• สาวโรงงานทอผ้าระวัง!! ฝุ่นผ้าพาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์มาให้
ใครจะคิดว่าฝุ่นผ้าตามโรงงานที่ลอยไปมาในอากาศ จะเป็นภัยเงียบที่มองไม่เห็น ทำให้เป็นโรครูมาตอยด์ได้
งานวิจัยที่ตีพิมพ์ออนไลน์ในวารสาร Annals of the Rheumatic Diseases พบว่า ฝุ่นผ้าทำให้เสี่ยงต่อโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์เพิ่มเป็นสองเท่า ทั้งยังทำให้ยีนที่มีความเสี่ยงอยู่แล้ว เกิดแอนติบอดีที่เรียกว่า Anti-citrullinated protein antibody ซึ่งบ่งบอกว่าเป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
โดยงานวิจัยนี้ทำการศึกษาในกลุ่มสตรีชาวมาเลเซีย ที่เป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ระยะแรก และกลุ่มที่ไม่ได้เป็นโรค โดยการทำแบบสอบถาม รวมทั้งมีการตรวจเลือดด้วย
ปรากฏว่า จำนวนคนที่เคยได้รับฝุ่นผ้า มีแนวโน้มที่จะเป็นโรครูมาตอยด์มากกว่าคนที่ไม่เคยทำงานเกี่ยวกับผ้าสองเท่า ในกลุ่มคนที่มียีนเสี่ยงอยู่แล้ว ถ้าเคยได้รับฝุ่นผ้า ก็ยิ่งตรวจพบค่า ACPA มากกว่าคนที่ไม่เคยได้รับฝุ่นผ้าถึง 39 เท่า
การศึกษานี้ไม่ได้ตั้งเป้าหาสาเหตุหรือกลไกการกระตุ้นให้เกิดโรค ซึ่งเชื่อว่าขึ้นอยู่กับชนิดของเส้นด้ายและสารเคมีที่ใช้ แต่ในเบื้องต้น สิ่งที่ค้นพบนี้ก็ช่วยให้เกิดการระมัดระวัง ไม่หายใจรับฝุ่นผ้าเข้าปอดโดยเฉพาะผู้ที่มียีนเสี่ยงอยู่แล้ว
• กินยาลดกรดในกระเพาะ แต่อาจได้ไตเรื้อรังเป็นของแถม
จริงอยู่ ยาบางตัวมีพิษต่อไต ทำให้ไตเสียหาย ทำงานลดลง และหากกินเป็นเวลานาน อาจทำให้ไตวายได้ แต่ถ้าเป็นยาลดกรดในกระเพาะอาหาร เห็นจะต้องระวังมากหน่อย เพราะเป็นยาสามัญประจำบ้าน และประจำตัวของคนที่มีแผลในกระเพาะอาหาร หรือเป็นโรคกรดไหลย้อน
จากการศึกษาล่าสุดโดยมหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ สหรัฐอเมริกา ซึ่งตีพิมพ์ใน JAMA Internal Medicine ระบุว่า การกินยาลดกรดในกระเพาะอาหารเป็นประจำ มีส่วนเกี่ยวโยงกับโอกาสที่จะเป็นโรคไตเรื้อรัง คือเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้มากขึ้นเมื่อเทียบกับการไม่กินยานี้
ทีมผู้วิจัยทำการวิเคราะห์ข้อมูลจากกลุ่มศึกษาสองกลุ่ม โดยติดตามผล 6 ปี และ 10 ปี ปรากฏว่า คนกินยาลดกรดเป็นโรคไตเรื้อรังมากกว่าคนไม่กินยานี้
อย่างไรก็ตาม ยังต้องศึกษารายละเอียดต่อไป เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการสาธารณสุขและการระมัดระวังเรื่องการใช้ยายิ่งขึ้น
• ทั้งการคิดและร่างกาย มียีนควบคุมตัวเดียวกัน?
