xs
xsm
sm
md
lg

มวล.เผยมั่นใจ! ปูเสื่อรอ สตง.เข้าตรวจสอบ หลังทหาร มทบ.41 เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
นครศรีธรรมราช - มวล.เผยมั่นใจในกระบวนการตรวจสอบเป็นครั้งแรก หลังจากทหาร มทบ.41 เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน ระบุทำการบันทึกภาพ และวิดีโอทุกขั้นตอนก่อนส่งให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเป็นหลักฐาน

วันนี้ (22 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช เจ้าหน้าที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภาค 14 และเจ้าหน้าที่ทหารจากมณฑลทหารบกที่ 41 จำนวน 4 นาย ได้เข้ามาติดตาม และตรวจสอบการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย ที่มีจดหมายบันทึกมาก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ มีเหตุการณ์เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ 1 วัน คือ มีการนำเสนอข่าวว่า เจ้าหน้าที่ตรวจสอบชำนาญการ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาค ยื่นขอกำลังทหารต่อ มทบ.41 เพื่อช่วยเหลือในการเข้าตรวจสอบมหาวิทยาลัยลักษณ์ หลังนายกรัฐมนตรี ได้ใช้ ม.44 ประกาศให้รักษาการอธิการบดียุติการปฏิบัติหน้าที่ อ้างโดนผู้บริหารขัดขวางการตรวจสอบ และ ผบ.มทบ.41 อนุมัติให้ทหาร 4 นาย เพื่อเข้าร่วมติดตามตรวจสอบในครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม พบว่าทางมหาวิทยาลัยให้การต้อนรับ และรับรองอย่างดีเหมือนเช่นทุกครั้งที่ผ่านมา

ดร.เลิศชาย ศิริชัย ซึ่งปฏิบัติหน้าที่รักษาการแทนอธิการบดีในวันนี้ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยยินดีสนับสนุนให้เข้ามาตรวจสอบอย่างเต็มที่ และเข้าใจดีว่าเป็นหน้าที่ของแต่ละฝ่าย แต่ผู้ตรวจสอบก็ควรเคารพมหาวิทยาลัยเช่นเดียวกัน ดังนั้น การมีทหารเข้ามาเป็นสักขีพยานในการตรวจสอบ เราไม่มีปัญหาอะไรเลย ดีใจเสียด้วยซ้ำว่า การตรวจสอบจะเป็นธรรม และมหาวิทยาลัยจะได้รับความเคารพตามสมควร โอกาสหน้าเมื่อเข้ามาตรวจสอบผมขอเชิญให้ทหารมาร่วมด้วยทุกครั้งจะเป็นการดีมาก

“ในการกระบวนการตรวจสอบในครั้งนี้ ทางมหาวิทยาลัยมีการบันทึกวิดีโอ และภาพนิ่งของกระบวนการตรวจสอบ และได้มอบไฟล์ภาพ และไฟล์วิดีโอแก่ผู้ตรวจสอบไว้หนึ่งชุดด้วย และในครั้งต่อๆ ไปก็จะบันทึกเหตุการณ์ไว้ เพื่อเป็นวัตถุพยานเชิงประจักษ์ไว้ในการตรวจสอบแต่ละครั้งเป็นความบริสุทธิ์ใจทั้งสองฝ่าย และไม่มีการขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ใดๆ ทั้งสิ้น” ดร.เลิศชาย กล่าว

ขณะที่ นายสุดใต้ ดีทองอ่อน อุปนายกสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เปิดเผยว่า “กรณีการตรวจสอบการทุจริตในเกิดขึ้นภายในมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ทางสมาคมศิษย์เก่าห่วงใยเป็นอย่างมากในกรณีที่เกิดขึ้น เพราะโดยส่วนใหญ่ได้รับรู้ประเด็นการตรวจสอบในพื้นที่สาธารณะโดยผู้ตรวจสอบนำเสนอผ่านสื่อ ซึ่งเป็นข้อมูลที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบนั้น ทางนายกสมาคมศิษย์เก่า ได้กำชับ และมอบหมายให้คณะกรรมการสมาคมที่อยู่ใกล้เฝ้าสังเกตการณ์ และช่วยติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และช่วยกันนำเสนอข้อเท็จจริงแก่สังคมอีกทางหนึ่ง เพราะสมาคมศิษย์เก่าถือเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยเช่นเดียวกัน

