xs
xsm
sm
md
lg

หน้าฝนอากาศชื้น เกิดเชื้อราในบ้านง่าย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

กรมอนามัย เผยช่วงหน้าฝน อากาศชื้น เกิดเชื้อราภายในบ้านได้ง่าย หวั่นส่งผลกระทบต่อสุขภาพ แนะทำความสะอาดให้ถูกหลักสุขาภิบาล

นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ในช่วงฤดูฝน ทำให้อากาศภายในบ้านมีความชื้นสูง และฝนตกหนักอาจทำให้เกิดน้ำท่วมและน้ำขังในพื้นที่ต่าง ๆ รวมถึงในบริเวณบ้าน และหากมีรูรั่วหรือรอยแตกของบ้าน อาจมีน้ำซึม น้ำรั่วไหลเข้าภายในบ้าน ทำให้ส่วนต่าง ๆ ของบ้านเปียกและอับชื้นเกิดเป็นแหล่งของเชื้อราได้ ซึ่งเชื้อรานั้นพบได้ในธรรมชาติ ทั้งจากในบ้านและนอกบ้าน โดยเชื้อราจะสร้างสปอร์สำหรับสืบพันธุ์ เมื่อสปอร์ของเชื้อราลอยไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีความชื้นและอาหารที่เหมาะสม จะทำให้เชื้อราเจริญเติบโต สีของเชื้อรา มีตั้งแต่สีดำ น้ำตาล เขียว แดง เหลือง และ ขาว สามารถพบได้เป็นกลุ่ม ๆ ในบริเวณที่มีความอับชื้น เช่น ฝ้าและผนัง เพดาน เฟอร์นิเจอร์ ใต้พรม เครื่องนอน เครื่องปรับอากาศ หากสปอร์ของเชื้อราเข้าสู่ร่างกายจะทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพต่าง ๆ ตามมา เช่น หากเข้าตาและจมูกจะทำให้เกิดการระคายเคือง มีอาการจาม น้ำมูกไหล มีไข้ บางรายก่อให้เกิดโรคหอบหืด ภูมิแพ้ และปอดอักเสบในที่สุด

นพ.ดนัย กล่าวว่า ประชาชนต้องจัดการสิ่งแวดล้อมภายในบ้านให้ถูกสุขลักษณะ เป็นระเบียบเรียบร้อย สะอาด มีการระบายอากาศที่ดีและมีแสงสว่างจากธรรมชาติส่องเข้าถึงภายในบ้าน เพื่อลดความชื้น ลดฝุ่นละออง ลดแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรคภายในบ้าน และลดโอกาสของการเกิดโรคภูมิแพ้ โดยเฉพาะบ้านที่มีเด็กเล็กหรือคนชราซึ่งเป็นกลุ่มอ่อนไหวต่อการเกิดปัญหาสุขภาพ การจัดบ้านให้ถูกสุขลักษณะอย่างง่าย เช่น ห้องนอน ต้องมีอากาศถ่ายเทได้สะดวกโดยเริ่มตั้งแต่เปิดประตู หน้าต่าง และควรเปิดรับแสงสว่างจากธรรมชาติเป็นประจำ ห้ามเปิดพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศขณะทำความสะอาดบ้านหรือขณะกำจัดเชื้อรา เพราะจะทำให้สปอร์เชื้อราฟุ้งกระจาย นอกจากนี้ ควรทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคในเครื่องใช้ เครื่องเรือน เครื่องนอน และเฟอร์นิเจอร์ เช่น ฟูก ที่นอน หมอน พรม เป็นประจำ ส่วนวอลล์เปเปอร์หรือฉนวนกันความร้อนที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีกต้องนำไปทิ้งในถุงที่ปิดมิดชิดโดยทันที เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของเชื้อรา

“ทั้งนี้ สามารถเช็ดทำความสะอาดบ้านเรือนที่ปนเปื้อนเชื้อราได้ 3 ขั้นตอน คือ 1) พื้นผิววัสดุที่พบเชื้อราให้ใช้กระดาษทิชชูแผ่นหนาและขนาดใหญ่ หรือกระดาษหนังสือพิมพ์พรมน้ำให้เปียกเล็กน้อย เช็ดพื้นผิวไปในทางเดียว แล้วนำกระดาษทิชชูหรือกระดาษหนังสือพิมพ์ดังกล่าวทิ้งลงในถังขยะที่ปิดมิดชิด 2) ใช้กระดาษทิชชูแผ่นหนาและขนาดใหญ่ หรือกระดาษหนังสือพิมพ์ชุบลงในน้ำผสมกับสบู่ หรือน้ำยาล้างจาน เช็ดซ้ำในจุดที่มีเชื้อราอีกครั้ง 3) ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อรา เช่น น้ำส้มสายชู 5 - 7 เปอร์เซ็นต์ หรือแอลกอฮอล์ความเข้มข้น 60 - 90 เปอร์เซ็นต์ เช็ดทำความสะอาดเพื่อเป็นการทำลายเชื้อในขั้นตอนสุดท้าย ดังนั้น ในช่วงฤดูฝนนี้ขอให้ประชาชนร่วมกันดูแลรักษาบ้านเรือนของท่านเอง เพื่อป้องกันปัญหาเชื้อรา เชื้อโรค และฝุ่นละออง อันเป็นการส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดีของคนในครอบครัวต่อไป” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น