เป็นเรื่องจริงที่ว่า ร่างกายกับจิตใจนั้นเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน งานวิจัยนี้ช่วยยืนยันได้
งานวิจัยของทีมวิจัยนานาชาติ จากประเทศสหรัฐฯ อังกฤษ และเยอรมัน ที่ตีพิมพ์ใน Molecular Psychiatry ว่า สุขภาพกับความสามารถของสมองในการรู้เรียนรู้และจดจำ (cognitive function) ของเรานั้นเกี่ยวข้องกันในระดับพันธุกรรม
การวิจัยเลือกศึกษาลักษณะทางพันธุกรรม และโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมบางโรค เพื่อดูความสัมพันธ์กับความสามารถของสมองในระดับต่างๆ พบว่า คนสมองไม่ค่อยดี มักมีปัญหาสุขภาพ เช่น เป็นโรคอัลไซเมอร์ จิตเภท และออทิซึม (ความผิดปกติในการเจริญของระบบประสาท) คนที่มียีนเสี่ยงต่อโรคเส้นเลือดหัวใจ มักมีความสามารถในการใช้เหตุผลต่ำกว่าทั่วไป หรือถ้าในช่วงต้นของชีวิต มีความสามารถในการเรียนรู้จดจำระดับต่ำ ก็คาดได้ว่า ต่อไปจะเสี่ยงต่อการมีปัญหาด้านจิตใจและร่างกาย แต่บางกรณีผลที่ได้ก็แปลกออกไป เช่น คนที่มียีนของออทิซึม กลับสามารถใช้เหตุผลได้ดีและเรียนจบสูง
การวิจัยจึงได้แค่ข้อสรุปว่ามีความสัมพันธ์กัน แต่รายละเอียดแต่ละประเด็นยังต้องรอการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป
• ผลวิจัยยืนยันภาชนะพลาสติก ไม่ปลอดภัยอย่างที่คิด
สงสัยมานานแล้ว ทีนี้จะได้กระจ่างยิ่งขึ้น ว่าจริงหรือ ภาชนะพลาสติกทั้งหลาย ถ้ามีตัวหนังสือเขียนว่า "BPA-free" หรือ “ปลอดสาร BPA” จะใช้ใส่อาหารร้อนได้ปลอดภัย
ก่อนหน้านี้เคยมีผลการวิจัยมาแล้วว่า สารเคมีบิสฟีนอล เอ (BPA) ที่ใช้สำหรับทำให้พลาสติกแข็งตัว เป็นสารรบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อ และส่งผลต่อร่างกาย คล้ายกับการทำงานของฮอร์โมนเอสโทรเจน จึงมีการเปลี่ยนมาใช้ บิสฟีนอล เอส (BPS) แทน
ล่าสุด แนนซี เวย์น ผู้เชี่ยวชาญด้านต่อมไร้ท่อของระบบสืบพันธุ์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย-ลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา เผยแพร่งานศึกษาเปรียบเทียบผลของสาร BPA กับ BPS ในวารสาร Endocrine ว่า สารเคมีทั้งสองชนิดส่งผลกระทบต่อร่างกายไม่ต่างกัน คือ BPS เป็นตัวเร่งเซลล์สมอง ยีน และอวัยะวะที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตและภาวะเจริญพันธุ์ ทำให้ตัวอ่อนโตเร็ว และรบกวนการทำงานของระบบสืบพันธุ์ เมื่อทดลองให้ปลาอยู่ในน้ำที่มี BPS ปนเปื้อน เพียง 25 ชั่วโมง พบว่า มีเซลล์ประสาทของต่อมไร้ท่อเพิ่มขึ้นถึง 40% แสดงให้เห็นว่า BPS กระตุ้นให้ระบบสืบพันธุ์ทำงานมากขึ้น
ผลการทดลองนี้ อาจช่วยยืนยันได้ว่า พลาสติกที่ใช้กันอย่างสบายใจทุกวันนี้ ไม่ปลอดภัยจริงๆ
