โดย...รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร
กระดูกไก่ดำ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Justicia gendarussa Burm. F. ชื่อพ้อง Gendarussa vulgaris Nees, Gendarussa vulgaris Bojer, Justicia gendarussa L.f. อยู่ในวงศ์ Acanthaceae ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ คือ กรอกระโต๊ะ (กะเหรียง - แม่ฮ่องสอน) กระดูกไก่ดำ เกี๋ยงผา เฉียงพร้ามอญ บัวลาดำ (เหนือ) กระดูกดำ กะลาดำ (จันทบุรี) ปองดำ แสนทะแมน (ตราด) เขียงพร้ามอญ เฉียงพร้าบ้าน เฉียงพร้าม่าน เฉียงพร้ามอญ ผีมอญ สำมะงาจีน สันพร้ามอญ (กลาง) เฉียงพร้า (สุราษฎร์ธานี)
มีลักษณะเป็นไม้พุ่มขนาดย่อม มีความสูงประมาณ 1.5 - 2 เมตร เจริญเติบโตได้ดีในที่ร่ม ใบเล็กยาวเรียวแหลม เส้นกลางใบสีคล้ำ ใบและรากมีรสขม ดอกเล็กออกเป็นช่อที่ปลายยอดสีชมพูอ่อน ลำต้นและกิ่งก้านมีสีดำ เป็นข้อ ๆ คล้ายขาไก่ และมีฤทธิ์เด่นด้านการรักษาโรคข้อกระดูก จึงน่าจะเป็นที่มาของชื่อ “กระดูกไก่ดำ”
ฤทธิ์ต้านอักเสบ ลดปวด
กระดูกไก่ดำ มีฤทธิ์ต้านอักเสบ ลดปวดสูงมาก ซึ่งเป็นฤทธิ์ที่มาจากสารสำคัญในกลุ่ม flavonoids คือ vitexin และ apigenin ออกฤทธิ์ผ่านกลไกเดียวกันกับยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-steroidal Anti-inflammatory drugs) หรือที่เรียกกันว่า ยากลุ่ม NSAIDs โดยไปยับยั้งเอนไซม์ทั้ง cyclooxygenase (COX) และ lipoxygenase pathways ทำให้มีผลยับยั้งการหลั่งสารที่เหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบหลายชนิด เช่น prostaglandins, histamine, NO, iNOS, MMP-9, prostaglandins และยังพบว่าสารสกัดกระดูกไก่ดำยังออกฤทธิ์ที่ opioid receptor กลไกเดียวกับ morphine แต่มีฤทธิ์ลดปวดน้อยกว่า morphine ประมาณ 2 - 5 เท่า
นอกจากนี้ ยังมีกลไกลดการอักเสบเหมือนยาสเตียรอยด์ โดยไปยับยั้ง หรือ Stabilizing Lysosomal Membrane ไม่ให้สร้างสารพวก Hydrolytic Enzyme จากเม็ดเลือดขาวออกมาย่อยเซลล์ และมีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกัน ยับยั้งการเคลื่อนที่ของเม็ดเลือดขาวไปยังบริเวณที่อักเสบ มีฤทธิ์ลดปวด เทียบเท่ายามาตรฐาน Aspirin และยังพบว่า สามารถออกฤทธิ์ยับยั้งการปวดทั้งที่เกิดจากระบบประสาทส่วนกลางและส่วนปลาย จะเห็นได้ว่า ฤทธิ์แก้ปวดลดอักเสบของกระดูกไก่ดำนั้น เกิดจากการทำงานผ่านหลายกลไก เทียบเท่ายาแผนปัจจุบันหลายชนิดที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน และมีจุดเด่นที่สำคัญและน่าสนใจที่จะนำไปใช้พัฒนาเป็นยาแก้ปวดลดอักเสบได้ในอนาคต
ฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย
สารสกัดเมทานอลของใบกระดูกไก่ดำ มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด ทั้งแบคทีเรียแกรมบวก แบคทีเรียแกรมลบ เช่น แบคทีเรียแกรมบวก Staphylococcus aureus, Staphylococcus mutans, Bacillus subtilis, Micrococcus luteus แบคทีเรียแกรมลบ Proteus vulgaris, Proleus mirabilis, Klebsiella pneumoniae, Escherichia coli, Shigella Flexner, Salmonella paratypi A, Salmonella typhimusium ซึ่งเป็นการยืนยันการใช้มาแต่โบราณ ที่ทางตอนใต้ของอินเดียมีการใช้ใบกระดูกไก่ดำรักษาโรคติดเชื้อหลายชนิด จึงนับว่าเป็นสมุนไพรที่น่าสนใจที่จะนำมาพัฒนาเป็นยาปฏิชีวนะเพื่อใช้รักษาการติดเชื้อที่ดื้อยาได้ในอนาคต
ฤทธิ์ยับยั้งการสร้างหลอดเลือดใหม่ และฤทธิ์ต้านมะเร็ง
สารสกัดกระดูกไก่ดำ ยังมีฤทธิ์เป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งของมนุษย์ (ในหลอดทดลอง) โดยเหนี่ยวนำให้เกิดการตายของเซลล์ (apoptosis) ฤทธิ์ยับยั้งการสร้างหลอดเลือด (anti-angiogenesis) ซึ่งฤทธิ์ดังกล่าวน่าจะนำมาพัฒนาเป็นยารักษามะเร็งได้ ฤทธิ์ยับยั้งการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง (สาร apigenin ซึ่งพบในใบกระดูกไก่ดำ มีรายงานมาก่อนหน้านี้ว่า สามารถยับยั้งการโตและการแพร่กระจายของมะเร็งต่อมลูกหมาก)
สูตรตำรับสเปรย์กระดูกไก่ดำ สรรพคุณแก้อาการปวดข้อ ปวดเมื่อย ฟกช้ำ อักเสบเฉียบพลัน
ส่วนประกอบ
1. สารสกัดกระดูกไก่ดำ 400 ซีซี (ระเหยแอลกอฮอล์ออก) 2. เมนทอล 60 กรัม 3. การบูร 120 กรัม 4. น้ำมันหอมระเหย 10 ซีซี (กลิ่นเปปเปอร์มินต์) 5. น้ำมันเขียว (cajuput oil) 2% 8 ซีซี
วิธีทำ ละลายเมนทอลและการบูรให้เป็นเนื้อเดียวกัน จากนั้นเติมสารสกัดกระดูกไก่ดำและน้ำมันเขียว คนให้เข้ากันแล้วแต่งกลิ่นเปปเปอร์มินต์ บรรจุลงขวดสเปรย์
ข้อบ่งใช้ ใช้ฉีดบริเวณที่มีอาการปวดหรือมีการอักเสบของข้อต่าง ๆ
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่