงวัยสูงอายุ ปัจจุบันพบว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่เกี่ยวข้อง และทำให้เกิดโรค รวมทั้งกรรมพันธุ์ การติดเชื้อ การสูบบุหรี่ และปัจจัยจากสภาพแวดล้อมบางอย่าง

อาการสำคัญของผู้ป่วย คือ ปวดข้อ และมีข้ออักเสบเรื้อรังที่ต่อเนื่องกันนานเกิน 6 สัปดาห์ โดยเฉพาะที่บริเวณข้อนิ้วมือ และข้อมือ แต่ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอาจจะมีข้ออักเสบได้ทุกข้อทั่วทั้งร่างกาย รวมทั้งข้อไหล่ ข้อศอก ข้อสะโพก ข้อเข่า ข้อเท้า และข้อนิ้วเท้า ข้อที่มีการอักเสบจะมีลักษณะกดเจ็บ บวม แดง อุ่น หรือ ร้อน เมื่อขยับ หรือใช้งานจะมีอาการปวด เวลาตื่นนอนตอนเช้าผู้ป่วยมักจะมีอาการข้อฝืด ตึง แข็ง ขยับได้ลำบาก (morning stiffness) ต้องใช้เวลาสักพักจึงจะขยับข้อได้ดีขึ้น ในผู้ป่วยบางรายอาจจะมีไข้ต่ำ ๆ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร และน้ำหนักลดร่วมด้วยได้ ธรรมชาติของโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์จะมีการทำลายกระดูกอ่อนที่บุผิวข้อ ทำให้ในระยะยาวเกิดการทำลายข้อ กระดูกกร่อน ข้อผิดรูป ส่งผลต่อการใช้งาน หรืออาจก่อให้เกิดความพิการ

นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังอาจมีอาการในระบบอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น ภาวะซีด ตาอักเสบ ปอดอักเสบมีพังผืด เส้นเลือดฝอยอักเสบ หรือภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายถึงชีวิต เช่น หลอดเลือดหัวใจตีบ และกระดูกต้นคอกดทับไขสันหลัง เป็นต้น การวินิจฉัยจำเป็นต้องอาศัยทั้งประวัติ การตรวจร่างกาย การถ่ายภาพรังสี (x-ray) การตรวจเลือดหาค่ารูมาตอยด์ ( rheumatoid factor) และแอนติบอดีที่จำเพาะต่อโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (anti-CCP) ซึ่งหากได้รับการวินิจฉัยแล้วผู้ป่วยจำเป็นจะต้องได้รับการรักษาที่ถูกต้องด้วยการใช้กลุ่มยาต้านโรครูมาติก (disease-modifying antirheumatic drugs ; DMARDs) เพื่อลดการอักเสบของข้อ ช่วยชะลอและป้องกันการทำลายข้อได้ในระยะยาว

เป้าหมายในการรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ในปัจจุบัน คือมุ่งหวังที่จะให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ปวดข้อ ทำงานได้เป็นปกติ และลดโอกาสเกิดข้อพิการ ซึ่งการรักษาจะประสบความสำเร็จได้ถ้าผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยและรักษาที่รวดเร็ว โดยเฉพาะในช่วง 1 ปีแรกที่เริ่มมีอาการ ดังนั้น ถ้าผู้ป่วยเริ่มมีอาการปวดข้อ หรือสังเกตเห็นข้อบวม แดง อุ่น หรือร้อน โดยเฉพาะที่บริเวณข้อนิ้วมือ และข้อมือ หรือมีอาการข้อฝืด ตึง แข็งเวลาตื่นนอนในตอนเช้า ถึงแม้จะเป็นมาไม่นานควรจะรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อให้ได้รับการตรวจวินิจฉัยแลรักษาอย่างถูกต้องต่อไป

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น