กรมควบคุมโรคเปิด 2 โครงการ รับอาสาสมัครชายรักชาย - สาวประเภทสอง 8,000 คน เข้าโครงการ ตรวจหาเชื้อเอชไอวีพร้อมรักษาฟรี สกัดป่วย - แพร่กระจายเชื้อ ส่วนกลุ่มไม่พบเชื้อชวนเข้าโครงการรับยาต้านฯก่อนการป่วย 600 คน
วันนี้ (4 มิ.ย.) นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) แถลงข่าวเปิดตัว “โครงการตรวจรักษาและป้องกันเอชไอวี” ว่า ในปี 2557 คาดว่า มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั่วประเทศ 426,707 คน และมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 7,324 คน จำนวนนี้พบว่าร้อยละ 46.7 เป็นกลุ่มชายรักชายและสาวประเภทสอง ซึ่งมีอัตราติดเชื้อสูงกว่ากลุ่มอื่น โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ เช่น กทม. พบมากร้อยละ 19.8 และมีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่เคยตรวจหาการติดเชื้อและรู้ผล ส่วนอีก 2 ใน 3 ไม่เคยตรวจ จึงเป็นปัญหาว่าอาจถ่ายทอดเชื้อให้คู่นอนได้ สิ่งสำคัญต้องเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจให้คนกลุ่มนี้มาตรวจเลือด เพื่อจะได้ทราบว่ามีเชื้อหรือไม่ หากมีเชื้อจะได้รับการรักษาทันที เนื่องจากที่ผ่านมามีงานวิจัย ว่า หากรู้เร็ว รักษาด้วยยาต้านไวรัสเร็ว ยาจะไปช่วยกดเชื้อเอชไอวีไม่ให้กระจาย หรือแพร่ไปยังผู้อื่นได้ คร. จึงจัดโครงการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการดูแลผู้ติดเชื้อ 2 โครงการ ในกลุ่มกลุ่มชายรักชายและสาวประเภทสอง คือ 1. โครงการเทสต์แอนด์ทรีต (Test and Treat ) และ 2. โครงการประเมินการกินยาต้านไวรัส เพื่อป้องกันการติดเชื้อ เรียกว่า เพร็พ (PreP)
ศ.กิตติคุณ นพ.ประพันธ์ ภานุภาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า โครงการเทสต์แอนด์ทรีตเป็นความร่วมมือระหว่าง คร. และ ภาคีเครือข่าย ใช้กลุ่มเพื่อนชวนเพื่อมาตรวจหาเชื้อเอชไอวีในชุมชนและสถานบริการสาธารณสุข หากพบเชื้อจะได้รับยาต้านไวรัสเพื่อรักษา ซึ่งการรับประทานยาต่อเนื่อง 6 เดือน จะตรวจไม่พบเชื้อเอชไอวี จึงเป็นการป้องกันการป่วยจากโรคฉวยโอกาส และป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไปยังบุคคลอื่น หากไม่พบเชื้อหรือผลเป็นลบก็จะติดตามให้มาตรวจซ้ำทุก 6 เดือน เพราะมีข้อมูลว่ากลุ่มเสี่ยงที่ตรวจไม่เจอเชื้อไวรัสเอชไอวีประมาณ 7 - 9% จะพบว่าติดเชื้อภายใน 1 ปี เบื้องต้นโครงการนี้ศึกษาในชุมชนและสถานบริการ 7 จังหวัดใหญ่ ประกอบด้วย กทม. ปทุมธานี ชลบุรี อุดรธานี ขอนแก่น เชียงใหม่ และ สงขลา รับอาสาสมัครจำนวน 8,000 คน เมื่อหลังจบการศึกษาแล้วจะได้กำหนดเป็นนโยบายในการขยายการให้บริการตรวจเชื้อเอชไอวีและรับยาต้านไวรัสต่อไป
ศ.กิตติคุณ นพ.ประพันธ์ กล่าวว่า สำหรับโครงการเพร็พ จะศึกษาในกลุ่มอาสาสมัครโครงการเทสต์แอนด์ทรีตที่มีผลตรวจเป็นลบ จำนวน 600 คน ใน กทม. ปทุมธานี และ ชลบุรี เพื่อศึกษาการตัดสินใจในการกินยาเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ อัตราการติดเชื้อเอชไอวีในคนที่กินยาป้องกัน และผลข้างเคียงจากยา ซึ่งทั้ง 2 โครงการจะใช้ระยะเวลา 3 ปี โดยเปิดรับสมัครอาสาสมัครไปตั้งแต่ พ.ค.ที่ผ่านมาและจะเปิดไปจนถึง พ.ค.2559 และดำเนินการศึกษาประมาณ 2 ปี จากนั้นจะสรุปผลการศึกษาประมาณ 6 เดือน
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่