เปิดเออีซีระวัง “โรคผิวหนัง” หวนระบาดจากกลุ่มแรงงานต่างด้าว พบ “พม่า” เสี่ยงสุด ป่วยโรคเรื้อนปีละกว่า 3,000 ราย พ่วงโรค “ซิฟิลิส หนองใน หนองในเทียม” เจอปีละกว่า 1,000 ราย เตือนนายจ้างตรวจเข้มก่อนจ้างงาน พร้อมเฝ้าระวัง “เท้าช้าง - ลิซมาเนีย”
วันนี้ (25 มี.ค.) รศ.นพ.นภดล นพคุณ นายกสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวในงานแถลงข่าว “AEC: โรคผิวหนังไร้พรมแดน” ว่า การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ทำให้เกิดพฤติกรรมการโยกย้ายถิ่นฐานในการเข้าทำงาน การท่องเที่ยว หรือการเดินทางเข้ามายังประเทศไทย ปัญหาโรคผิวหนังต่าง ๆ ที่เคยพบและหายไปจากประเทศไทย เช่น โรคเรื้อน โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ต่าง ๆ โรคเท้าช้าง โรคลิซมาเนีย อาจจะพบได้ง่ายขึ้น จึงจำเป็นที่ต้องมีการเฝ้าระวังเป็นพิเศษ
นพ.กฤษฎา มโหทาน นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า แม้ประเทศไทยจะควบคุมโรคเรื้อนได้เป็นอย่างดี มีจำนวนลดน้อยลงเรื่อย โดยปี 2558 พบผู้ป่วยรายใหม่ 187 ราย ที่ยังเป็นปัญหา คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และจังหวัดชายแดนใต้ เนื่องจากปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ ทำให้กระทบการเข้าถึงบริการ แต่ที่น่ากังวลคือการเปิดเออีซีอาจทำให้โรคเรื้อนพบมากขึ้นอีก เนื่องจากกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านมีการป่วยด้วยโรคนี้จำนวนมาก โดยเฉพาะ พม่า ซึ่งพบปีละกว่า 3,000 ราย หรือมาเลเซีย ที่เดิมทีมีผู้ป่วยน้อยกว่าประเทศไทย แต่กลับมีแนวโน้มพบมากขึ้นเป็นกว่า 300 รายแล้ว โดยในกลุ่มแรงงานต่างด้าวถูกกฎหมายที่เข้ามาทำงานในไทยตั้งแต่ปี 2554 - 2558 นั้น พบว่า มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ที่พบมากสุดคือพม่า รวมแล้ว 149 ราย ซึ่งพื้นที่ที่มีแรงงานพม่าจำนวนมากคือบริเวณภาคเหนือตามตะเข็บชายแดน ภาคใต้ตอนบน รวมไปถึงปัตตานีและสงขลา ซึ่งมีคนงานพม่าทำแรงงานประมง ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคเรื้อน คือ ความแออัดและการอยู่ร่วมกันเป็นเวลานาน ที่ต้องเฝ้าระวัง คือ กลุ่มแรงงานที่เข้ามาผิดกฎหมาย ทำให้เข้าไม่ถึงบริการสาธารณสุข ในการตรวจคัดกรองโรคเรื้อน นอกจากนี้ ยังมีข้อจำกัด คือ บุคลากรทางการแพทย์มักนึกไม่ถึงโรคเรื้อน ขาดทักษะในการวินิจฉัย ขณะที่การตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการที่ง่ายและสะดวกยังไม่มี
“อาการเริ่มต้นของโรคเรื้อน คือ ระยะเริ่มต้น จะมีผิวหนังเป็นด่าง มักมีอาการชา แต่ไม่คัน แต่หากเป็นมากๆ อาจเป็นตุ่มนูนแดงที่หน้า ตามตัว หูหนาขึ้น และไม่คัน ดังนั้น ขอแนะนำว่า หากประชาชนเป็นโรคผิวหนังเกิน 3 เดือน ใช้ยาทา หรือยากินแล้วไม่หาย ไม่มีอาการคัน ขอให้สงสัยเป็นโรคเรื้อน อาจต้องบอกแพทย์และพยาบาลให้ตรวจโรคนี้ด้วย เพราะอาจนึกไม่ถึง ส่วนประชาชนที่เป็นเจ้าของกิจการ หากมีผู้ป่วยโรคเรื้อนเป็นลูกจ้างให้ส่งมารักษา อย่าไล่ออกจากงาน เพราะโรคนี้รักษาได้ กินยา 3 - 5 วันก็จะไม่เกิดการแพร่เชื้อ ซึ่งตรงนี้สำคัญมาก เพราะแรงงานต่างด้าวเขารู้ว่าเป็นแต่ไม่ยอมมาตรวจ เพราะกลัวถูกส่งกลับประเทศ ทั้งที่ความจริงแล้วรักษาหายก็สามารถกลับมาทำงานต่อได้” นพ.