xs
xsm
sm
md
lg

‘ว่าที่ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์’จะทำอย่างไร หลัง ‘กลุ่มอาบูไซยาฟ’ ทั้งเยาะเย้ยเขา, ฆ่าตัดคอตัวประกัน

เผยแพร่:   โดย: โนเอล ทาร์ราโซนา

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Duterte likely to eliminate Abu Sayyaf after group mocks him, kills hostage
By Noel Tarrazona
16/06/2016

พวกนักรบหัวรุนแรงกลุ่มอาบูไซยาส ได้สังหาร โรเบิร์ต ฮอลล์ ตัวประกันชาวแคนาดาด้วยการตัดศีรษะเมื่อวันจันทร์ (13 มิ.ย.) ที่ผ่านมา พร้อมกับออกคำแถลงพาดพิงถึง โรดริโก ดูเตอร์เต ว่าที่ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ซึ่งกำลังจะเข้ารับตำแหน่งว่า รู้สึกอับอายขายหน้าหรือไม่ที่ไปรับปากกับแคนาดาไว้ว่า จะช่วยเหลือตัวประกันออกมาให้ได้อย่างปลอดภัย

มินดาเนา, ฟิลิปปินส์ - การที่พวกนักรบหัวรุนแรงกลุ่มอาบูไซยาฟ (Abu Sayyaf) สังหาร โรเบิร์ต ฮอลล์ (Robert Hall) ตัวประกันชาวแคนาดาด้วยการตัดศีรษะเมื่อวันจันทร์ (13 มิ.ย.) ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นการฟาดกระหน่ำอย่างรุนแรงอีกครั้งเข้าใส่แผนการรณรงค์ทางทหารมูลค่า 93 ล้านดอลลาร์ของสหรัฐฯ ซึ่งมุ่งช่วยเหลือฟิลิปปินส์ให้สามารถยุติพฤติการณ์ก่อการร้ายของกลุ่มที่เป็นเครือข่ายพัวพันเกี่ยวข้องกับอัล-กออิดะห์และรัฐอิสลาม (ไอเอส) กลุ่มนี้ ในภูมิภาคที่ยังคงไร้ความสงบแห่งนี้

แผนการรณรงค์ทางทหารที่ใช้ชื่อว่า “เอนดูริ่ง ฟรีดอม” (Enduring Freedom) ถือเป็นส่วนหนึ่งในสงครามระดับโลกซึ่งเปิดฉากขึ้นมาเพื่อต่อสู้ปราบปรามการก่อการร้าย ภายหลังเหตุการณ์โจมตีอาคารแฝดในนิวยอร์กเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 และสิ่งที่ปรากฏขึ้นในฟิลิปปินส์ก็คือ การเดินทางเข้ามาของทหารอเมริกันจำนวนราว 1,300 คน ซึ่งได้รับการต้อนรับด้วยความยินดีปรีดา

ลักษณะเด่นที่สุดประการหนึ่งของแผนการรณรงค์นี้ ได้แก่การฝึกร่วมทางทหารประจำปีที่ใช้ชื่อรหัสว่า “บาลิคาตัน” (Balikatan) ซึ่งเป็นคำในภาษาตาลาล็อกแปลว่า “เคียงบ่าเคียงไหล่” คอยทำหน้าที่จัดหาจัดส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ และแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารตลอดจนแลกเปลี่ยนความชำนาญ เพื่อยุติการก่อการร้ายในภาคใต้ของฟิลิปปินส์

ทว่าหลังจากเวลาผันผ่านไปได้ 14 ปี กลุ่มอาบูไซยาฟ (Abu Sayyaf Group หรือ ASG) ที่มีกำลังคนราว 400 คน กลับเพิ่มทวีความก้าวร้าวและความรุนแรงในการจับคนเรียกค่าไถ่และในการสังหารเหยื่อของพวกเขา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ

ในเหตุการณ์ล่าสุดนั้น กลุ่มอาบูไซยาฟเรียกร้องต้องการเงินค่าไถ่ 6.5 ล้านดอลลาร์สำหรับการปล่อยตัวฮอลล์ ทว่าญาติๆ ของฮอลล์กระทำตามรัฐบาลแคนาดาซึ่งยืนยันใช้นโยบายไม่จ่ายค่าไถ่ ดังนั้นผู้บริหารกิจการเหมืองแร่ชาวแคนาดาผู้นี้ก็ได้ถูกปลิดชีวิตไป