• เล็งวิจัยตำรับยา “นวหอย” เพิ่มน้ำในเข่า รักษาเข่าเสื่อม
ยิ่งแก่..สังขารก็ยิ่งเสื่อมไปตามวัย รวมทั้งข้อเข่าที่ผ่านการใช้งานมานานด้วย
นพ.วัฒนะ พันธุ์ม่วง ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาระบบบริการด้านการแพทย์ผสมผสาน กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก บอกว่า โรคข้อเข่าเสื่อมเกิดจากกระดูกอ่อนของเข่าเสื่อมสภาพ และมีการสูญเสียน้ำหล่อเลี้ยงเข่า ที่ป้องกันการสึกของข้อเข่า ทำให้เมื่อมีการเคลื่อนไหวข้อเข่า จึงเกิดการเสียดสีระหว่างกระดูกต้นขาและกระดูกหน้าแข้ง เกิดอาการปวด เมื่อเสียดสีกันมากๆ ทำให้กระดูกกร่อนและผิดรูปได้ มีทั้งแบบแบะออกและโก่งเข้า
เมื่อสูญเสียน้ำหล่อเลี้ยงเข่าไปแล้ว ไม่สามารถสร้างชดเชยได้ แต่ในตำรับแพทย์แผนไทยมียา “นวหอย” ที่ระบุว่า มีสรรพคุณสามารถช่วยรักษาได้ แต่ยังไม่ได้มีการนำมาวิจัยพิสูจน์ทางกระบวนการวิทยาศาสตร์ที่แน่ชัด ว่าสามารถทำได้จริงหรือไม่ แต่ภายใน 2 ปีนี้จะทำการวิจัยให้แน่ชัดถึงสรรพคุณของตำรับยานี้
ตำรับยานวหอย คือ การนำหอย 9 ชนิด ประกอบด้วย หอยขม หอยนางรม หอยแครง หอยจุ๊บแจง หอยสังข์ หอยกาบ หอยมุก หอยตาวัว และหอยพิมการัง มาปรุงเป็นยา ซึ่งมีสรรพคุณช่วยขับลมในลำไส้ ขับนิ่ว ขับปัสสาวะ บำรุงกระดูก เป็นต้น
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 183 มีนาคม 2559 โดย ธาราทิพย์)
ใครจะคิดว่าฝุ่นผ้าตามโรงงานที่ลอยไปมาในอากาศ จะเป็นภัยเงียบที่มองไม่เห็น ทำให้เป็นโรครูมาตอยด์ได้
งานวิจัยที่ตีพิมพ์ออนไลน์ในวารสาร Annals of the Rheumatic Diseases พบว่า ฝุ่นผ้าทำให้เสี่ยงต่อโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์เพิ่มเป็นสองเท่า ทั้งยังทำให้ยีนที่มีความเสี่ยงอยู่แล้ว เกิดแอนติบอดีที่เรียกว่า Anti-citrullinated protein antibody ซึ่งบ่งบอกว่าเป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
โดยงานวิจัยนี้ทำการศึกษาในกลุ่มสตรีชาวมาเลเซีย ที่เป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ระยะแรก และกลุ่มที่ไม่ได้เป็นโรค โดยการทำแบบสอบถาม รวมทั้งมีการตรวจเลือดด้วย
ปรากฏว่า จำนวนคนที่เคยได้รับฝุ่นผ้า มีแนวโน้มที่จะเป็นโรครูมาตอยด์มากกว่าคนที่ไม่เคยทำงานเกี่ยวกับผ้าสองเท่า ในกลุ่มคนที่มียีนเสี่ยงอยู่แล้ว ถ้าเคยได้รับฝุ่นผ้า ก็ยิ่งตรวจพบค่า ACPA มากกว่าคนที่ไม่เคยได้รับฝุ่นผ้าถึง 39 เท่า
การศึกษานี้ไม่ได้ตั้งเป้าหาสาเหตุหรือกลไกการกระตุ้นให้เกิดโรค ซึ่งเชื่อว่าขึ้นอยู่กับชนิดของเส้นด้ายและสารเคมีที่ใช้ แต่ในเบื้องต้น สิ่งที่ค้นพบนี้ก็ช่วยให้เกิดการระมัดระวัง ไม่หายใจรับฝุ่นผ้าเข้าปอดโดยเฉพาะผู้ที่มียีนเสี่ยงอยู่แล้ว
