สบส. แฉ คลินิกถูกร้องเรียนบ่อย “ใช้คนไม่ใช่หมอมารักษา - โฆษณาเกินจริง” เตรียมส่งทีมตรวจเยี่ยมคลินิกทั่วประเทศ ทั้งก่อนและหลังได้รับอนุญาต
น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า คลินิกทุกแห่งทุกประเภทจะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานทุกด้าน ได้แก่ บุคลากรวิชาชีพต่าง ๆ เครื่องมือแพทย์ ความสะอาด สถานที่ โดยเฉพาะระบบรองรับภาวะฉุกเฉิน เพื่อสร้างความปลอดภัยอย่างครบถ้วนแก่ประชาชน แต่จากการตรวจสอบคลินิกที่ผ่านมา แม้ว่าจะขออนุญาตถูกต้องตามมาตรฐานทุกอย่าง แต่ยังมีปัญหาได้รับการร้องเรียนและตรวจพบได้บ่อย 2 อันดับแรก คือ การใช้บุคคลอื่นหรือสายวิชาชีพอื่นที่ไม่ใช่แพทย์มารักษา เช่น ทันตแพทย์ เภสัชกร สัตวแพทย์ พยาบาล หรือใช้คนในครอบครัวมาทำหน้าที่แทนในช่วงที่ผู้ได้รับอนุญาตจริงไม่อยู่ เพราะเห็นว่าผู้ที่ไปใช้บริการที่คลินิกอาการป่วยไม่รุนแรงเหมือนผู้ที่ไปโรงพยาบาล และปัญหาการโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณ ซึ่งมีแนวโน้มมากขึ้น จากการลงตรวจสอบพบว่าการบริการจริงไม่ได้เป็นไปตามที่โฆษณา ที่สำคัญ คลินิกไม่ใช่บริการเหมือนการขายสินค้าทั่วไป จึงต้องมีการคุ้มครองความปลอดภัยอย่างเข้มงวด
“จากนี้ไป กรมฯ จะเข้มในเรื่องของมาตรฐานมากขึ้น โดยจะส่งทีมตรวจเยี่ยมคลินิกทุกแห่งทั่วประเทศทั้งก่อนและหลังการอนุญาตให้เปิดดำเนินการ พร้อมตรวจสอบประวัติของแต่ละคลินิกก่อนต่อใบอนุญาตให้ ซึ่งใบอนุญาตให้คราวละ 10 ปี โดยคลินิกทุกแห่งต้องทำรายงานประจำปี และชำระค่าธรรมเนียมประจำปีทุกปี” อธิบดี สบส. กล่าว
นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดี สบส. กล่าวว่า ขณะนี้มีคลินิกที่ได้รับอนุญาตดำเนินการทั่วประเทศ 23,486 แห่ง อยู่ใน กทม. 4,956 แห่ง หรือประมาณร้อยละ 21 ของคลินิกทั้งหมด ส่วนที่เหลือ 18,533 แห่งอยู่ในต่างจังหวัด โดยในอนาคตคาดว่าจะมีคลินิกประเภทใหม่ ๆ เกิดขึ้นตาม พ.ร.บ. การประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542 อีก 7 สาขา ได้แก่ สาขากายภาพบำบัด สาขาเทคนิคการแพทย์ สาขาแพทย์แผนจีน สาขารังสีเทคนิค สาขาการสื่อความหมาย สาขาเทคโนโลยีหัวใจ และสาขาจิตวิทยา ขณะนี้มีเปิดแล้ว 1 สาขา คือ แพทย์แผนจีน มีประมาณ 300 แห่ง อีก 6 สาขายังไม่เปิด แต่มีแผนจะเปิด เช่น สาขารังสีเทคนิค ซึ่งเป็นบริการด้านการเอกซเรย์ ปัจจุบันมีผู้ขึ้นทะเบียนประกอบโรคศิลปะประมาณ 8,000 คน
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่