ขณะที่แถลงประณามพฤติการณ์คราวนี้พร้อมกับให้สัญญาที่จะนำเอาพวกที่สังหารเขามาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม นายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด ของแคนาดา ก็กล่าวปกป้องยืนยันนโยบายไม่จ่ายค่าไถ่ของรัฐบาลของเขา โดยระบุว่าหากยอมจ่ายเงินแล้ว ก็รังแต่จะกระตุ้นส่งเสริมให้พวกอาบูไซยาฟจับคนเรียกค่าไถ่เพิ่มขึ้นอีกเท่านั้น

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 25 เมษายน กลุ่มอาบูไซยาฟ ได้ฆ่าตัดศีรษะ จอห์น ริดสเดล (John Ridsdel) ชาวแคนาดาอีกคนหนึ่งที่ถูกพวกเขาคุมขังไว้ ภายหลังที่ญาติๆ ของริดสเดลไม่ได้จ่ายเงินค่าไถ่ 6.5 ล้านดอลลาร์ก่อนกำหนดเส้นตายของกลุ่มนี้ เวลานี้อาบูไซยาฟยังคงมีตัวประกันที่พวกเขาจับตัวเอาไว้อยู่อีก 2 คน ได้แก่ คจาร์ตัน เซคคิงสตัด (Kjartan Sekkingstad) ซึ่งเป็นชาวนอร์เวย์ และ มาริเตสส์ ฟลอร์ (Maritess Flor) สตรีชาวฟิลิปปินส์ที่เป็นคู่ครองของฮอลล์

ในคำแถลงของอาบูไซยาฟที่ออกมาภายหลังการสังหารฮอลล์ พวกเขายังหาญกล้าล้อเลียนเยาะเย้ย โรดริโก ดูเตอร์เต ว่าที่ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ซึ่งจะเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้

หนังสือพิมพ์ระดับชาติในฟิลิปปินส์ อ้างเนื้อหาในคำแถลงของอาบู รามี (Abu Raami) หัวหน้ากลุ่มอาบูไซยาฟ ที่กล่าวว่า “คุณสัญญากับทรูโดว่าคุณจะนำตัวพวกเขา (พวกตัวประกัน) กลับมาโดยที่ยังมีชีวิตอยู่ และสิ่งที่เกิดขึ้นกับริดสเดลจะไม่มีทางเกิดซ้ำอีก ดังนั้นก็มาคอยดูกันว่าคุณจะรู้สึกอับอายขายหน้าหรือไม่”

“นี่แหละสำหรับ ดูเตอร์เต นี่แหละสำหรับให้คุณได้รับรู้ว่าเราจะทำอย่างไรกับชาวแคนาดาผู้นี้” รามีระบุในคำแถลง

ในวันพุธ (15 มิ.ย.) ประธานาธิบดีเบนีโญ อากีโน ของฟิลิปปินส์ ได้บินมายังเมืองโจโล (Jolo) ของจังหวัดซูลู (Sulu) เพื่อรับฟังข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์การลักพาตัวประกันด้วยตนเอง ทั้งนี้เขากำลังพิจารณาที่จะประกาศใช้กฎอัยการศึกในจังหวัดซูลู

อย่างไรก็ดี อากีโนกล่าวกับสื่อว่า ไม่มีหลักประกันใดๆ เลยว่าความเคลื่อนไหวเช่นนี้จะก่อให้เกิดผลลัพธ์ในทางบวก บางทีอาจจะเกิดผลในทางลบเสียด้วยซ้ำ ศัตรูกลุ่มนี้อาจจะได้รับความเห็นอกเห็นใจเพิ่มขึ้น

เขาประกาศว่านอร์เวย์และแคนาดาเสนอให้ความช่วยเหลือเพื่อยุติการก่อการร้ายในภาคใต้

ทั้งนี้อากีโนกำลังจะก้าวลงจากตำแหน่งประธานาธิบดีในวันที่ 30 มิถุนายนนี้แล้ว

ข้อตกลงเพิ่มพูนความร่วมมือด้านกลาโหม

หลังจากประสบความล้มเหลวในการปราบปรามการก่อการร้ายในภาคใต้ฟิลิปปินส์ สหรัฐฯก็กำลังพิจารณาที่จะทำให้ความร่วมมือทางทหารซึ่งมีอยู่กับฟิลิปปินส์กลายเป็นสถาบันซึ่งสามารถดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ในรูปของข้อตกลงเพิ่มพูนความร่วมมือด้านกลาโหม (Enhanced Defense Cooperation Agreement หรือ EDCA)

