xs
xsm
sm
md
lg

อึ้ง! ไทยป่วย “ซิฟิลิส” มากขึ้น หวั่นเชื้อแฝงทำอาการรุนแรง ด้าน “ชายรักชาย” ตรวจเลือดเพิ่ม ใช้ถุงยางต่ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กลุ่มชายรักชายตรวจเลือดเพิ่ม แต่การใช้ถุงยางยังต่ำ เร่งเพิ่มการใช้ถุงยางเพื่อความปลอดภัย ห่วง “ซิฟิลิส” พบป่วยมากขึ้น จ่อกระตุ้น รพ. เก็บข้อมูล หวังจำแนกรายกลุ่ม ระวังเชื้อซิฟิลิสแฝงหลังพ้นอาการเฉียบพลัน ทำโรครุนแรงขึ้น

นพ.สุเมธ องค์วรรณดี ผู้อำนวยการสำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติอต่อทางเพศสัมพันธ์ กล่าวว่า แม้ภาพรวมสถานการณ์การติดเชื้อเอชไอวีจะมีแนวโน้มลดลง มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ในปี 2558 ประมาณ 7,324 คน และผู้ติดเชื้อที่ยังมีชีวิตอยู่ราว 426,707 คน แต่พบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ ในกลุ่ม “ชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย” มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วง 6 - 7 ปีที่ผ่านมา แต่จากการรณรงค์อย่างต่อเนื่องในกลุ่มนี้พบความเปลี่ยนแปลงในเชิงการป้องกัน โดยมีการเข้ารับการตรวจเลือดเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 15 เป็น 1 ใน 3 ส่วนอัตราการใช้ถุงยางอนามัย ครั้งสุดท้ายในรอบ 6 เดือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่การใช้ถุงยางอนามัยเป็นประจำถือว่ายังอยู่ในอัตราต่ำเพียงร้อยละ 50 ซึ่งยังต้องกระตุ้นเพื่อเพิ่มอัตราการใช้ถุงยางอนามัย

นพ.สุเมธ กล่าวว่า สำหรับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ยังพบอยู่ อย่างโรคซิฟิลิส หนองใน กามโรค นั้น พบว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ การติดโรคในกลุ่มอายุ 15 - 20 ปี ในสัดส่วนมากที่สุด ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในกลุ่มนี้ เช่น โรคซิฟิลิส มีแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของการติดเชื้ออย่างเห็นได้ชัด จากเดิมที่การติดเชื้อลดต่ำมาเป็นเวลาหลายปี อย่างไรก็ตาม ในการเก็บข้อมูลยังต้องกระตุ้นให้โรงพยาบาลเก็บข้อมูลพฤติกรรมทางเพศ เพื่อจำแนกกลุ่มว่าเป็นการติดเชื้อในกลุ่มใดเพื่อให้ข้อมูลมีความครบถ้วน

“ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีประวัติป่วยด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อาจต้องระวังการติดเชื้อเอชไอวีมากขึ้น เช่น กามโรค จะทำให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อ ทำให้เกิดโอกาสรับเชื้อเอชไอวีได้ง่ายขึ้น สำหรับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ เช่น ซิฟิลิส การรักษาในปัจจุบันมีประสิทธิภาพ ฉีดยาเพียง 1 เข็มก็หายได้หากพบในระยะเริ่มต้น แต่พบว่าผู้ป่วยที่ผ่านระยะเฉียบพลันไปแล้ว เมื่อไม่แสดงอาการก็ไม่สนใจที่จะพบแพทย์ ทำให้เชื้อยังแฝงอยู่ในตัวเอง และจะกลับมาพบแพทย์อีกครั้งเมื่ออาการเข้าสู่ระยะที่ 2 หรือ 3 ที่ทำให้เกิดอาการ เช่น ผมร่วง มีอาการที่ผิวหนัง ซึ่งหากรุนแรงมากจะเกิดโรคที่หลอดเลือดหัวใจ หรือ สมองได้ แต่ไม่พบอาการรุนแรงในประเทศไทย” นพ.สุเมธ กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น