ผศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์
ผศ.พญ.วริสรา ลุวีระ
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวคือใคร มีความสำคัญอย่างไร ทำไมถึงบอกว่าเป็นแพทย์ของแผ่นดิน คนไทยและประเทศไทยจะได้ประโยชน์อะไร คนไทยต้องเตรียมตัวอย่างไร ผู้เขียนขอร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องนี้
พัฒนาการของแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวในประเทศไทย
คนไทยเริ่มรู้จักแพทย์ครอบครัวหรือแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวกันอย่างมาก เมื่ออดีตรัฐมนตรีสาธารณสุข ศาสตราจารย์ นายแพทย์ รัชตะ รัชตะนาวิน และ นายแพทย์ สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในสมัยนั้น ได้ประกาศนโยบายให้มีทีมแพทย์ครอบครัว (Family Care Team) ดูแลประชาชนอย่างทั่วถึง โดยทุกครอบครัวจะมีเบอร์โทรศัพท์ของทีมแพทย์ครอบครัวที่สามารถโทรศัพท์เพื่อปรึกษาปัญหาสุขภาพได้ตลอดเวลา ซึ่งนโยบายนี้เป็นที่ถูกใจของประชาชน เพราะเข้าถึงประชาชนถ้วนหน้าอย่างเป็นรูปธรรม
พัฒนาการในเรื่องนี้มีความต่อเนื่องมาจนถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2559 ที่ได้บัญญัติไว้ว่า “ให้มีระบบการแพทย์ปฐมภูมิที่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวดูแลประชาชนในสัดส่วนที่เหมาะสม” (http://bit.ly/28Wjt1r)
สำหรับความคืบหน้าในเรื่องนี้ล่าสุด คือ รัฐมนตรีสาธารณสุขคนปัจจุบัน ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ ปิยะสกล สกลสัตยาทร และ นายแพทย์ โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศเดินหน้าในเรื่องนี้อย่างเต็มที่ โดยตั้งเป้าหมายให้ “ทุกคน ทุกครอบครัว มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวดูแล” จะมีการพัฒนาเครือข่ายระบบบริการปฐมภูมิที่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวเป็นหัวหน้าทีมให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และเร่งการผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวให้เพียงพอ
แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวคือใคร มีความสำคัญอย่างไร
แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว คือ แพทย์คนแรกที่สมาชิกครอบครัวนึกถึง หรือไปหาเมื่อเจ็บป่วย (First contact) แพทย์สาขานี้จะได้รับการฝึกฝนให้มีความรู้ความสามารถที่หลากหลาย (Multi-purpose) สามารถดูแลและให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพของคนในครอบครัว ทุกเพศ ทุกวัย ทุกโรค ในลักษณะผสมผสาน (Comprehensive) ซึ่งประกอบด้วย การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษาโรค และการฟื้นฟูสภาพ แพทย์ครอบครัวทุกคนพร้อมที่จะไปดูแลเยี่ยมเยียนผู้ป่วยที่บ้าน (Home care) เพื่อดูแลทั้งในด้านความเจ็บป่วยและสุขภาพอย่างต่อเนื่อง (Continuous) โดยพร้อมที่จะเป็นเพื่อนคู่คิด คู่ปรึกษาและเยียวยาปัญหาสุขภาพทุกคนในครอบครัวแบบระยะยาว ไม่ทอดทิ้งกัน (Therapeutic relationship) แม้ว่าบางครั้งอาจจำเป็นต้องส่งต่อผู้ป่วยไปรักษากับแพทย์เฉพาะทางสาขาอื่น แพทย์ครอบครัวก็จะมีระบบส่งต่อและประสานงาน (Coordinate) ที่เหมาะสม โดยแพทย์ครอบครัวอาจร่วมดูแลผู้ป่วยกับแพทย์เฉพาะทางสาขาอื่น และดูแลต่อเนื่องเมื่อการรักษากับแพทย์เฉพาะทางสาขาอื่นสิ้นสุดลง
แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวจะให้ความสำคัญและให้เวลาในการพูดคุยและซักถาม ทั้งในด้านความเจ็บป่วยและความเป็นอยู่ของคนในครอบครัวอย่างละเอียด เพราะแพทย์สาขานี้ทราบดีว่า ปัญหาสุขภาพเกี่ยวโยงกับเรื่องราวในครอบครัวอย่างมาก เมื่อมีใครคนใดคนหนึ่งในครอบครัวเจ็บป่วยจะกระทบไปถึงคนทั้งบ้าน (Family focus)
