xs
xsm
sm
md
lg

แนะเจ้าของตลาดทำความสะอาด-ลอกท่อ ป้องกันน้ำท่วม ลดเสี่ยงแพร่โรค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

กรมอนามัย แนะเจ้าของตลาดล้างตลาดถูกหลักสุขาภิบาล เน้นลอกท่อระบายน้ำรอบตลาด ป้องกันน้ำท่วมขังช่วงหน้าฝน ลดเสี่ยงโรคจากอาหารและน้ำ

นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ในฤดูฝนนี้อาจมีน้ำท่วมและน้ำขังในบริเวณตลาด ทำให้เกิดความสกปรก เฉอะแฉะ ส่งผลต่อความสะอาดของอาหารที่จำหน่าย เพื่อป้องกันความสกปรกปนเปื้อนลงสู่อาหาร และ เป็นการป้องกันโรคที่เกิดจากอาหารและน้ำเป็นสื่อ เจ้าของและผู้ประกอบการควรมีการล้างตลาดตามหลักสุขาภิบาลอย่างน้อยเดือนละครั้ง หรือหากมีการระบาดของโรคควรล้างตลาดเพิ่มเป็น 2 - 3 ครั้งต่อเดือน โดยเน้น 3 จุดสำคัญ ได้แก่ พื้น เขียง แผง เพราะเป็นจุดที่อยู่ใกล้ชิดและสัมผัสอาหารมากที่สุด ซึ่งการล้างตลาดที่ถูกหลักสุขาภิบาลมี 2 ขั้นตอนสำคัญ คือ ขั้นตอนที่ 1 การทำความสะอาด โดยการปัดกวาดหยากไย่ สิ่งสกปรกบนเพดาน ฝาผนัง โคมไฟ พัดลม ฯลฯ กวาดเศษขยะตามพื้น ทางเดิน ระบายน้ำ แผงและเขียงจำหน่ายอาหาร จากนั้นขัดด้วยผงซักฟอกหรือโซดาไฟ เพื่อกำจัดคราบสกปรกตามพื้น ทางเดิน รางระบายน้ำ เขียง หรือแผง แล้วใช้น้ำฉีดล้างให้สะอาด ขั้นตอนที่ 2 การฆ่าเชื้อโรค โดยใช้น้ำผสมผงปูนคลอรีน 60 เปอร์เซ็นต์ อัตราส่วน 1 ช้อนชาต่อน้ำ 20 ลิตร ใส่ลงในฝักบัวรดน้ำ และรดบริเวณพื้น ทางเดิน เขียง แผง ทางระบายน้ำเสียให้ทั่ว จากนั้นปล่อยทิ้งไว้เพื่อให้คลอรีนฆ่าเชื้อโรค นอกจากนั้น ควรมีการสำรวจท่อระบายน้ำรอบตลาดอยู่เสมอ หากอุดตัน หรือสกปรก มีขยะไปสะสมควรทำการลอกท่อระบายน้ำดังกล่าวทันที

นพ.ดนัย กล่าวว่า บริเวณห้องน้ำ ห้องส้วม อ่างล้างมือ ที่ปัสสาวะและก๊อกน้ำสาธารณะที่ใช้ในตลาดต้องทำความสะอาดโดยใช้น้ำยาทำความสะอาด หรือผงซักฟอกช่วย และล้างด้วยน้ำสะอาด เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายโรคที่เกิดจากอาหารและน้ำเป็นสื่อได้ โดยเฉพาะจุดเสี่ยง ได้แก่ สายฉีดชำระ พื้นห้องส้วม ที่รองนั่งส้วมแบบ นั่งราบ ที่กดน้ำ ก๊อกน้ำ และกลอนประตู ที่สามารถติดต่อจากการสัมผัสสิ่งขับถ่ายที่ปนเปื้อนเชื้อโรค จึงต้องมีการทำความสะอาดเป็นประจำ และขณะเดียวกัน ผู้ใช้บริการควรมีพฤติกรรมการใช้ส้วมสาธารณะอย่างถูกต้อง ไม่ขึ้นไปเหยียบบนโถส้วมแบบนั่งราบ ไม่ทิ้งวัสดุอื่นใดนอกจากกระดาษชำระลงโถส้วม ราดน้ำ หรือกดชักโครกทุกครั้งหลังการใช้ส้วม และล้างมือด้วยสบู่และน้ำให้สะอาดทุกครั้งหลังใช้ส้วมเพื่อช่วยกันดูแลรักษาความสะอาดของส้วมในสถานบริการและลดจุดเสี่ยงของการเป็นแหล่งแพร่ระบาดของโรค

“ทั้งนี้ การที่ประชาชนจะได้รับอาหารสดที่สะอาด ปลอดภัย ต้องเลือกซื้อสินค้าจากตลาดสดที่ได้มาตรฐาน ตลาดสดน่าซื้อของกรมอนามัย เพราะมีการพัฒนาแล้วทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม เช่น โครงสร้างตลาดต้องมีความมั่นคงแข็งแรง สะอาด อากาศถ่ายเทสะดวก มีการจัดการขยะ น้ำเสีย และจัดวางสินค้าเป็นระเบียบเรียบร้อย แผงจำหน่ายอาหารต้องอยู่สูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 60 เซนติเมตร ผู้ขายหรือพ่อค้าแม่ค้าแต่งกายสะอาด ผู้ปรุงใส่ผ้ากันเปื้อนที่สะอาด สวมหมวก หรือ เน็ตคลุมผม 2) ด้านความปลอดภัยของอาหาร มีการตรวจสอบและไม่พบสารปนเปื้อนในอาหาร 5 ชนิด ได้แก่ สารฟอร์มาลิน สารกันรา สารบอแรกซ์ สารฟอกขาว และยาฆ่าแมลง และ 3) ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้ประกอบกิจการตลาดต้องจัดบอร์ดให้ความรู้แก่ผู้บริโภคในเรื่องเกี่ยวกับอาหารปลอดภัย จัดจุดทดสอบสารปนเปื้อนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และมีเครื่องชั่งกลางที่ได้มาตรฐานไว้บริการ ซึ่งในปัจจุบันมีตลาดสดทั่วประเทศได้รับการรับรองมาตรฐานตลาดสดน่าซื้อถึง 1,351 แห่ง” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น