xs
xsm
sm
md
lg

มทร.ธัญบุรีสร้างเครื่องแยกสี “เนื้อสับปะรด” ตามความสุก ต่อยอดใช้ระดับอุตสาหกรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นักวิจัย มทร.ธัญบุรี ประดิษฐ์เครื่องต้นแบบคัดแยกสีเนื้อสับปะรดตามความสุก 3 เฉดสี ผ่านการประมวลผลภาพ หวังใช้ในระดับอุตสาหกรรม ช่วยได้เนื้อสับปะรดสีเดียวกันในกระป๋องเดียว เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนค่าแรง

ผลงานล่าสุด ของ 2 นักวิจัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ดร.ฉัตรชัย ศุภพิทักษ์สกุล และ ผศ.ศิริชัย แดงเอม เครื่องต้นแบบคัดแยกสีของเนื้อสับปะรดสำหรับอุตสาหกรรมสับปะรดกระป๋อง ด้วยเทคนิคการประมวลผลภาพ แยกระดับสีความสุกของเนื้อสับปะรด ใช้ในกระบวนการผลิตสับปะรดกระป๋อง สิ่งประดิษฐ์จากนักวิจัยไทย ประสิทธิภาพเยี่ยมการันตีด้วย เหรียญทอง (ITEX Gold MEDAL) จาก Malaysian Invention and Design Society ในการประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์ ในงาน “27th International Invention & Innovation Exhibition” (ITEX’16) ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย จัดขึ้นโดย Malaysian Invention and Design Society (MINDS) ภายใต้เครือข่ายความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายในงานมีนักวิจัย และนักประดิษฐ์จากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษาทั่วโลกส่งผลงานเข้าร่วมประกวดและแสดงผลงานมากกว่า 1,000 ผลงาน มีผลงานสิ่งประดิษฐ์ จากนานาประเทศ เข้าร่วมกว่า 22 ประเทศ

ดร.ฉัตรชัย ศุภพิทักษ์สกุล เปิดเผยว่า ประเทศไทยถือเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูปจากสับปะรด อาทิเช่น สับปะรดกระป๋อง และ น้ำสับปะรด เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ถือว่าเป็นสินค้าส่งออกที่มีศักยภาพการแข่งขันสูงในตลาดโลก ประเทศไทยมีคู่แข่งที่สำคัญคือประเทศฟิลิปปินส์ เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันกับคู่แข่งต่างประเทศทั้งในด้านคุณภาพสินค้าและราคาต้นทุนการผลิต หนึ่งในกระบวนการ คือต้องพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องจักรเพื่อลดต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะด้านกำลังคนในสายการผลิตก่อนบรรจุสับปะรดลงกระป๋องต้องใช้คนจำนวนมากถึง 35 - 45 คนต่อสายการผลิต และในส่วนการคัดสีของเนื้อสับปะรดหลังการปอกเปลือกและหั่นเป็นแว่นแล้วต้องใช้คนงานถึง 10 - 13 คน ในการแยกความเข้มสีของเนื้อสับปะรดตามระดับความสุกก่อนบรรจุกระป๋อง เพื่อให้เนื้อสับปะรดในกระป๋องมีระดับสีที่ใกล้เคียงกันด้วยเหตุที่สับปะรดในลูกเดียวกันในส่วนหัวและท้ายในลูกเดียวกันมีความสุกไม่เท่ากัน

“กระบวนการในส่วนนี้ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก ทำให้โรงงานต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในรูปค่าแรง ค่าล่วงเวลา และค่าสวัดิการต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำทำให้บริษัทเหล่านี้ต้องแบกรับภาระเพิ่มขึ้นจนอาจนำสู่ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นและเป็นข้อจำกัดด้านการแข่งขันจากบรรดาผู้ส่งออกในระดับภูมิภาคเดียวกันที่มีค่าแรงถูกกว่า จากปัญหาที่กล่าวมาเป็นที่มาของงานวิจัย ในการทำเครื่องต้นแบบระบบคัดแยกสีของเนื้อสับปะรดในอุตสาหกรรมสับปะรดกระป๋องด้วยเทคนิคการประมวลผลภาพ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต ลดต้นทุนจากค่าแรงงาน และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในกลุ่มประเทศผู้ส่งออก โดยนำเอาเทคโนโลยีการประมวลผลภาพ และระบบการตรวจรู้ด้วยกล้อง (Machine Vision) มาประยุกต์ใช้ช่วยในการคัดแยกระดับความสุกของเนื้อสับปะรดจากเฉดสี และส่งสัญญาณการตรวจวัดระดับสีมาสั่งการให้ชุดคัดแยกสีทำการแยกสีระดับของเนื้อสับปะรด ซึ่งโดยทั่วไปสามารถแบ่งระดับความสุกได้สามระดับที่มีระดับความสุกใกล้เคียงกันก่อนบรรจุกระป๋องต่อไป” ดร.ฉัตรชัย กล่าว

ดร.ฉัตรชัย กล่าวว่า จากการค้นคว้า ระบบคัดแยกสีดังกล่าวยังไม่มีในประเทศไทย ปัญหาหลักในการคัดแยกอยู่ที่การแยกระดับสีความสุกของเนื้อสับปะรดมีความใกล้เคียงกันมาก แต่สายตาของคนสามารถแยกระดับสีของเนื้อสับปะรดได้ เนื่องด้วยอุปกรณ์ตรวจจับสีที่มีขายในท้องตลาดไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการแยกระดับความสุกได้ จึงต้องทำการวิจัยและออกแบบระบบตรวจวัดระดับสีความสุกของสับปะรด โดยการประยุกต์ใช้กล้องและเทคนิคด้านการประมวลผลภาพ พร้อมทั้งออกแบบอัลกอริทึมที่นำมาใช้ในการคัดแยกระดับสี และควบคุมระบบคัดแยก อีกทั้งทำเครื่องต้นแบบในการแสดงการทำงานระบบที่นำเสนอ ซึ่งสามารถคัดแยกระดับความสุกของสับปะรดตามเฉดสีได้ 3 ระดับ คือ 1. สับปะรดดิบ 2. สับปะรดสุก และ 3. สับปะรดสุกมาก  เครื่องต้นแบบในการตรวจแยกระดับความสุกของเนื้อสับปะรดอัตโนมัติ ที่สามารถนำไปติดตั้งในกระบวนการผลิตสับปะรดกระป๋อง ประกอบไปด้วยระบบ 2 หลัก คือ 1. ระบบตรวจระดับสีความสุกของเนื้อสับปะรด และ 2. ระบบคัดแยกเนื้อสับปะรดอัตโนมัติควบคุมการคัดแยกด้วยระบบนิวเมติกส์ ผู้สนใจเครื่องเครื่องต้นแบบคัดแยกสีของเนื้อสับปะรดสำหรับอุตสาหกรรมสับปะรดกระป๋อง ด้วยเทคนิคการประมวลผลภาพ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ หน่วยภาควิชาวิศกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี โทรศัพท์มือถือ 0867007212  E-mail:  chatchai.s@en.rmutt.ac.th



ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น