เอเจนซีส์ - กลยุทธ์ต่อต้านก่อการร้ายของอเมริกาถูกเพ่งเล็งอีกครั้ง หลังมือปืนที่เคยถูกเอฟบีไอสอบปากคำและปล่อยตัวถึงสองครั้ง ก่อคดีสะเทือนขวัญด้วยการบุกกราดยิงบาร์เกย์ในออร์แลนโด เมื่อวันอาทิตย์ (12) ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 50 คน และบาดเจ็บอีก 53 คน โดยคนร้าย โทร.แจ้ง 911 พร้อมประกาศว่า ตนเองภักดีต่อกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ก่อนก่อเหตุกราดยิง ด้าน โอบามา และ คลินตัน ระบุว่า เป็นการก่อการร้ายและอาชญากรรมจากความเกลียดชังที่ตอกย้ำความจำเป็นในการควบคุมอาวุธปืน ขณะที่ทรัมป์ฉวยความดีเข้าตัวด้วยการอ้างว่า เหตุการณ์นี้สนับสนุนข้อเสนอของตนในการแบนชาวมุสลิมไม่ให้เข้าอเมริกา พร้อมเรียกร้องให้โอบามาลาออก
ตำรวจออร์แลนโดบุกเข้าสู่ไนต์คลับชื่อว่า “พัลส์” แล้ววิสามัญฆาตกรรมมือปืนเพื่อปิดฉากการกราดยิงครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกัน ซึ่งไม่เพียงนำมาซึ่งความเศร้าโศกเท่านั้น แต่ยังกระตุ้นให้ชาวเกย์และเลสเบียนรวมพลังต่อต้านการใช้ความรุนแรง โดยกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศกว่า 100,000 คน นัดเข้าร่วมขบวนพาเหรดสีรุ้งในลอสแองเจลิสที่จัดขึ้นตามกำหนด
ส่วนที่ นิวยอร์ก พิธีแจกรางวัลละครเพลง โทนี อะวอร์ดส์ จัดขึ้นตามกำหนดเช่นเดียวกัน แต่อุทิศให้เหยื่อการสังหารหมู่ที่ออร์แลนโด
ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ระบุว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการก่อการร้าย และเป็นการกระทำจากความเกลียดชัง ด้านเจ้าหน้าที่เผยไม่พบหลักฐานการมีสมาชิกกลุ่มหัวรุนแรงต่างชาติเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้
บุคคลสำคัญในชุมชนมุสลิมอเมริกา รวมถึงพระสันตะปาปาฟรานซิส กับบรรดาผู้นำโลก ต่างประณามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในออร์แลนโด ซึ่งถือเป็นการก่อการร้ายครั้งร้ายแรงที่สุดในอเมริกานับจากวินาศกรรม 11 กันยายน 2001
สำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐฯ (เอฟบีไอ) ยอมรับว่า เคยสอบปากคำ โอมาร์ มาทีน วัย 29 ปี มือปืนในเหตุการณ์นี้สองครั้ง แต่ไม่พบแนวโน้มการก่ออาชญากรรม
โรนัลด์ ฮอปเปอร์ เจ้าหน้าที่พิเศษของเอฟบีไอ สำทับว่า คนร้าย โทร.แจ้ง 911 พร้อมประกาศว่า ตนเองภักดีต่อกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ก่อนก่อเหตุกราดยิง
ขณะเดียวกัน สำนักข่าวอามัคที่มีสายสัมพันธ์กับไอเอส ประกาศว่า นักรบไอเอสเป็นผู้ก่อเหตุครั้งนี้ แต่ไม่ได้แสดงหลักฐานยืนยัน นอกจากอ้าง “แหล่งข่าวคนหนึ่ง” เท่านั้น
รายงานระบุว่า พ่อแม่ของมาทีนเป็นชาวอัฟกานิสถาน ตัวเขาเองเกิดที่นิวยอร์กในปี 1986 แต่อาศัยอยู่ที่พอร์ต เซนต์ ลูซี รัฐฟลอริดา ซึ่งใช้เวลาในการเดินทางไปออร์แลนโดประมาณ 2 ชั่วโมง
