xs
xsm
sm
md
lg

“ฮังการี” รีดภาษีน้ำตาล ลดการดื่มน้ำหวาน-ผลิตเครื่องดื่มสุขภาพมากขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นักวิชาการชู “ฮังการี” เก็บภาษี “เครื่องดื่มผสมน้ำตาล” ช่วยลดอัตราการดื่ม ผู้ผลิตลดใส่น้ำตาลลง เป็นเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น ชี้ ไทยปรับขึ้นภาษีเครื่องดื่มผสมน้ำตาล ทำราคาขายปลีกเพิ่ม 20% ช่วยลดการดื่มได้ 1 ขวดเล็ก ลดปัญหาโรคอ้วนและโรคเรื้อรัง แนะทำควบคู่มาตรการอื่น

วันนี้ (29 มิ.ย.) ที่โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพฯ แผนงานวิจัยอาหารและโภชนาการ เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ (Food and Nutrition Policy for Health Promotion; FHP) มูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ สมาพันธ์เครือข่าย NCD แห่งประเทศไทย และเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมจัดประชุมเรื่อง “เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์เพื่อการส่งเสริมสุขภาพ กรณีภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล.. ได้หรือเสีย?”

ดร.เอวา มาร์โตส (Prof.Dr. Éva Martos) ที่ปรึกษากระทรวงพัฒนาศักยภาพมนุษย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีอาหารจากประเทศฮังการี กล่าวว่า ประเทศฮังการีเริ่มเก็บภาษีอาหารที่ไม่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตและเสี่ยงต่อสุขภาพ เช่น การเก็บภาษีเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาลเกินมาตรฐาน มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 เพื่อแก้ไขปัญหาพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม ซึ่งผลการประเมินของการเก็บภาษีอาหารทั้ง 2 ครั้ง ในรอบ 4 ปี ทำให้แน่ใจว่า การใช้มาตรการนี้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลชัดเจนมากกว่ามาตรการอื่น ๆ ที่เคยทำมา เพราะเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาลเกินมาตรฐานมีราคาสูงขึ้น ส่งผลให้อัตราการบริโภคเครื่องดื่มชนิดดังกล่าวลดลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ มาตรการภาษียังช่วยกระตุ้นให้ผู้ผลิต ผลิตเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลต่ำเป็นทางเลือกให้ประชาชนในการบริโภคเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพได้มากขึ้น ซึ่งผู้ผลิตเองก็มีภาพลักษณ์ที่ดีในสังคม และรัฐบาลยังสามารถนำรายได้ที่ได้จากการจัดเก็บภาษีไปใช้ในการดำเนินกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน รวมทั้งการจัดการปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวเนื่องกับการบริโภคน้ำตาลได้อีกด้วย

ด้าน ดร.ชญาดา ภัทราคม อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้นำเสนอผลการวิจัยว่า ถ้ามีการปรับขึ้นภาษีเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาล จนทำให้ราคาขายปลีกเพิ่มขึ้น 20% จะทำให้คนไทยลดการบริโภคน้ำตาลลงเฉลี่ยวันละ 2.122 กรัม กรณีการเก็บภาษีระยะสั้น และลดลงวันละ 2.562 กรัมในระยะยาว หรือลดการบริโภคเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาลลงไปประมาณ 55 - 65 มล. (1 ขวดเล็ก) หากต้องการให้การจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาลได้ผลดีมากขึ้นไปอีก ควรมีการดำเนินการในระยะยาว และให้เน้นการคุ้มครองกับเยาวชนเป็นกลุ่มแรก นอกจากนี้ ควรมีมาตรการอื่น ๆ เสริม เช่น ให้ความรู้แก่ประชาชนให้ตระหนักถึงผลเสียของการบริโภคน้ำตาลเกินขนาด ซึ่งจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคและดูแลสุขภาพตัวเองในระยะยาว

ดร.วิชช์ เกษมทรัพย์ อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า หลายคนมีความกังวลเกี่ยวกับการเก็บภาษีเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาลเกินมาตรฐานว่าอาจไม่ช่วยแก้ปัญหาและส่งผลกระทบต่อหลายภาคส่วน ซึ่งข้อมูลที่ได้จากการประชุมครั้งนี้ได้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า “การจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาลเกินมาตรฐาน” นั้น เป็นมาตรการที่ได้ผลมากที่สุดในการแก้ไขปัญหาพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยลดปัญหาโรคอ้วนและโรคเรื้อรังได้ นอกจากนี้ ยังไม่พบผลกระทบด้านลบที่เกิดต่อสังคมโดยรวม ในส่วนของประเทศไทย หากมีการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาลเกินมาตรฐานได้นั้น นับเป็นสัญญาณที่ดี และควรดำเนินการร่วมไปกับมาตรการอื่นๆ ซึ่งผลความสำเร็จของหลายประเทศได้พิสูจน์แล้วว่า การเก็บภาษีเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาลนั้นมีประสิทธิภาพประสิทธิผล ดังเช่น ประเทศอังกฤษ ในบางรัฐของประเทศสหรัฐอเมริกา และในหลาย ๆ ประเทศยังพยายามผลักดันให้มีการจัดเก็บภาษีอาหารที่ไม่จำเป็นและเสี่ยงต่อสุขภาพ เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และอินเดีย เป็นต้น หากประเทศไทยมีการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาลเกินมาตรฐาน ก็จะเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการเก็บภาษีเพื่อสุขภาพ

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น