เอเอฟพี - องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้ไทยเป็นชาติแรกในเอเชียที่สามารถยับยั้งการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกได้สำเร็จ ซึ่งนับเป็นพัฒนาการก้าวสำคัญในการต่อสู้กับโรคร้ายชนิดนี้
ประกาศของ WHO ในวันนี้ (8) ได้ยกย่องความสำเร็จที่โดดเด่นของบุคลากรทางการแพทย์ของไทย ซึ่งสามารถเปลี่ยนสังคมที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีรุนแรงที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย ให้กลายเป็นแบบอย่างของการแก้ไขวิกฤตสาธารณสุขด้านนี้อย่างได้ผล
WHO ระบุว่า ไทยซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่เชื้อเอชไอวีระบาดหนัก ถือเป็นชาติแรกที่ “สามารถยับยั้งการแพร่เชื้อไปสู่ประชากรอีกรุ่นหนึ่ง”
เบลารุสและอาร์เมเนียก็ได้รับการประกาศว่าบรรลุเงื่อนไขทั้งหมดของ WHO ในการยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก แต่ทั้งสองประเทศมีอัตราการแพร่ระบาดน้อยกว่าไทย
คิวบาเป็นอีกประเทศหนึ่งที่สามารถยุติการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก โดยได้รับการประกาศรับรองจาก WHO เมื่อเดือน ก.ค. ปี 2015
องค์การอนามัยโลกชี้ว่า การที่ไทยได้ตรวจคัดกรอง และให้การรักษาพยาบาลฟรีถ้วนหน้าแก่หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอชไอวี ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยยับยั้งไม่ให้ไวรัสถูกถ่ายทอดไปสู่ประชากรรุ่นใหม่ๆ
ทั้งนี้ หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง มารดาที่ติดเชื้อเอชไอวีมีโอกาสประมาณ 14-15% ที่จะส่งต่อเชื้อร้ายไปยังบุตร ระหว่างการตั้งครรภ์ การคลอด หรือการให้นม
การได้รับยาต้านเอชไอวี (antiretroviral drugs) ขณะตั้งครรภ์ช่วยลดโอกาสที่เชื้อจะแพร่สู่ทารกในครรภ์มารดาให้เหลือเพียง 1% เศษๆ
เมื่อปี 2000 ไทยถือเป็นประเทศแรกๆ ในโลกที่จ่ายยาต้านเอชไอวีให้แก่หญิงตั้งครรภ์ทุกคนที่ติดเชื้อโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ยังมีการตรวจหาเชื้อเอชไอวีระหว่างการตั้งครรภ์อย่างสม่ำเสมอ แม้ในพื้นที่ชนบทห่างไกลที่สุดก็ตาม
จากสถิติของรัฐบาลพบว่า จำนวนทารกที่ติดเชื้อเอชไอวีตั้งแต่แรกคลอดลดลงจาก 1,000 คนในปี 2000 เหลือเพียง 85 คนในปีที่แล้ว ซึ่งเข้าเกณฑ์ที่ WHO จะประกาศว่าการแพร่เชื้อจากแม่สู่ลูกได้ยุติลงแล้ว
ทั้งนี้ WHO ได้พิจารณากรณีส่วนน้อยร่วมด้วย เนื่องจากการให้ยาต้านเอชไอวีไม่ได้มีผลป้องกันได้ 100%
ความสำเร็จครั้งนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของไทย ซึ่งในอดีตเคยพบผู้ติดเชื้อเอชไอวีมากถึง 100,000 คนในปี 1990 ก่อนจะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านคนเศษในอีก 3 ปีถัดมา โดยสาเหตุสำคัญเกิดจากความเฟื่องฟูของธุรกิจค้าประเวณี
โครงการแจกจ่ายถุงยางอนามัยฟรีในช่วงทศวรรษ 1990 และการที่ผู้ติดเชื้อสามารถเข้าถึงยาต้านเอชไอวีได้อย่างทั่วถึงตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา ช่วยให้การแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีลดลงอย่างมาก และทำให้ไทยได้รับเสียงชื่นชมจากนานาชาติ
อย่างไรก็ตาม องค์การสหประชาชาติ (UN) ประเมินว่า ไทยยังมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีอีกประมาณ 500,000 คนในปัจจุบัน และอัตราการแพร่ระบาดก็เพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วงไม่กี่ปีมานี้ โดยเฉพาะในกลุ่มชายรักชาย
นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า “ความสำเร็จของประเทศไทยในการบรรลุเป้าหมายขององค์การอนามัยโลก ในการยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีและซิฟิลิสจากแม่สู่ลูก นับเป็นความสำเร็จของทุกคน ทุกองค์กร และหน่วยงานภาคี ประโยชน์ที่เกิดขึ้นไม่ได้มีผลเฉพาะกับกลุ่มเป้าหมายชาวไทยเท่านั้น แต่กับแม่และเด็กทุกคนที่อยู่ในแผ่นดินไทย ทุกคนมีสิทธิได้รับการบริการอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ดี เรายังคงมีความท้าทายอยู่คือ จะทำอย่างไรให้ความสำเร็จในวันนี้ยั่งยืนต่อไป และปัจจัยที่จะนำเราไปถึงจุดนั้นได้ คือความเป็นผู้นำ การจัดการที่มีประสิทธิภาพ ความร่วมมือของทุกภาคส่วน และนโยบายรัฐบาลที่เข็มแข็ง”
ในแต่ละปี จะมีผู้หญิงที่ติดเชื้อเอชไอวีตั้งครรภ์ประมาณ 1.4 ล้านคน
สถิติทารกที่เกิดมาพร้อมกับเชื้อเอชไอวี 400,000 คนในปี 2009 ลดลงมาเหลือเพียง 240,000 คนในปี 2013