• กินยาลดกรดในกระเพาะ แต่อาจได้ไตเรื้อรังเป็นของแถม
จริงอยู่ ยาบางตัวมีพิษต่อไต ทำให้ไตเสียหาย ทำงานลดลง และหากกินเป็นเวลานาน อาจทำให้ไตวายได้ แต่ถ้าเป็นยาลดกรดในกระเพาะอาหาร เห็นจะต้องระวังมากหน่อย เพราะเป็นยาสามัญประจำบ้าน และประจำตัวของคนที่มีแผลในกระเพาะอาหาร หรือเป็นโรคกรดไหลย้อน
จากการศึกษาล่าสุดโดยมหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ สหรัฐอเมริกา ซึ่งตีพิมพ์ใน JAMA Internal Medicine ระบุว่า การกินยาลดกรดในกระเพาะอาหารเป็นประจำ มีส่วนเกี่ยวโยงกับโอกาสที่จะเป็นโรคไตเรื้อรัง คือเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้มากขึ้นเมื่อเทียบกับการไม่กินยานี้
ทีมผู้วิจัยทำการวิเคราะห์ข้อมูลจากกลุ่มศึกษาสองกลุ่ม โดยติดตามผล 6 ปี และ 10 ปี ปรากฏว่า คนกินยาลดกรดเป็นโรคไตเรื้อรังมากกว่าคนไม่กินยานี้
อย่างไรก็ตาม ยังต้องศึกษารายละเอียดต่อไป เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการสาธารณสุขและการระมัดระวังเรื่องการใช้ยายิ่งขึ้น
• ทั้งการคิดและร่างกาย มียีนควบคุมตัวเดียวกัน?
เป็นเรื่องจริงที่ว่า ร่างกายกับจิตใจนั้นเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน งานวิจัยนี้ช่วยยืนยันได้
งานวิจัยของทีมวิจัยนานาชาติ จากประเทศสหรัฐฯ อังกฤษ และเยอรมัน ที่ตีพิมพ์ใน Molecular Psychiatry ว่า สุขภาพกับความสามารถของสมองในการรู้เรียนรู้และจดจำ (cognitive function) ของเรานั้นเกี่ยวข้องกันในระดับพันธุกรรม
การวิจัยเลือกศึกษาลักษณะทางพันธุกรรม และโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมบางโรค เพื่อดูความสัมพันธ์กับความสามารถของสมองในระดับต่างๆ พบว่า คนสมองไม่ค่อยดี มักมีปัญหาสุขภาพ เช่น เป็นโรคอัลไซเมอร์ จิตเภท และออทิซึม (ความผิดปกติในการเจริญของระบบประสาท) คนที่มียีนเสี่ยงต่อโรคเส้นเลือดหัวใจ มักมีความสามารถในการใช้เหตุผลต่ำกว่าทั่วไป หรือถ้าในช่วงต้นของชีวิต มีความสามารถในการเรียนรู้จดจำระดับต่ำ ก็คาดได้ว่า ต่อไปจะเสี่ยงต่อการมีปัญหาด้านจิตใจและร่างกาย แต่บางกรณีผลที่ได้ก็แปลกออกไป เช่น คนที่มียีนของออทิซึม กลับสามารถใช้เหตุผลได้ดีและเรียนจบสูง
การวิจัยจึงได้แค่ข้อสรุปว่ามีความสัมพันธ์กัน แต่รายละเอียดแต่ละประเด็นยังต้องรอการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป
• ผลวิจัยยืนยันภาชนะพลาสติก ไม่ปลอดภัยอย่างที่คิด
สงสัยมานานแล้ว ทีนี้จะได้กระจ่างยิ่งขึ้น ว่าจริงหรือ ภาชนะพลาสติกทั้งหลาย ถ้ามีตัวหนังสือเขียนว่า "BPA-free" หรือ “ปลอดสาร BPA” จะใช้ใส่อาหารร้อนได้ปลอดภัย
