xs
xsm
sm
md
lg

ฝึก “สติ” ช่วยลดเครียด ซึมเศร้า สารพัดโรค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สธ. เผยคนไทยป่วยวิตกกังวลกว่า 1.6 ล้านคน แนะ “ฝึกสติ” ช่วยพัฒนาจิตใจ ช่วยสุขภาพจิตดี ลดความเครียด ซึมเศร้า ปวดเรื้อรัง นอนไม่หลับ ไมเกรน ภูมิแพ้ หอบหืด

วันนี้ (8 มิ.ย.) นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเปิดการประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 15 และประชุมวิชาการสุขภาพจิตและจิตเวชเด็ก ครั้งที่ 13 ปี 2559 ประเด็น “สติ วิถีแห่งสุขภาพดี” โดยมีเครือข่ายสุขภาพจิตที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวม 12 ประเทศเข้าร่วม ว่า สุขภาพที่ดีต้องดีทั้งร่างกายและจิตใจ ทั้งนี้ ผลสำรวจระบาดวิทยาสุขภาพจิตของคนไทยระดับชาติล่าสุด ปี 2556 พบว่า คนไทยร้อยละ 1.8 หรือประมาณ 9 แสนคน เป็นโรคซึมเศร้า ขณะที่ร้อยละ 3.1 หรือประมาณ 1.6 ล้านคน เป็นโรควิตกกังวล ทั้งนี้ ปัจจุบันประชาชนเริ่มมีความตระหนักและต้องการพัฒนาตนเอง โดยเฉพาะการพัฒนาจิตใจ การฝึกสติจึงเป็นวิธีที่ได้ผลดี ค่าใช้จ่ายต่ำและเหมาะสมกับวิถีชีวิตทางสังคม การใช้ในชีวิตประจำวันได้ ทั้งในการทำงาน สร้างสัมพันธภาพในสังคม และการดูแลสุขภาพ

“สธ. จึงให้ความสำคัญในแนวคิด สติ วิถีแห่งสุขภาพดีที่มุ่งให้สุขภาพดีและอยู่อย่างเป็นสุข ทุกช่วงวัย สมบูรณ์ทั้งทางกาย จิตใจ และสังคม ด้วยการฝึกสติ ซึ่งมีการศึกษาวิจัยทั้งในและต่างประเทศ พบว่า การฝึกสติเป็นประจำและสม่ำเสมอจะช่วยป้องกัน บรรเทาและบำบัดอาการเจ็บป่วยได้อย่างหลากหลาย รวมถึงอาการที่เกิดจากความเครียด เช่น ความวิตกกังวล อาการซึมเศร้า พฤติกรรมเสพติด โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยเฉพาะอาการปวดเรื้อรัง นอนไม่หลับ ไมเกรน ภูมิแพ้ หอบหืด เป็นต้น” นพ.โสภณกล่าว

ด้าน นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การจัดประชุมวิชาการครั้งนี้ มุ่งส่งเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิต ป้องกันโรค ลดความเสี่ยงด้านสุขภาพ ตลอดจนลดค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษานั้น เป็นการต่อยอดระบบสุขภาพให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ในการดูแลผู้ป่วยสุขภาพจิต จะเน้นการค้นพบผู้ป่วยให้เร็วที่สุดเพราะ 90% ของผู้ป่วยหาที่ค้นพบเร็ว ได้รับการรักษาฟื้นฟู และได้รับยาอย่างต่อเนื่อง ก็จะทำให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตและทำงานได้อย่างบุคคลทั่วไป แต่สิ่งที่ต้องพึงระวัง คือ ห้ามให้ผู้ป่วยใช้สารเสพติด หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากสิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวกระตุ้นให้อาการของผู้ป่วยกำเริบได้

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สำหรับปัญหาสุขภาพจิตเด็กที่ต้องมีการจับตาเป็นพิเศษรวมถึงร่วมกันป้องกันและแก้ไขปัญหา คือ เรื่องการใช้ความรุนแรงในเด็กและเยาวชน ที่ปัจจุบันมักพบเด็กและเยาวชนถูกกระทำความรุนแรงได้ในทุกช่วงวัย ซึ่งการใช้ความรุนแรงนั้นยังหมายถึงการที่เด็กถูกเพื่อนแกล้งที่โรงเรียนด้วย เพราะการแกล้งเพื่อนอาจนำไปสู่พฤติกรรมการใช้ความรุนแรงในอนาคตได้ ด้วยเหตุนี้จึงต้องปลูกฝังตั้งแต่วัยเรียน อย่างไรก็ตาม ในการดูแลปัญหาสุขภาพจิตเด็กและแก้ปัญหาการใช้ความรุนแรงนั้น หลัก ๆ ที่เห็นชัดเจน คือ การที่กรมสุขภาพจิตได้ร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ ในการทำโครงการนำร่องนักจิตวิทยาโรงเรียน เพื่อคอยให้คำปรึกษาและแก้ไขปัญหาให้กับได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น