ในวันที่ 28 เมษายน 2014 ศาลสูงสุดของฟิลิปปินส์ตัดสินว่า ข้อตกลง EDCA ไม่ได้ขัดแย้งรัฐธรรมนูญ จึงมีผลบังคับตามกฎหมาย ข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้มีลักษณะเป็นการตระเตรียมสมรรถนะต่างๆ ด้านกลาโหมเอาไว้ให้พรักพร้อมล่วงหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการส่งเสริมสนับสนุนความมั่นคงทางทะเลของฟิลิปปินส์ และการเฝ้าระวังดินแดนทางทะเลของฟิลิปปินส์

พวกกลุ่มล็อบบี้ที่เห็นดีเห็นงามนั้นเชื่อว่า ข้อตกลง EDCA สามารถที่จะแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายและปัญหาการก่อกบฏต่างๆ ในบริเวณภาคใต้ไกลโพ้นของฟิลิปปินส์

นักวิเคราะห์ บริกซิโอ ซีซาร์ โดมอนดอน (Briccio Cesar Domondon) เขียนเอาไว้ในหนังสือพิมพ์ระดับชาติฉบับหนึ่งของฟิลิปปินส์ว่า EDCA เป็นเครื่องมือที่ถูกต้องเหมาะสมสำหรับใช้ในการติดตามไล่ล่าพวกอาบูไซยาฟ เนื่องจากเวลานี้กลุ่มนี้ได้ประกาศตนเป็นพันธมิตรกับกลุ่มรัฐอิสลามแล้ว

รัฐบาลฟิลิปปินส์นั้นได้กำหนดสถานที่ต่างๆ รวม 5 แห่งสำหรับเป็นที่ตั้งทางทหารของสหรัฐฯ ได้แก่ นูเอวา อีซิจา (Nueva Ecija), ปัมปังกา (Pampanga), ปาลาวัน (Palawan), เซบู (Cebu), และ คากายัน เด โอโร (Cagayan de Oro) ทว่ามีผู้ประท้วงภาคประชาชนราว 2,500 คนจัดการชุมนุมในเมืองคากายัน เด โอโร เพื่อแสดงความรู้สึกต่อต้านคัดค้านการจัดตั้งสิ่งปลูกสร้างทางทหารของสหรัฐฯขึ้นมาในอาณาบริเวณของพวกตน

พวกผู้ประท้วงมองว่าการจัดตั้งสถานที่ทางทหารของสหรัฐฯขึ้นในดินแดนของฟิลิปปินส์เช่นนี้เป็นเรื่องผิดกฎหมาย และเป็นภัยคุกคามต่อความปลอดภัยของพลเรือน ทั้งนี้ฟิลิปปินส์มีกฎหมายหลายฉบับซึ่งมีเนื้อหาห้ามการจัดตั้งฐานทัพทหารของต่างชาติขึ้นมาในประเทศนี้

อย่างไรก็ตามรัฐบาลสหรัฐฯและรัฐบาลฟิลิปปินส์บอกว่า สิ่งปลูกสร้างทางทหารต่างๆ ตามข้อตกลง EDCA นั้นเป็นเพียงสถานที่อำนวยความสะดวก ไม่ได้เป็นฐานทัพ

“EDCA ไม่ใช่การแผ้วถางทางเพื่อให้ฐานทัพทางทหารของสหรัฐฯกลับคืนมายังประเทศนี้” พวกเจ้าหน้าที่กลาโหมของฟิลิปปินส์กล่าวแก้กันเป็นพัลวัน

กระนั้น ยังมีผู้คนจำนวนมากสงสัยข้องใจว่าข้อตกลง EDCA สามารถที่จะแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายในภาคใต้ฟิลิปปินส์ได้จริงหรือ เนื่องจากตามความเห็นของพวกเขาแล้ว สหรัฐฯมีความสนใจเป็นกังวลมากกว่ากับเรื่องที่จีนใช้ความแข็งกร้าวเพิ่มมากขึ้นในทะเลฟิลิปปินส์ตะวันตก (West Philippine Sea ชื่อที่ฝ่ายฟิลิปปินส์ใช้เรียก ทะเลจีนใต้)

