ช่วง 2 - 3 เดือนที่ผ่านมา ผมและทีมได้ไปทำกระบวนอบรมเรื่องเอชไอวี/เอดส์ ให้กับเยาวชนในกรุงเทพมหานคร ตามโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ในกรุงเทพมหานคร น่าประหลาดใจอย่างยิ่งว่า ความรู้ความเข้าใจของเยาวชนที่มีต่อเรื่องเอชไอวี/เอดส์ในยุคนี้นั้น ไม่ต่างจากเมื่อ 30 ปีก่อน เช่น เอดส์เป็นแล้วตาย ยุงกัดติดเอดส์ หายใจรดกันติดเอดส์ ฯลฯ
ในขณะที่การรักษาเอชไอวี/เอดส์ ไปไกลมาก มีการใช้ยาต้านไวรัสเพื่อควบคุมเชื้อเอชไอวี ทำให้ไม่ป่วย ไม่ตาย ผู้ติดเชื้อสามารถแต่งงาน มีครอบครัว มีลูกได้ ทั้งยังแข็งแรง สามารถเรียน ทำงานและใช้ชีวิตได้ตามปกติ
ผมเฝ้าถามตัวเองว่า...เกิดอะไรขึ้นกับการทำงานเอดส์ที่ผ่านมา???
เราพัฒนาเทคโนโลยี พัฒนาเครื่องไม้เครื่องมือ ทางการแพทย์ไปจนถึงการผลักดันระบบการรักษาให้ครอบคลุมประชาชนทุกคน จนพูดได้อย่างเต็มปากว่า ประเทศเรามีระบบการรักษาเอชไอวี/เอดส์ ที่ดีที่สุดในอาเซียน
แต่...เรายังมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ปีละ 10,000 กว่าราย
มีคนที่ติดเชื้อแล้วกว่า 250,000 ราย ที่ไม่เข้าสู่ระบบการรักษา
มีการร้องเรียนทุกเปิดเทอมว่า เด็กไม่ได้เข้าเรียน เพราะถูกครู/โรงเรียนปฏิเสธอันเนื่องมาจากติดเชื้อเอชไอวี และมีการร้องเรียนเกือบจะทุกวันว่า โรงงานแอบตรวจเลือด บริษัทไม่รับเข้าทำงานเพราะติดเชื้อเอชไอวี
สถานการณ์ปัญหาเหล่านี้ ไม่ใช่เพราะเราขาดข้อมูล เรารู้ว่าถุงยางป้องกันได้ แต่เพราะทัศนคติบางอย่างทำให้เราใช้ถุงยางไม่ได้ เช่น ถุงยางมีไว้ป้องกันโรค แฟนเราไม่ได้เป็นโรค ไว้ใจกันก็เลยไม่ใช้
เรารู้ว่า เอดส์รักษาได้ แต่เราไม่กล้าเดินเข้าสู่ระบบการรักษาเพราะกลัวคนรู้ว่าเราติดเชื้อเอชไอวี และจะเกิดการรังเกียจกีดกัน จนเราอยู่ในชุมชนเดิมไม่ได้
เรารู้ว่า เอชไอวีไม่ติดต่อจากการอยู่ร่วมกัน แต่เรายังกลัวที่จะอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อ กลัวที่จะต้องสอนลูกศิษย์ที่ติดเชื้อเอชไอวี
ผมไม่รู้ว่า เราจะใช้เวลาอีกนานเท่าไรกว่าที่ความคิด ความรู้สึก ทัศนคติที่สังคมเรามีต่อเรื่องเอชไอวี/เอดส์จะเปลี่ยนไป
เมจิก จอห์นสัน นักบาสเกตบอลเอ็นบีเอของสหรัฐอเมริกา ผู้โด่งดังระดับโลก ประกาศตัวว่าเขาเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน ปัจจุบันเขายังมีชีวิตอยู่ สุขภาพร่างกายแข็งแรงดี และผันตัวเองมาเป็นผู้ฝึกสอน
ในเวทีการประชุมเรื่องเอดส์ระดับโลกครั้งหนึ่ง เด็ก ๆ ที่ติดเชื้อเอชไอวี ประกาศบนเวทีว่า พวกเราเป็นเด็กที่อยู่ร่วมกับเอชไอวีมาตั้งแต่เกิด พวกเขาจะใช้ชีวิตปกติ ไม่รอ ไม่ขอโอกาสจากสังคม เพราะพวกเขาเป็นคน ๆ หนึ่งของสังคมเช่นเดียวกับคนอื่น ๆ
งานวิจัยชิ้นหนึ่งของศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทยได้ติดตามเด็ก 2 กลุ่มที่มีเพศและวัยใกล้เคียงกัน กลุ่มหนึ่งมีเชื้อเอชไอวีตั้งแต่แรกเกิด กับอีกกลุ่มหนึ่งไม่มีเชื้อเอชไอวี ผลการติดตามพบประเด็นที่น่าสนใจว่า กลุ่มที่ไม่มีเชื้อเอชไอวีมีคู่มากกว่าและไม่ได้ใช้ถุงยางมากกว่ากลุ่มที่มีเชื้อ สะท้อนให้เห็นว่า กลุ่มที่รู้ว่าตัวเองติดเชื้อจะมีความตระหนักและใช้ถุงยางอนามัยมากกว่า เพราะพวกเขารู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากเขาไม่ป้องกัน
สามตัวอย่างข้างต้น ผมหยิบยกมาเพียงเพื่อจะบอกว่า จริง ๆ แล้วเราก็อยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อเอชไอวีอยู่ทุกวัน เพราะเราไม่มีทางดูออกจากภายนอกว่าใครมีหรือไม่มีเชื้อ ไม่มีประโยชน์ที่จะรู้ผลเลือดคนอื่นเท่าการรู้ผลเลือดของตัวเราเอง เพราะการป้องกันจะเกิดขึ้นได้ไม่ใช่เพราะเรารู้ว่าคนนั้น คนนี้ติดเชื้อ แต่เกิดขึ้นเพราะเรารู้ว่าเรา “มี” หรือ “ไม่มี” เชื้อ ต่างหาก
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่