“แพทย์แผนจีน” บูม รพ.ยันฮี ประกาศเจาะตลาดลูกค้านิยมรักษาด้วยแพทย์ทางร่วม ใช้งบประมาณกว่า 20 ล้านบาท จัดตั้งศูนย์ฯ ใหม่ รักษาโรคได้ครบวงจรด้วยการรักษาแบบแพทย์แผนจีนเต็มรูปแบบ ครอบคลุมฝังเข็ม ครอบแก้ว กวาซา ปล่อยเลือด เมล็ดผักกาดแปะหู อบความร้อนด้วยโคม ประคบด้วยยาสมุนไพร รมยา ทุยหนา การแมะ ยาสมุนไพรจีน ตั้งเป้าปีนี้ ดึงลูกค้ามาใช้บริการ 10% จากลูกค้าที่มารับบริการในโรงพยาบาล
พจ.ศุภชัย ชุณหสวัสดิกุล แพทย์จีนประจำโรงพยาบาลยันฮี เปิดเผยว่า ทางโรงพยาบาลยันฮีได้มีแผนการขยายศูนย์การแพทย์แผนจีนซึ่งมองว่าเป็นตลาดใหม่ที่น่าสนใจ ปัจจุบันพบว่าความนิยมได้แพร่หลายไปในหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทย โดยองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้ให้การยอมรับศาสตร์การแพทย์แผนจีนเป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาโรคควบคู่ไปกับการแพทย์แผนปัจจุบัน ทำให้มั่นใจได้ว่า ศูนย์แพทย์แผนจีนมีช่องว่างการตลาดโอกาสการเติบโตสูง
สำหรับการจัดตั้งศูนย์แพทย์แผนจีนนั้น ใช้งบประมาณรวมกว่า 20 ล้านบาท ครอบคลุมเรื่องการปรับปรุงพื้นที่ เครื่องมือและอุปกรณ์ที่สั่งนำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด รวมทั้งสมุนไพรที่ใช้ในการรักษาโรคอีกกว่า 100 รายการ ซึ่งแพทย์จีนสามารถปรุงยาและจ่ายยาให้ลูกค้าแต่ละคนได้ตรงกับโรคที่เป็น ทำให้ลูกค้าเกิดความมั่นใจสูงสุด
สำหรับโรคที่ให้การรักษานั้น พจ.ศุภชัยกล่าวว่า แพทย์แผนจีนสามารถรักษาได้ทุกโรคเช่นเดียวกับแพทย์แผนปัจจุบัน เพราะการรักษาแบบแพทย์แผนจีนจะมุ่งสร้างสมดุลให้แก่ร่างกายจนทำให้ร่างกายแข็งแรง ดังนั้น ท่านที่มีปัญหาสุขภาพไม่ว่าจะเป็นอาการผิดปกติที่ระบบใด สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาตามศาสตร์แพทย์แผนจีนได้ เช่น โรคที่เกี่ยวกับระบบการสืบพันธุ์ของสตรี เช่น ปวดประจำเดือน รอบเดือนมาไม่ปกติ มีบุตรยาก อาการวัยทอง โรคเกี่ยวกับระบบลำไส้ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ปวดศีรษะ
ไมเกรน ภูมิแพ้ โรคซึมเศร้า โรคเกี่ยวกับความเครียด คิดมาก วิตกกังวล นอนไม่หลับ โรคเกี่ยวกับระบบประสาท อัมพฤกษ์ อัมพาต เส้นเลือดตีบ อ่อนเพลียเรื้อรัง ฯลฯ เมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยโรคหรืออาการต่างๆ ก่อนที่แพทย์จะทำการรักษา แพทย์จะต้องทำการตรวจวินิจฉัยตามหลักแพทย์แผนจีนก่อน
พจ.ศุภชัยกล่าวถึงการรักษาโรคตามศาสตร์แพทย์แผนจีนว่ามีด้วยกันหลายวิธี โดยเน้นการรักษาตามโรคและอาการของคนไข้แต่ละคน เช่น 1. การฝังเข็ม แพทย์จะใช้เข็มฝังไปที่จุดฝังเข็มบนเส้นลมปราณ เพื่อทำให้อาการผิดปกติ หรือโรคที่เป็นดีขึ้น 2. การครอบแก้ว แพทย์จะครอบแก้วไปตรงตำแหน่งรอยโรค เช่น บริเวณหลัง ซึ่งความร้อนภายในแก้วจะทำให้รูขุมขนในบริเวณดังกล่าวเปิดออก และเกิดการแลกเปลี่ยนความร้อนกับความชื้นและความเย็นภายในผิว ส่งผลให้เลือดลมภายในไหลเวียนได้สะดวกมากขึ้น 3. การรมยาโดยอาศัยความร้อนเผาที่ตัวยาสมุนไพร ส่งผ่านความร้อนเข้าสู่ชั้นผิวหนัง เกิดการไหลเวียนของเลือด ขับความชื้นและความเย็นในร่างกาย ลดอาการบวม ลดอาการปวดประจำเดือน ปรับสมดุลร่างกาย 4. การทุยหนา เป็นการรักษาโดยการใช้ท่านวดลักษณะต่างๆ นวดลงบนจุดลมปราณ หรือตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เพื่อการป้องกันโรค ปรับสมดุลของอวัยวะต่างๆ ส่งเสริมสุขภาพ 5. กดจุดที่หู การรักษาสามารถทำได้โดยแปะเม็ดยาที่หู หรือแปะเม็ดแม่เหล็กที่หู แทนการฝังเข็มที่หู 6. การใช้ยาสมุนไพรจีน ซึ่งแพทย์สามารถปรุงยาได้เองด้วยเครื่องต้มยาที่ทันสมัย
“เราตั้งเป้ารายได้ในปีนี้ประมาณ 10% จากรายได้รวมของโรงพยาบาล โดยกลุ่มเป้าหมายยังคงเป็นคนไข้เดิมที่เคยมาใช้บริการ มีการบอกต่อ และคนไข้ใหม่ที่ต้องการรักษาด้วยแพทย์แผนจีน ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะมีอัตราการเติบโต เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 5-10% ต่อปี” นพ.ศุภชัยกล่าว