เอเอฟพี - การระบาดของไวรัสซิกาซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ทารกเกิดมามีศีรษะเล็กผิดปกติ (microcephaly) ทำให้มีผู้ติดเชื้อในบราซิลแล้วไม่ต่ำกว่า 91,000 ราย เจ้าหน้าที่สาธารณสุขแดนแซมบ้ารายงานเมื่อวานนี้ (26 เม.ย.)
ระหว่างวันที่ 3 ม.ค.-2 เม.ย.ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขบราซิลได้รับแจ้งเคสผู้ป่วยต้องสงสัยถึง 91,387 ราย โดย 30,286 ราย หรือราวๆ 1 ใน 3 อาศัยอยู่ในเขตชนบทที่ยากจนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
นอกจากนี้ ทางการยังได้รับแจ้งผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากไวรัสซิกาแล้ว 3 ราย
แม้จะมีการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่อง แต่จนถึงขณะนี้นักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่สามารถระบุธรรมชาติของไวรัสซิกาได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นระยะเวลาที่เชื้อจะแฝงอยู่ในร่างกายมนุษย์, ระดับความเสี่ยงในการติดต่อทางเพศสัมพันธ์, โรคแทรกซ้อนและความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงชนิดของยุงที่สามารถเป็นพาหะนำโรค
นักวิทยาศาสตร์ได้พบหลักฐานที่สรุปได้ชัดเจนแล้วว่าไวรัสซิกาเป็นสาเหตุทำให้ทารกเกิดมาศีรษะเล็ก เนื่องจากสมองถูกทำลายขณะอยู่ในครรภ์มารดา นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงกับอาการผิดปกติทางระบบประสาทที่เรียกว่า กลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร (จีบีเอส) ซึ่งระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายโจมตีระบบประสาทบางส่วน ทำให้กล้ามเนื้อแขน ขา และร่างกายส่วนบนค่อยๆ อ่อนแรงลง และบางครั้งทำให้เป็นอัมพาตโดยสิ้นเชิง
ปัจจุบันไวรัสชนิดนี้ยังไม่มีวัคซีนหรือยารักษา ทว่าผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ก็มักไม่แสดงอาการ หรือไม่ก็เพียงมีไข้ เกิดผื่นแดงตามตัว และปวดตามข้อต่อเท่านั้น
ทางการบราซิลยังพบหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อไวรัสซิกาแล้วอย่างน้อย 2,844 คน
“ตอนนี้ยังระบุไม่ได้ว่ามีโอกาสกี่เปอร์เซ็นต์ที่หญิงตั้งครรภ์เหล่านี้จะคลอดทารกที่มีศีรษะเล็ก” คลอดิโอ ไมเอโรวิตช์ ผู้อำนวยการสำนักเฝ้าระวังโรคติดต่อ ระบุ
ขณะเดียวกัน จำนวนผู้ติดเชื้อไข้เลือดออกในบราซิลก็เพิ่มขึ้นเป็น 802,429 ราย สูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้วถึง 13.7%