จากที่กล่าวมาในข้างต้น จะเห็นว่าคนไทยทุกครอบครัวควรมีแพทย์ที่มีคุณสมบัติข้างต้นไว้ประจำครอบครัวอย่างยิ่ง
ทำไมถึงบอกว่าแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวเป็นแพทย์ของแผ่นดิน
ประเทศที่ละเลยมองข้ามความสำคัญของบริการปฐมภูมิมักจะเผชิญกับปัญหาความด้อยคุณภาพ ด้อยประสิทธิภาพของระบบบริการสุขภาพในภาพรวม ปีระมิดที่มีฐานแคบย่อมไม่มั่นคง ล้มครืนลงมาได้ง่าย ดังเช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีแพทย์ทำงานในระดับปฐมภูมิน้อย ทำให้ค่าใช้ทางการแพทย์สูงมาก ถึงร้อยละ 17 ของรายได้ประชาชาติ ในขณะที่ประเทศแถบยุโรปมีการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิที่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวเป็นผู้นำอย่างต่อเนื่องยาวนาน ครอบคลุมประชากรทุกคน ทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายของระบบสุขภาพโดยรวม คิดเป็นเพียงร้อยละ 6 - 7 เท่านั้น เพราะนี่คือหัวใจของระบบบริการสุขภาพ เป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ ทำให้การเข้าถึงบริการมีความเป็นธรรม ช่วยลดค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยและครอบครัว และมุ่งทำให้คนในชุมชนมีสุขภาพดี (http://1.usa.gov/28THxkw)
ปัจจุบันประเทศไทยขาดแคลนแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญสาขาเวชศาสตร์ครอบครัวอย่างมาก ดังนั้น การลงทุนกับแพทย์สาขาเวชศาสตร์ครอบครัวอย่างเพียงพอ มีการส่งเสริมให้แพทย์เรียนต่อเฉพาะทางในสาขานี้กันมาก ๆ จัดระบบค่าตอบแทนให้แพทย์อยู่ในระบบได้ โดยไม่ต้องดิ้นรนย้ายไปทำงานต่อในเมืองใหญ่เพื่อสร้างโอกาสหารายได้เลี้ยงครอบครัว จึงจะเป็นการแก้ปัญหาคุณภาพและประสิทธิภาพของระบบบริการสุขภาพได้อย่างยั่งยืน
คนไทยต้องเตรียมตัวอย่างไร
ในระยะแรกที่ประเทศไทยยังมีจำนวนแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวไม่เพียงพอ กระทรวงสาธารณสุขได้จัดระบบให้มีการทำงานเป็นเครือข่าย โดยมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวเป็นแกนนำ บุคลากรทุกระดับ นับตั้งแต่อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) เจ้าหน้าที่สาธารณสุข พยาบาล เภสัชกร ทันตแพทย์ นักกายภาพบำบัด และอื่นๆ จะทำงานร่วมกัน เป็นทีมสุขภาพ ปรึกษาหารือกันเป็นขั้น ๆ ทำหน้าที่ดูแลและให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยและครอบครัว
ระหว่างนี้คนไทยสามารถร่วมกันทำให้ความฝันเป็นจริงได้ โดยเริ่มจากการปรับเปลี่ยนทัศนคติด้านการดูแลสุขภาพ เข้าใจบทบาทการทำงานและให้ความสำคัญกับแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว รวมถึงหมั่นติดตามสอบถามรัฐบาลว่านโยบายเรื่องนี้ไปถึงไหนแล้ว มีปัญหาอุปสรรคอะไรบ้าง จะให้ประชาชนช่วยตรงไหนอย่างไรบ้าง ฯลฯ ซึ่งจะทำให้รัฐบาลมั่นใจว่าประชาชนอยากได้ระบบนี้จริง โดยมีแรงหนุนจากภาคประชาชนมาช่วยกันทำให้มีเรื่องดีๆเกิดขึ้นในแผ่นดิน
จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างมาก หากการดำเนินโยบายเรื่องนี้เป็นรูปธรรม เพื่อให้ประเทศไทยมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและทีมสุขภาพจำนวนเพียงพอเต็มพื้นที่ สมดังนโยบายที่ประกาศไว้ว่า
“ทุกคน ทุกครอบครัว มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวดูแล”
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่