xs
xsm
sm
md
lg

ฟุัง! ศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพ ช่วยลดผู้ป่วยฟ้องร้องหมอ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สปสช. เผย “ศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพ” ช่วยดับไฟผู้ป่วย ลดฟ้องร้อง ระบุจำนวนร้องเรียนเฉลี่ย 4 พันรายต่อปี หลังไกล่เกลี่ยทำให้กรณีอุทธรณ์ต่อน้อยมาก พร้อมมอบโล่ศูนย์ฯ ดีเด่น ประจำปี 2558 แก่ รพ.ชัยภูมิ - รพ.หนองบัวระเหว

วันนี้ (21 มิ.ย.) ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ นพ.ชาตรี บานชื่น ประธานกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข เป็นประธานพิธีเปิดการสัมมนา “เครือข่ายงานคุ้มครองสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพ ประจำปี 2559” ภายใต้แนวคิด “เติบโตด้วยใจ ก้าวไปพร้อมกัน” (Growth Together) พร้อมมอบโล่ “ศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพในหน่วยบริการดีเด่น ประจำปี 2558” โดยมี นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา รักษาการเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นผู้กล่าวรายงานและให้การต้อนรับ และมีผู้แทนศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพในหน่วยบริการ 818 แห่งจากทั่วประเทศเข้าร่วมกว่า 500 คน

นพ.ชาตรี กล่าวว่า การคุ้มครองสิทธิและมาตรฐานคุณภาพบริการเป็นงานที่สำคัญ ซึ่งคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข สปสช. ได้ให้ความสำคัญอย่างมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ยอมรับว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างมาก และได้รับการชื่นชมไปทั่วโลก แต่ที่ผ่านมา ยังมีปัญหาทั้งผู้ให้บริการยังมีความสุขน้อย รวมทั้งปัญหางบประมาณ และเท่าที่ดูหลักเกณฑ์ควบคุมคุณภาพและมาตรฐานการรักษาพยาบาลที่ผ่านมาได้ดำเนินไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขตั้งแต่ปี 2545 ดังนั้น ในการทำงานจึงต้องเป็นการบูรณาการร่วมกัน

ทั้งนี้ ภาพรวมในการดำเนินงานนี้ ส่วนกลางมีคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) และคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข ขณะที่ระดับเขตมีคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพเขต (อปสข.) และคณะอนุกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานระดับเขตพื้นที่ 13 เขต ที่ปรับจากคณะอนุกรรมการระดับจังหวัด ซึ่งทั้งหมดต่างประสานการทำงานร่วมกัน สำหรับผลการดำเนินงานที่ปรากฏชัดเจน คือ ในส่วนของมาตรา 41 พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ในการเยียวยาผู้ที่รับผลกระทบจากการรับบริการสาธารณสุข โดยทั้ง 77 จังหวัด ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นับว่าเป็นสิ่งที่ประสบผลสำเร็จสูง สามารถดับไฟลดการฟ้องร้องลงได้ เป็นผลจากการเชื่อมโยงการดำเนินงานระหว่างศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพในหน่วยบริการฯ และศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน รวมกับการพัฒนามาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพ (Hospital Accreditation: HA)

นพ.ชาตรี กล่าวต่อว่า เมื่อดูจำนวนการร้องเรียนกรณีที่หน่วยบริการไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานการให้บริการสาธารณสุขที่กำหนด และกรณีที่ผู้รับบริการไม่ได้รับความสะดวกตามสมควร หรือตามสิทธิ ที่จะได้รับบริการสาธารณสุขที่กําหนด ที่ผ่านมา มีการร้องเรียนเฉลี่ยน 4,000 รายต่อปี หรือเฉลี่ยที่ 3 รายต่อแสนประชากร ดูเหมือนเป็นจำนวนที่มาก แต่เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนการรับบริการกว่าร้อยล้านครั้งต่อปี ถือเป็นจำนวนที่น้อยมาก ทั้งในจำนวนนี้ได้มีการแก้ไขปัญหาทำให้การอุทธรณ์มีไม่มาก จึงถือเป็นผลงานของศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพในหน่วยบริการ ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน และสายด่วน สปสช. 1330

