นิมิตร์ เทียนอุดม
1663 สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม ให้บริการปรึกษาเรื่องเอชไอวี/เอดส์และเรื่องท้องไม่ พร้อมทุกวันเวลา 9.00 -21.00 น. และมีเฟซบุ๊กแฟนเพจเเป็นอีกหนึ่งช่องทางให้การปรึกษา ซึ่งมีปรากฏการณ์หลายอย่างที่น่าสนใจอยากนำมาเล่าสู่กันฟังครับ
ปรากฏการณ์แรก คือ เพจที่รับปรึกษาเรื่องท้องไม่พร้อม มีผู้หญิงมาขอรับคำปรึกษามากกว่าผู้ชาย คิดเป็นสัดส่วน 9 ใน 10 คน หากมองผ่าน ๆ จะเห็นว่าเป็นเรื่องปกติเพราะผู้หญิงเป็นคนอุ้มท้องก็น่าจะต้องเป็นคนเข้ามาขอรับการปรึกษา แต่ถ้ามองให้ลึกลงไป ปัญหาท้องไม่พร้อมไม่ใช่เป็นปัญหาของผู้หญิงแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่เป็นปัญหา “ความรับผิดชอบร่วม” ของทั้งชายและหญิงเพียงแต่ฝ่ายหญิงเป็นผู้ได้รับผลกระทบมากกว่าเท่านั้น จึงต้องดิ้นรนหาทางจัดการปัญหา แต่ปรากฏการณ์นี้บอกคนทำงานว่า การมุ่งทำงานกับฝ่ายหญิง เช่น โครงการตบมือข้างเดียว อดเปรี้ยวไว้กินหวาน บริการการคุมกำเนิดเพื่อให้ผู้รับบริการสามารถเข้าถึงบริการได้ง่ายนั้นไม่พอ แต่จะต้องทำงานเพิ่มกับฝ่ายชายในเชิงทัศนคติ ทั้งเรื่องการป้องกันโดยการใช้ถุงยางอนามัยและปลูกฝังความรับผิดชอบร่วมกันเมื่อเกิดปัญหา
ปรากฏการณ์ที่สอง พบว่า คนที่เข้ามาปรึกษาเรื่องท้องไม่พร้อมนั้น กังวลเรื่องท้องจนลืมนึกถึงเรื่องอื่น ๆ ที่อาจจะตามมา เช่น เรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์โดยเฉพาะเอชไอวี/เอดส์ ซึ่งแน่นอนว่า คนเราย่อมต้องกังวลกับปัญหาที่กำลังประสบอยู่มากกว่าที่จะกังวลเรื่องที่ยังมาไม่ถึง อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์นี้ก็บอกเราว่า คนทำงานให้บริการปรึกษาจะต้องเชื่อมโยงสองเรื่องนี้ให้ผู้รับบริการเห็นความสำคัญ เพราะหากผู้รับบริการปรึกษาเห็นรากของปัญหา ว่า ทั้งเรื่องท้องไม่พร้อมและเรื่องเอชไอวี/เอดส์ เกิดจากการไม่ใช้ถุงยางเหมือนกัน ก็จะทำให้ผู้รับบริการเข้าสู่กระบวนการตรวจรักษาได้เร็วขึ้น ซึ่งเท่ากับเป็นการลดโอกาสป่วย ลดโอกาสการเสียชีวิต
ปรากฏการณ์สุดท้าย พบว่า ผู้รับบริการปรึกษาเรื่องท้องไม่พร้อม กว่าร้อยละ 90 เลือกที่จะยุติการตั้งครรภ์ด้วยเหตุผลหลัก คือ ยังเรียนหนังสือ ปรากฏการณ์นี้อาจบอกอะไรคนทำงานได้หลายอย่าง แต่ที่แน่ ๆ คือ สะท้อนสภาพสังคมในโรงเรียนและสถานศึกษาที่ไม่เอื้ออำนวยให้เด็กท้องได้เรียนต่อ ประการนี้จะไม่ว่ากันด้วยเรื่องกฎหมาย เพราะถึงแม้จะมีกฎหมายและกฎกระทรวงที่อนุญาตให้เด็กท้องได้เรียนต่อ แต่สุดท้ายครูก็จะบอกว่า “เด็กแพ้ภัยตัวเอง” ซึ่งหมายถึงเด็กอายเพื่อน อายครู จนไม่สามารถเรียนต่อที่เดิมได้ ทั้งที่หากมองอีกด้านเราอาจจะพบว่าเด็กไม่ได้แพ้ภัยตัวเอง แต่แพ้ภัยสังคมในโรงเรียนที่ไม่เอื้อให้เด็กท้องคนหนึ่งได้เรียนต่ออย่างมีศักดิ์ศรี ซึ่งเรื่องนี้อาจจะเป็นงานยากอีกงานหนึ่งที่คนทำงานต้องช่วยกัน เพราะเรื่องคุมไม่ให้ท้อง หรือบริการยุติการตั้งครรภ์อาจจะดูเป็นเรื่องง่ายไปเลยเมื่อเทียบกับการที่จะช่วยให้เด็กคนหนึ่งที่พร้อมจะท้องต่อและต้องการเรียนในโรงเรียนเดิม สามารถท้องต่ออย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีและเรียนต่อได้อย่างมีศักดิ์ศรี เช่นเดียวกับเรื่องเอดส์ เราพบว่า เด็กหลายคนที่ได้รับผลกระทบจากเอชไอวี/เอดส์ ยังไม่สามารถเข้าเรียนหรือเรียนได้อย่างมีศักดิ์เท่าเทียมกับเด็กคนอื่น ๆ เพราะทัศนคติที่คนมีต่อเรื่องเอชไอวี/เอดส์ ยังคงเป็นทัศนะเชิงลบ
ก่อนจะจากลากันสัปดาห์นี้ มีตัวเลขจากหน่วยงานทางการศึกษามาเล่าสู่กันฟัง โดยสำนักงานส่งเสริม สังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชน หรือ สสค. ได้ทำการสำรวจเด็กที่เข้าสู่ระบบการศึกษา พบว่า แต่ละปีจะมีเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษาราว 80,000 คน และพบว่า ร้อยละ 13 ไม่จบมัธยมศึกษาตอนต้น ร้อยละ 30 จบเพียงมัธยมศึกษาตอนต้น ร้อยละ 21 จบเพียงมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือ ปวช. มีเพียงร้อยละ 36 ที่ได้เรียนต่ออุดมศึกษา
ทั้งนี้ ร้อยละ 25 ในกลุ่มที่เรียนต่อในระดับอุดมศึกษา ออกก่อนจบอุดมศึกษา และในกลุ่มที่เรียนต่ออุดมศึกษามีเพียง 1 คน หรือร้อยละ 25 ที่เรียนจบและได้งานทำปีแรก โดยพบว่าสาเหตุของการออกจากโรงเรียนกลางคันสามลำดับแรก คือ ปัญหาฐานะยากจน ปัญหาครอบครัว อพยพตามครอบครัว หาเลี้ยงครอบครัว และปัญหาการตั้งครรภ์
ดู ๆ ไปเรื่องท้องไม่พร้อมนี่บอกอะไรเรามากกว่าปัญหาอนามัยเจริญพันธุ์นะครับ คุณว่าไหม?
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่