xs
xsm
sm
md
lg

อย.เอาผิดผัวเมียเวียดนาม ทำ “น้ำส้มคั้นปลอม” เจอ 3 ข้อหาหนัก เร่งตรวจหาสารอื่น-เชื้อโรค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อย. เร่งเอาผิดคู่ผัวเมียเวียดนาม 3 ข้อหา ทำน้ำส้มคั้นปลอมหลอกขาย ชี้ สถานที่ผลิตไม่ได้รับอนุญาต ไม่ถูกสุขลักษณะ ใช้ส่วนประกอบอื่นเทียมส้มคั้น โทษสูงสุดคุก 10 ปี ปรับ 100,000 บาท เร่งส่งตรวจกรมวิทย์ หากพบเชื้อโรคโดนข้อหาอาหารไม่บริสุทธิ์อีกกระทง ย้ำน้ำส้มมีความหวาน ไม่ต้องใส่ขัณฑสกร นักวิชาการแนะเลือกซื้อน้ำส้มคั้นสดจากมือแม่ค้า

จากกรณีตำรวจ สภ.มวกเหล็ก จับคู่สามีภรรยาชาวเวียดนาม ผสมน้ำส้มคั้นปลอมบรรจุขวดพลาสติก หลังจากมีการแฉผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งมีการระบุว่า วิธีทำน้ำส้มปลอมใส่ขัณฑสกรนิดเดียวลงถังกาละมังซักผ้า แล้วเติมน้ำก๊อกผสมสีส้ม

วันนี้ (23 พ.ค.) นพ.ประสิทธิ์ชัย มั่งจิตร รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) สระบุรี กล่าวว่า สสจ.สระบุรี และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้เข้าตรวจสอบสถานที่ที่มีการระบุว่า มีการผลิตน้ำส้มคั้นบรรจุขวดที่อาจจะไม่ปลอดภัยต่อการบริโภค โดยเข้าตรวจสอบ 2 แห่งที่ อ.มวกเหล็ก และ อ.เมือง พบผู้กระทำผิดรวม 4 คน แห่งละ 2 คน เป็นชาวเวียดนาม เบื้องต้นได้แจ้งข้อหาจำหน่ายอาหารปิดสนิทโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งจะมีโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท ทั้งนี้ บริเวณที่เข้าตรวจสอบพบน้ำหวาน น้ำส้มสำเร็จรูป และส้มสดจำนวนหนึ่ง ซึ่งเจ้าหน้าที่ สสจ. ได้ส่งตัวอย่างน้ำส้มคั้นบรรจุขวดที่ผู้ต้องหาผลิตไปยังกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อตรวจสอบว่ามีการปนเปื้อนของสารอื่น ๆ ร่วมด้วยหรือไม่ หากพบว่ามีสิ่งที่เป็นอันตรายหรือสิ่งที่กฎหมายห้ามใช้ก็จะแจ้งข้อหาเพิ่มเติม

นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า กรณีนี้มีความผิดหลายอย่าง ที่ อย. เอาผิดได้ทันที คือ 1. สถานผลิตไม่ได้รับอนุญาต 2. ลักษณะการผลิตไม่ถูกสุขลักษณะตามที่กำหนด มีโทษทั้งจำทั้งปรับ 3. มีการใช้ส่วนประกอบอื่นทำเทียมส้มคั้น ถือว่าเป็นเครื่องดื่มปลอม มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 10 ปี ปรับ 5,000 - 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ 4. หากตรวจพบว่าในน้ำส้มดังกล่าวมีเชื้อโรค มีจุลินทรีย์ก่อโรค มีการผสมสารต้องห้ามด้วยจะถือว่าเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ ไม่ปลอดภัย มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท แต่ส่วนนี้ต้องรอผลการตรวจวิเคราะห์ก่อน ถ้ามีการผสมขัณฑสกร ซึ่งเป็นสารทดแทนความหวาน ซึ่งอนุญาตให้ใช้กับบางอย่างนั้น แต่น้ำส้มคั้นสดไม่จำเป็นต้องใส่เพราะมีความหวานในตัวของมันเองอยู่แล้ว