กฤษฎา กล่าวและว่า การติดโรคเรื้อนจะเกิดจากการอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นเวลานาน เพราะมีระยะการฟักตัวของโรคประมาณ 3 - 5 ปี ดังนั้น การรับแรงงานต่างด้าวมาดูแลเด็ก หรือคนแก่ ซึ่งจะมีการคลุกคลีกันตลอดเวลา จึงถือว่ามีความเสี่ยง ซึ่งการตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้าวจะตรวจปีละครั้ง ดังนั้น ก่อนว่าจ้างควรสังเกตผิวหนัง ซอกเล็บ หากมีแผลผื่นนูนแดงก็ควรให้ไปตรวจโรคก่อน และหมั่นสังเกตตลอดเวลา ถ้าอยู่ร่วมกันเกิน 3 ปีแล้วไม่มีความผิดปกติก็ถือว่าปลอดภัย นอกจากนี้ โรคนี้โอกาสแพร่เชื้อผ่านทางห่วงโซ่อาหาร เช่น คนปรุงอาหาร คนเสิร์ฟอาหาร ถือว่าน้อย เพราะไม่ได้เกิดการคลุกคลี
พญ.รัตติยา เตชะขจรเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และระบาดวิทยา รพ.บางรัก กล่าวว่า อัตราการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เฉพาะผู้ป่วยต่างชาติในปี 2554 - 2557 พบว่า มีแนวโน้มสูงขึ้น ที่พบบ่อย 3 อันดับแรก คือ โรคซิฟิลิส หนองใน และหนองในเทียม โดยพม่าพบมากที่สุดปีละเกือบ 1,000 ราย รองลงมา คือ กัมพูชา และลาว ตามลำดับ ประมาณ 100 - 300 คน ทั้งนี้ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ ทำให้ไม่ตระหนักและไม่มารักษา โดยพบว่าผู้ชายจะมารักษาด้วยโรคไม่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์จากอาการ ปัสสาวะขัด มีหนองหรือมูกไหลออกจากท่อปัสสาวะ อัณฑะบวมแดงอักเสบ มีตุ่ม มีหูดไหลออกจากบริเวณอวัยะเพศ ส่วนเพศหญิงร้อยละ 50 ไม่พบอาการ จึงมักเก็บเชื้อได้ดี แต่อาการที่พบ คือ ตกขาวปริมาณมาก มีกลิ่นเหม็น คัน มีตุ่มขึ้นที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ลำตัว ผื่น ผมร่วงเป็นหย่อม ๆ
ผศ.พญ.จิตติมา ฐิตวัฒน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากคณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล กล่าวว่า โรคเท้าช้างเป็นอีกโรคเช่นกันที่หากไม่มีการเฝ้าระวังในกลุ่มแรงงานต่างด้าว อาจทำให้เกิดปัญหาขึ้นได้ โดยเฉพาะแรงงานพม่า ซึ่งหากเป็นแรงงานที่เข้ามาอย่างถูกกฎหมาย จะได้รับการตรวจร่างกายและตรวจโรคเท้าช้างทุกปี รวมถึงได้รับยาป้องกันทุก 6 เดือน และ คร. จะมีการเฝ้าระวังเจาะเลือดคนไทยที่อยู่ร่วมกับแรงงานพม่าด้วย คนไทยที่อาศัยอยู่ร่วมกับแรงงานเหล่านี้ หรือนายจ้างควรดูแลให้แรงงานและครอบครัวของเขาได้รับยารักษาโรคเท้าช้างอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดโอกาสการแพร่ระบาด ส่วนโรคลิซมาเนียนั้น ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยคนไทยจากการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศที่เป็นแหล่งรังโรค แต่ปัจจุบันพบผู้ป่วยในประเทศไทยโดยไม่พบประวัติการเดินทาง โดยพบในแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาอาศัยในประเทศไทย การเปิดเออีซีซึ่งจะมีการเดินทางเข้าออกประเทศไทยมากขึ้น จึงต้องระวังเช่นกัน ซึ่งโรคนี้มีตัวริ้นฝอยทรายเป็นพาหะ สามารถป้องกันได้ด้วยการสมวเสื้อผ้ามิดชิด ใช้ยาทากันยุง นอนกางมุ้ง กำจัดแหล่งโรค ทำความสะอาดบ้านเรือนให้เรียบร้อย
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่