“แม้ว่า ม.41 จากการดำเนินงานร่วมกันจะประสบผลสำเร็จ แต่ยังมีประเด็นที่ยังเป็นปัญหา คือ ม.42 ที่กำหนดให้ต้องมีการไล่เบี้ยหาผู้รับผิดชอบ โดยไปผูกกับเรื่องการเงิน ทั้งสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ชี้ประเด็นนี้ ซึ่งเป็นเรื่องขัดแย้งกับหลักการ ม.41 เยียวยาเบื้องต้นไม่พิสูจน์ถูกผิด ซึ่งแม้แต่ระบบประกันสังคมก็ยังเป็นปัญหาเช่นกันทั้งที่หลักการต้องไม่มีการไล่เบี้ย จึงต้องคิดว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป”

ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า การดำเนินงานด้านการคุ้มครองสิทธินับเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของการดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ผ่านมา สปสช. ได้สนับสนุนการสร้างกลไกต่าง ๆ โดยเน้นการสร้างความเข้าใจอันดีต่อกัน ภายใต้แนวคิด “เติบโตด้วยใจ ก้าวไปพร้อมกัน” ทั้งนี้ ปัจจุบันมีหน่วยงานซึ่งทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจำนวน 1,156 แห่ง แยกเป็น ศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพในโรงพยาบาล 818 แห่ง ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน 148 แห่ง หน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระตาม ม.50 (5) 114 แห่ง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 76 แห่ง และ สปสช. เขต 13 แห่ง รวมทั้งยังมีสายด่วน สปสช. 1330 ที่ไม่เพียงแต่แก้ปัญหาการเข้าถึงบริการให้กับประชาชน แต่ยังเป็นส่วนสำคัญที่นำไปสู่การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ทั้งนี้ ศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพในหน่วยบริการซึ่งได้รับคัดเลือกให้รับรางวัล “ศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพในหน่วยบริการดีเด่น ระดับประเทศ ปี 2558” ประเภทโรงพยาบาลศูนย์ มี 3 อันดับ คือ 1. รพ.ชัยภูมิ 2. รพ.สมเด็จพระบรมราชเทวี จ.ชลบุรี และ 3. รพ.เบตง จ.ยะลา และประเภทโรงพยาบาลชุมชน มี 3 อันดับ คือ 1. รพ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ 2. รพ.ตากใบ จ.นราธิวาส และ 3. รพ.สอยดาว จ.จันทบุรี

นพ.ชัยสิทธิ์ มัทวานนท์ ผู้อำนวยการ รพ.ชัยภูมิ กล่าวว่า สิ่งที่ รพ.ชัยภูมิ เน้นคือการเข้าถึงสิทธิของผู้ป่วย ประชาชนต้องรู้ว่าตนเองมีสิทธิอะไรบ้างในการรับบริการรักษาพยาบาลเพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิ ดังนั้นที่ผ่านมา รพ.ชัยภูมิ จึงได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ยริการหลักประกันสุขภาพในหน่วยบริการมากว่า 10 ปีแล้ว และภายหลังการก่อสร้างอาคารใหม่ยังย้ายศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพฯ ไปบริเวณด้านหน้าของ รพ. ที่เป็นเหมือนห้องรับแขก ทันทีที่ประชาชนเกิดปัญหารับบริการจะได้เข้าแจ้ง โดยทีมงานจะได้เข้าช่วยเหลือได้ทันที เป็นการสร้างความอุ่นใจให้กับประชาชน ขณะเดียวกันเมื่อเกิดเหตุร้องเรียนทีมงานไม่นิ่งนอนใจและเร่งประสานงานอย่างรวดเร็วเพื่อแก้ไขปัญหา โดย รพ. ยังได้ทำงานร่วมกับศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนเพื่อให้เกิดการดูแลที่ครอบคลุมมากที่สุด

ด้าน นพ.เฉิดพันธ์ ภัทรพงศ์สินธุ์ ผู้อำนวยการ รพ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ กล่าวว่า รพ.หนองบัวระเหวได้มีการจัดตั้งศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพในหน่วยบริการ ตั้งแต่เริ่มมีการดำเนินนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เนื่องจากผู้รับบริการกว่าร้อยละ 80 มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จึงมองว่าควรที่จะอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ตั้งแต่การให้ความรู้เรื่องสิทธิ การขึ้นทะเบียน การคุ้มครองการใช้สิทธิ รวมถึงการไกล่เกลี่ยปัญหาที่อาจเกิดขึ้น จึงให้ความสำคัญในเรื่องนี้ โดยดำเนินควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบคุณภาพและมาตรฐาน รพ. (HA) ซึ่งต่างเป็นสิ่งที่ช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของ รพ. เพื่อดูแลประชาชน

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น