ก่อนหน้านี้เคยมีผลการวิจัยมาแล้วว่า สารเคมีบิสฟีนอล เอ (BPA) ที่ใช้สำหรับทำให้พลาสติกแข็งตัว เป็นสารรบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อ และส่งผลต่อร่างกาย คล้ายกับการทำงานของฮอร์โมนเอสโทรเจน จึงมีการเปลี่ยนมาใช้ บิสฟีนอล เอส (BPS) แทน
ล่าสุด แนนซี เวย์น ผู้เชี่ยวชาญด้านต่อมไร้ท่อของระบบสืบพันธุ์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย-ลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา เผยแพร่งานศึกษาเปรียบเทียบผลของสาร BPA กับ BPS ในวารสาร Endocrine ว่า สารเคมีทั้งสองชนิดส่งผลกระทบต่อร่างกายไม่ต่างกัน คือ BPS เป็นตัวเร่งเซลล์สมอง ยีน และอวัยะวะที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตและภาวะเจริญพันธุ์ ทำให้ตัวอ่อนโตเร็ว และรบกวนการทำงานของระบบสืบพันธุ์ เมื่อทดลองให้ปลาอยู่ในน้ำที่มี BPS ปนเปื้อน เพียง 25 ชั่วโมง พบว่า มีเซลล์ประสาทของต่อมไร้ท่อเพิ่มขึ้นถึง 40% แสดงให้เห็นว่า BPS กระตุ้นให้ระบบสืบพันธุ์ทำงานมากขึ้น
ผลการทดลองนี้ อาจช่วยยืนยันได้ว่า พลาสติกที่ใช้กันอย่างสบายใจทุกวันนี้ ไม่ปลอดภัยจริงๆ
• เล็งวิจัยตำรับยา “นวหอย” เพิ่มน้ำในเข่า รักษาเข่าเสื่อม
ยิ่งแก่..สังขารก็ยิ่งเสื่อมไปตามวัย รวมทั้งข้อเข่าที่ผ่านการใช้งานมานานด้วย
นพ.วัฒนะ พันธุ์ม่วง ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาระบบบริการด้านการแพทย์ผสมผสาน กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก บอกว่า โรคข้อเข่าเสื่อมเกิดจากกระดูกอ่อนของเข่าเสื่อมสภาพ และมีการสูญเสียน้ำหล่อเลี้ยงเข่า ที่ป้องกันการสึกของข้อเข่า ทำให้เมื่อมีการเคลื่อนไหวข้อเข่า จึงเกิดการเสียดสีระหว่างกระดูกต้นขาและกระดูกหน้าแข้ง เกิดอาการปวด เมื่อเสียดสีกันมากๆ ทำให้กระดูกกร่อนและผิดรูปได้ มีทั้งแบบแบะออกและโก่งเข้า
เมื่อสูญเสียน้ำหล่อเลี้ยงเข่าไปแล้ว ไม่สามารถสร้างชดเชยได้ แต่ในตำรับแพทย์แผนไทยมียา “นวหอย” ที่ระบุว่า มีสรรพคุณสามารถช่วยรักษาได้ แต่ยังไม่ได้มีการนำมาวิจัยพิสูจน์ทางกระบวนการวิทยาศาสตร์ที่แน่ชัด ว่าสามารถทำได้จริงหรือไม่ แต่ภายใน 2 ปีนี้จะทำการวิจัยให้แน่ชัดถึงสรรพคุณของตำรับยานี้
ตำรับยานวหอย คือ การนำหอย 9 ชนิด ประกอบด้วย หอยขม หอยนางรม หอยแครง หอยจุ๊บแจง หอยสังข์ หอยกาบ หอยมุก หอยตาวัว และหอยพิมการัง มาปรุงเป็นยา ซึ่งมีสรรพคุณช่วยขับลมในลำไส้ ขับนิ่ว ขับปัสสาวะ บำรุงกระดูก เป็นต้น
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 183 มีนาคม 2559 โดย ธาราทิพย์)