 
“เราพบว่าทางมหาวิทยาลัยได้เตรียมความพร้อมในการต้อนรับ และอำนวยความสะดวกอย่างดี ทั้งตัวเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสอบ และผู้ติดตาม โดยจัดห้อง 15/4 ในอาคารบริหาร เพื่อเป็นห้องสำหรับปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจสอบ พร้อมติดตั้งสัญญาณอินเทอร์เน็ตไร้สายเพื่อบริการสำหรับค้นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการตรวจสอบ อีกทั้งมีเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยคอยอำนวยความสะดวก และการประสานงานและจัดการไม่พบการขัดขวางตามข่าว”

“เราอยากขอร้องสื่อมวลชนในการช่วยให้ความเป็นธรรมทั้งผู้ตรวจสอบ และฝ่ายมหาวิทยาลัยด้วย เพื่อสร้างความกระจ่าง และข้อเท็จจริงแก่สังคม และในโอกาสหน้าทางสมาคมศิษย์เก่าจึงขอเชิญสื่อมวลชนเพื่อเข้าร่วมสังเกตการณ์กระบวนการตรวจสอบด้วยอีกทางหนึ่ง ผลการตรวจสอบจะออกมาอย่างไรทุกฝ่ายย่อมยอมรับ แต่กระบวนการตรวจสอบที่เป็นปัญหาจนเกิดการฟ้องร้องกันในหลายคดีไม่ควรจะเกิดขึ้น หากทุกฝ่ายช่วยกันเคารพในหน้าที่ของแต่ละฝ่าย และมีคนกลางมาช่วยเป็นสักขีพยาน” อุปนายกสมาคมศิษย์เก่า กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องการตรวจสอบที่ผ่านมา ผู้ตรวจสอบรายนี้ได้ฟ้องคดีในนามส่วนตัวว่า ทางเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่การตรวจสอบ จำนวน 3 คดี คดีหมิ่นประมาท 3 คดี และทางมหาวิทยาลัยได้ฟ้องผู้ตรวจสอบรายนี้ ในข้อหาหมิ่นประมาท 1 คดี และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเป็นเจ้าพนักงานรู้ความลับในราชการกระทำการโดยมิชอบด้วยหน้าที่ เปิดเผยข้อความ หรือข้อเท็จจริง หรือข้อมูลที่ได้มา เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ 1 คดี ทั้งนี้ รวมเป็นคดีทั้งหมด 8 คดี โดยเป็นคดีในชั้นศาล 6 คดี และในชั้นสอบสวนอีก 2 คดี

ด้าน นายประสิทธิ์ชัย หนูนวล นายกสมาคมศิษย์เก่า ระบุว่า การตรวจสอบของมหาวิทยาลัยได้เข้าสู่มาตรา 44 แล้ว ซึ่งเราเชื่อมั่นในความเป็นกลางของกระบวนการตรวจสอบภายใต้ มาตรา 44 อย่างที่สุด แต่กระบวนการการตรวจสอบที่เหลือ และยังดำเนินการต่อเนื่องอยู่ขณะนี้

“สมาคมไม่พบความจริงที่กระจ่างชัด นอกจากคดีความที่เกิดขึ้น ซึ่งไม่เกิดผลดีต่อทางมหาวิทยาลัย และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเอง ทั้งสองเป็นองค์กรที่สังคมให้ความเชื่อมั่น และศรัทธาเป็นอย่างมาก หากเป็นไปได้ และเป็นทางออกที่ดีที่สุดทางสมาคมศิษย์เก่า อยากเสนอว่า ขอให้ผู้ว่าการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ได้กำชับถึงแนวทางการปฏิบัติงานแก่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ เพื่อให้เกิดความขัดแย้งรายวันน้อยที่สุด หรือไม่มีเลย หรือหากมีความจำเป็นก็ควรเปลี่ยนตัวบุคคลในการเข้ามาตรวจสอบ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการตรวจสอบตามความเป็นจริง และสังคมก็จะได้คำตอบที่เป็นจริง และเกิดความเชื่อมั่นในกระบวนการตรวจสอบทั้งสององค์กร” นายกสมาคมศิษย์เก่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าว


 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น