มีร์ เซ็ดดิก พ่อของมาทีน ให้สัมภาษณ์สถานีเอ็นบีซี นิวส์ ว่า บุตรชายอาจมีแรงจูงใจในการก่อเหตุจากความเกลียดชังพวกรักร่วมเพศ แต่คงไม่ใช่เรื่องศาสนาอย่างแน่นอน
ซิโตรา ยูซูฟี อดีตภรรยาที่หย่าขาดจากคนร้ายตั้งแต่ปี 2011 หลังแต่งงานได้เพียง 4 เดือน เผยคนร้ายชอบใช้กำลังกับเธอ มาทีนยังมีความผิดปกติทางอารมณ์และทางจิต ไม่ได้เป็นพวกเคร่งศาสนา แต่ใฝ่ฝันอยากเป็นตำรวจ
นอกจากนั้น อิหม่ามของมิสยิดในฟลอริดาที่มาทีนไปสวดมนต์เป็นประจำมาตลอดเกือบ 10 ปี บอกว่า มาทีนเป็นคนพูดจาสุภาพนุ่มนวล แต่ไม่ค่อยสุงสิงกับคนอื่น
อย่างไรก็ตาม ฮอปเปอร์ เผยว่า มาทีนเคยแสดงพฤติกรรมที่เป็นสัญญาณอันตราย ด้วยการบอกกับเพื่อนร่วมงาน ว่า ตนเองสนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย ทำให้เอฟบีไอต้องนำตัวไปสอบปากคำเมื่อปี 2013
หนึ่งปีให้หลัง มาทีนถูกสอบปากคำอีกครั้ง โดยเจ้าหน้าที่ผู้ต้องการตรวจสอบการติดต่อของเขากับ โมเนอร์ โมฮัมหมัด อาบูซัลฮา ชาวฟลอริดา ที่ต่อมากลายเป็นพลเมืองอเมริกันคนแรกที่ก่อเหตุระเบิดฆ่าตัวตายในซีเรีย ซึ่งถูกระบุว่า เป็นสมาชิกเครือข่ายอัล-กออิดะห์
เอฟบีไอสรุปว่า การติดต่อดังกล่าวไม่มีความสลักสำคัญอันใด และไม่บ่งชี้ความสัมพันธ์หรือภัยคุกคามในขณะนั้น
การสังหารหมู่ครั้งนี้มีขึ้นขณะที่การหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกากำลังเข้มข้น ซึ่งแน่นอนว่า ผู้สมัครคนสำคัญต้องรีบออกมาแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้
ฮิลลารี คลินตัน ว่าที่ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครต เลื่อนการหาเสียงร่วมกับโอบามา และทวีตให้กำลังใจครอบครัวเหยื่อในออร์แลนโด นอกจากนี้ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ผู้นี้ ยังระบุเช่นเดียวกับโอบามา ว่า เหตุการณ์สังหารหมู่ล่าสุดเป็นการก่อการร้ายและการกระทำจากความเกลียดชัง ซึ่งย้ำเตือนถึงความจำเป็นในการควบคุมอาวุธปืน
ด้าน โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกัน ไม่รอช้าที่จะอวดอ้างว่า การโจมตีล่าสุดพิสูจน์ว่า เขาเป็นฝ่ายถูกในการเรียกร้องให้ห้ามชาวมุสลิมเดินทางเข้าอเมริกา
มหาเศรษฐีจากนิวยอร์กผู้นี้ยังเรียกร้องให้โอบามาลาออก เพราะไม่กล้าประกาศว่า การสังหารหมู่ที่เกิดขึ้นเป็นฝีมือของ “อิสลามหัวรุนแรง” พร้อมให้สัญญาว่า จะปราศรัยเรื่องนโยบายความมั่นคงในวันจันทร์ (13)
ทั้งนี้ เหตุกราดยิงในพัลส์เกิดขึ้นและจบลงในเวลา 3 ชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 2.00 น. วันอาทิตย์ (13.00 น.) เมื่อเสียงปืนชุดแรกดังแทรกเสียงดนตรี โดยมือปืนมีปืนไรเฟิลจู่โจม และปืนพกอย่างละกระบอก
การสังหารหมู่จบลงด้วยการที่ตำรวจใช้ยานยนต์หุ้มเกราะที่เรียกว่า “แบร์แคต” พุ่งชนกำแพงเข้าไปในไนต์คลับและวิสามัญฆาตกรรมมือปืนที่จับตัวประกันนับสิบคนไปอยู่รวมกันในห้องน้ำ