ขณะที่บางคนอย่างเช่น ส.ส.โรดอลโฟ เบียซอน (Rodolfo Biazon) ซึ่งเป็นนายทหารระดับนายพลเกษียณอายุ ได้รับการอ้างอิงในหนังสือพิมพ์ระดับชาติของฟิลิปปินส์ฉบับหนึ่งว่า ได้ออกมาพูดว่าข้อตกลง EDCA จะถูกใช้ทั้งเพื่อรับมือกับการก่อการร้ายระดับทั่วโลก และทั้งเพื่อรับมือกับความแข็งกร้าวที่เพิ่มมากขึ้นของจีนในทะเลฟิลิปปินส์ตะวันตก

ดูเตอร์เตจะทำอะไรได้บ้าง?

สมาชิกหลายคนในทีมงานของดูเตอร์เตที่กำลังจะเข้ามารับตำแหน่งบอกว่า ดูเตอร์เตนั้นมีความสามารถที่จะปราบปรามภัยคุกคามของการก่อการร้ายในภาคใต้ของประเทศได้อย่างแน่นอน

เจซัส ดูเรซา (Jesus Dureza) ซึ่งจะขึ้นทำหน้าที่เป็นหัวหน้าผู้เจรจาของรัฐบาล กล่าวว่า ทั้งกลุ่มอาบูไซยาฟ และกลุ่มนักรบเสรีภาพอิสลามบังซาโมโร (Bangsamoro Islamic Freedom Fighters) จะต้องเผชิญกับพลังอำนาจทางกฎหมายอย่างเต็มเหนี่ยว จากพฤติการณ์ด้านการก่อการร้ายและด้านอาชญากรรมของพวกเขา

เฮอร์โมเจเนส เอสเปรอน (Hermogenes Esperon) ซึ่งจะเข้ามาทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติ บอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า ดูเตอร์เตจะดำเนินปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์เพื่อต่อต้านปราบปรามภาวะไร้ขื่อแปในภาคใต้ เพราะ “เราไม่สามารถยินยอมปล่อยให้สถานการณ์เช่นนี้ดำเนินต่อไปอีก ... นี่ควรที่จะสิ้นสุดลงไปในทันที”

โรเบิร์ต เดลา โรซา (Robert Dela Rosa) ผู้ซึ่งจะเข้ามาเป็นผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติคนใหม่ พูดเป็นนัยว่าอาจมีการประกาศใช้กฎอัยการศึก หากการกระทำเช่นนั้นสามารถที่จะยุติการก่อการร้ายในภาคใต้ได้

เออร์นี อาเบลลา (Ernie Abella) ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นโฆษกของประธานาธิบดี กล่าวว่าดูเตอร์เตนั้นเป็น “นักคิดเชิงยุทธศาสตร์” และเขาจะสามารถยุติการจับคนเรียกค่าไถ่และการฆาตกรรมของกลุ่มอาบูไซยาสได้แน่ๆ เขายังเล่าทบทวนความหลังว่า เมื่อตอนที่ดูเตอร์เตเป็นนายกเทศมนตรีเมืองดาเวาอยู่นั้น ได้ใช้วิธีการอย่างไรในการขัดขวางปราบปรามการจับคนเรียกค่าไถ่หลายต่อหลายคดี

ขณะที่ ซัลวาดอร์ ปาเนโล (Salvador Panelo) ทนายความของดูเตอร์เต แถลงยืนยันว่า “เขาเคยแก้ปัญหาอื่นๆ ที่มีขนาดขอบเขตระดับนี้มาหลายเรื่องแล้ว ผมไม่เห็นว่าเขาจะมีปัญหาอะไรในการแก้ไขเรื่องนี้”

โนเอล ทาร์ราโซนา เป็นอดีตนักหนังสือพิมพ์อิสระระหว่างประเทศซึ่งเคยปักหลักอยู่ที่เมืองแวนคูเวอร์, แคนาดา และเป็นนักวิเคราะห์อาวุโสคนหนึ่งของ wikistrat ทั้งนี้สามารถติดต่อเขาทางอีเมลได้ที่ ntarrazona@gmail.com


กำลังโหลดความคิดเห็น