xs
xsm
sm
md
lg

ร้านอาหารข้างทางไม่สะอาด 60% แนะเลือกร้านมีป้าย Clean Food Good Taste

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมอนามัยสำรวจพบร้านอาหารแผงลอย 8 จังหวัด ไม่ผ่านเกณฑ์ เจอการปนเปื้อนเชื้อและสารต่าง ๆ ถึง 60% เตือนกินอาหารร้านริมถนนคำนึงถึงความปลอดภัย เลือกร้านมีป้าย Clean Food Good Taste

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ขณะนี้มีแผงลอยจำหน่ายอาหารที่เข้าร่วมโครงการอาหารสะอาด รสชาติอร่อย หรือ CFGT รวมทั้งสิ้น 96,742 แผง ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน จำนวน 81,792 แผง คิดเป็นร้อยละ 84.55 นับว่าเป็นจำนวนที่สูง แต่จากรายงานข้อมูลเฝ้าระวังโรคจากสำนักระบาดวิทยา ปี 2558 กลับพบผู้ป่วยโรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำเป็นสื่อที่สูงเช่นกัน คือ โรคอุจจาระร่วง 1,097,751 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 1685.61 ต่อแสนประชากร และโรคอาหารเป็นพิษ 129,638 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 199.06 ต่อแสนประชากร

นพ.วชิระ กล่าวว่า กรมอนามัยจึงได้ดำเนินการคุมเข้มด้านสุขลักษณะและข้อกำหนดพื้นฐานของแผงลอยจำหน่ายอาหารริมบาทวิถี โดยส่งเสริมและผลักดันให้ท้องถิ่นมีการนำกฎหมายไปบังคับใช้ในเรื่อง 1) การอนุญาตจำหน่ายสินค้าในที่หรือทางสาธารณะ 2) ผ่านเกณฑ์ข้อกำหนดด้านสุขาภิบาลอาหารสำหรับแผงลอยจำหน่ายอาหาร 12 ข้อ และเกณฑ์การตรวจการปนเปื้อนแบคทีเรียโคลิฟอร์มภาคสนาม 3) ผู้จำหน่ายอาหารริมบาทวิถีต้องมีความรู้ หรือผ่านการอบรมด้านสุขาภิบาลอาหารตามหลักสูตรที่กรมอนามัยกำหนด 4) ผู้จำหน่ายอาหารริมบาทวิถีมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่เป็นโรคติดต่อที่ผ่านทางอาหารและน้ำเป็นสื่อ และ 5) ตั้งถูกที่ ในเขตหรือบริเวณที่ได้รับการอนุญาตจากหน่วยงานราชการท้องถิ่น ขณะที่ผู้บริโภคควรเลือกซื้อร้านจำหน่ายอาหารริมบาทวิถีที่มีป้ายรับรองมาตรฐานอาหารสะอาดของหน่วยงานราชการท้องถิ่น หรือใบอนุญาตที่ติดที่แผงลอย เช่น ป้ายมาตรฐานอาหารสะอาด รสชาติอร่อย Clean Food Good Taste ผู้จำหน่ายอาหารต้องแต่งกายสะอาด ตัดเล็บสั้น ไม่ใส่เครื่องประดับที่มือ ล้างมือก่อนสัมผัสอาหารทุกครั้ง ภาชนะใส่อาหารต้องสะอาด จัดเก็บเป็นระเบียบ ควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภทที่ไม่ผ่านความร้อน อาหารประเภทยำต่าง ๆ อาหารทะเลที่ลวกสุก ๆ ดิบ ๆ และควรล้างมือทุกครั้งก่อนกินอาหาร หลังเข้าห้องน้ำหรือหลังหยิบจับสิ่งสกปรก ที่สำคัญ ให้ยึดหลักกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ เพื่อสร้างสุขอนามัยที่ดี

“ในปี 2558 กรมอนามัย ได้ดำเนินการเฝ้าระวังแผงลอยจำหน่ายอาหารในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชลบุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ชัยนาท สมุทรสาคร ขอนแก่น อำนาจเจริญ และระนอง ในแผงลอยจำหน่ายอาหาร 154 แผง ไม่ผ่านเกณฑ์ฯ 100 แผง คิดเป็นร้อยละ 64.94 ซึ่งพบการปนเปื้อนเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรียในอาหารพร้อมบริโภค ร้อยละ 34.84 ผักสด ร้อยละ 66.49 น้ำดื่ม ร้อยละ 18.44 น้ำแข็ง ร้อยละ 34.43 เครื่องดื่ม ร้อยละ 12.5 มือผู้สัมผัสอาหาร ร้อยละ 31.54 และภาชนะอุปกรณ์ ร้อยละ 15.14 และได้ตรวจสารที่ปนเปื้อน 4 ชนิด ได้แก่ ฟอร์มาลิน สารกันรา สารบอแรกซ์ และสารฟอกขาว โดยพบฟอร์มาลินปนเปื้อนมากที่สุด โดยเฉพาะในภาคเหนือ และภาคอีสาน ส่วนใหญ่พบในปลาหมึกสด และปลาหมึกอาร์เจนตินา ส่วนข้อกำหนดที่ไม่ผ่านเกณฑ์ฯ ด้านกายภาพ 3 อันดับแรก ได้แก่ การล้างภาชนะที่ยังไม่ถูกสุขลักษณะ การแต่งกายของผู้สัมผัสอาหารไม่ปกปิดอาหารปรุงสุก และการรวบรวมมูลฝอยและเศษอาหารไปกำจัดไม่ถูกต้องในช่วงหน้าร้อนนี้ จึงต้องระมัดระวังเลือกบริโภคจากร้านริมฟุตปาทที่ได้รับการตรวจสุขลักษณะและอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น โดยสังเกตจากใบอนุญาตหรือบัตรประจำตัว หรือป้ายรับรองดังกล่าว” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น