ด้าน รศ.ดร.พรรัตน์ สินชัยพานิช หัวหน้าหน่วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหาร สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การเลือกซื้อน้ำส้มคั้นสดให้ได้ของจริง ทางที่ดีที่สุด คือ ให้พ่อค้าแม่ค้าคั้นสดให้ขณะที่ไปซื้อ ที่สำคัญต้องสังเกตว่านำน้ำส้มที่คั้นสดจริง ๆ มาบรรจุขวดให้ลูกค้า เพราะบางครั้งพบว่า แม่ค้าเพียงแค่คั้นโชว์ แต่ตอนบรรจุใส่ขวดจะนำน้ำส้มจากที่มีการปรุงรสรอไว้ในภาชนะแล้วมาให้ลูกค้าแทน นอกจากนี้ ส้มที่คั้นจากอุปกรณ์ที่แม่ค้าใช้นั้นจะเป็นการคั้นที่หยาบและมีแรงบีบ ทำให้ได้น้ำส้มที่ที่มีเนื้อส้มผสมและมีกลิ่นของผิวเปลือกส้ม น้ำส้มคั้นแท้จึงมีเนื้อส้มผสม ไม่เนียนเหมือนน้ำใส และมีกลิ่นเปลือกส้ม นอกจากนี้ น้ำส้มคั้นแท้เมื่อคั้นทิ้งไว้ระยะเวลาหนึ่งน้ำจะมีการแยกชั้น ซึ่งเวลาในการแยกชั้นของน้ำส้มจะไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับชนิดของส้ม เช่น ส้มต่างประเทศอย่างส้มซันคิสต์ อาจใช้เวลานานกว่าจะมีการแยกชั้น

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และโฆษก สธ. กล่าวถึงกรณีตำวจจับกุมการทำน้ำส้มคั้นปลอมที่ จ.สระบุรี ว่า สถานที่ผลิตดังกล่าว เป็นบ้านเช่าที่มีการผลิตน้ำส้มปลอม โดยใช้น้ำส้มผสมขัณฑสกรเทลงในถังขนาดใหญ่ ก่อนจะเติมน้ำประปา แต่งสีและบรรจุขวดพลาสติกก่อนนําไปวางขายบนรถเข็นตามท้องตลาด นอกจากนี้ ยังมีการผลิตน้ำทับทิมปลอมด้วย เจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สระบุรี ได้ดําเนินการปิดสถานที่ผลิต ยึด อายัด อุปกรณ์ในการผลิต และนําตัวผู้ผลิตทั้งหมดส่งสถานีตํารวจแล้ว เบื้องต้นได้แจ้งข้อหากับผู้กระทำผิดรวม 2 ข้อหา คือ 1. ไม่มีการแสดงฉลาก ฝ่าฝืนมาตรา 6 (10) แห่ง พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท 2. อาหารไม่บริสุทธิ์ เนื่องจากผลิต บรรจุ หรือเก็บรักษาไม่ถูกสุขลักษณะ ฝ่าฝืนมาตรา 25 (1) แห่ง พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 มีโทษจําคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือ ทั้งจําทั้งปรับ และได้ส่งตัวอย่างน้ำส้มคั้นบรรจุขวดที่ผู้ต้องหาผลิตไปยังกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อตรวจสอบว่ามีการปนเปื้อนของสารอื่น ๆ ร่วมด้วยหรือไม่

ทั้งนี้ ได้กำชับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศให้เฝ้าระวัง ตรวจสอบคุณภาพอาหารและเครื่องดื่ม อย่างต่อเนื่อง เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ฝากเตือนประชาชนให้เลือกซื้อและรับประทานอาหารที่ไว้ใจได้ สะอาด มีฉลาก อย. ระบุสถานที่ผลิต วันเดือนปีที่ผลิต เพื่อความปลอดภัย หากพบเห็นมีข้อสงสัยหรือพบการกระทำผิด แจ้งสายด่วนผู้บริโภค โทร. 1556 ตลอด 24 ชั่วโมง



ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น