xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายปกป้องอันดามัน-รัฐบาลตั้งไตรภาคี ไม่ลงนามจนกว่ามีข้อยุติ กฟผ.ชะลออีไอเอ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กลุ่มเครือข่ายปกป้องอันดามัน หารือตัวแทนรัฐบาล ปมโรงไฟฟ้าถ่านหิน ย้ำต้องการคำยืนยันอีไอเอเดินต่อไม่ได้หากยุติพิจารณา กันลักไก่ แนะชะลอไปก่อน ยันไม่เอาโรงไฟฟ้าหันมาใช้พลังงานทดแทน กฟผ.ยันช่วงตั้ง กก.ไตรภาคี ยังไม่ลงนามสัญญา ชะลออีไอเอ สนช.ย้ำต้องทำตามผลไตรภาคี “ไก่อู” แจงรัฐบาลต้องคำนึงทั้งนักลงทุน-ประชาชน พร้อมประชุมเร็วที่สุด ชี้ประมูล 5 ส.ค.ดูแลรายละเอียดไม่มีลงนาม

วันนี้ (24 ก.ค.) ที่ศูนย์บริการประชาชน ฝั่งอาคารสำนักงาน ก.พ.(เดิม) ถนนพิษณุโลก ตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล ผู้สื่อข่าวรายงานว่าได้มีตัวแทนกลุ่มเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินจำนวนหลายสิบคนเดินทางมารวมตัวกัน โดยมีนายอัครเดช ฉากจินดา และนายประสิทธิ์ชัย หนูนวล เป็นแกนนำ เพื่อขอเอกสารยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรจากคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่สั่งผ่าน พล.อ.จีรศักดิ์ ชมประสพ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เมื่อคืนวันที่ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมา ว่ารับข้อเรียกร้องข้อที่ 3 ที่ระบุให้จัดตั้งคณะกรรมการร่วม 3 ฝ่าย โดยมีตัวแทนของกระทรวงพลังงาน หรือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สมาชิก สปช. และสนช. และชาวจังหวัดกระบี่ เพื่อพิจารณาข้อเสนอใช้พลังงานหมุนเวียน 100 เปอร์เซ็นต์ และระงับการพิจารณา รายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)

โดยนายอัครเดชกล่าวก่อนขึ้นหารือสามฝ่ายว่า ยืนยันว่าต้องการคำยืนยันว่าอีไอเอจะดำเนินการต่อไปไม่ได้ หากยุติการพิจารณาอีไอเอของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้ การประมูลสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินก็จะดำเนินไปไม่ได้ ทั้งนี้ ทางเครือข่ายฯ ต้องการลายลักษณ์อักษรเพื่อเป็นการยืนยันจาก กฟผ.เพื่อส่งไปที่ สผ.ให้ยุติการพิจารณาอีไอเอ มิฉะนั้นหากขั้นตอนผ่านออกมาจะมีข้อผูกพันทางกฎหมาย ทำให้รัฐบาลต่อไปอาจรับมาดำเนินการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน กระบี่ ได้โดยชอบธรรม ทั้งนี้ยืนยันว่าต้องได้เป็นลายลักษณ์อักษร หากไม่ได้ก็ต้องดำเนินเรื่องต่อไป

ต่อมาเวลา 10.30 น. ทางเครือข่ายฯ ได้เดินทางเข้าห้องประชุม 2 สำนักงาน ก.พ. เพื่อประชุมหารือกับตัวแทนจากรัฐบาลโดยมี พล.อ.จีระศักดิ์ ชมประสพ ที่ปรึกษานายกฯ เป็นประธานการประชุม และผู้เข้าร่วม ดังนี้ พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ ประธานกรรมาธิการพลังงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิก สนช. พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายสมนึก บำรุงสาลี ผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน ว่าที่ พ.ต.อนุชาติ ปาลกะวงษ์ ณ อยุธยา ผู้แทน สผ.กฟผ.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการหารือตัวแทนของเครือข่ายฯ ได้ยื่นข้อเสนอต่างๆ อาทิ การขอให้ชะลออีไอเอออกไปก่อน และการประมูลโรงไฟฟ้ายังไม่ควรเกิดขึ้น อีกทั้งขอให้การไฟฟ้านำเอาข้อมูลที่ได้หารือในวันนี้ไปประกาศในเว็บไซต์ว่าการกระทำต่างๆ ในการประมูลในวันที่ 5 สิงหาคมนี้จะไม่มีผลทางกฎหมายเพื่อให้ประชาชนเกิดความเข้าใจตรงกัน และเครือข่ายฯ ยืนยันที่จะให้หยุดสร้างโรงไฟฟ้า และหันมาใช้พลังงานทดแทน ขณะเดียวกันขอเวลา 3 ปีในการพิสูจน์ว่าสามารถนำพลังงานทดแทนมาใช้ได้จริง และมองว่าการตั้งคณะกรรมการทั้งสามฝ่ายถือเป็นเรื่องดี

ด้านนายอนุชาติ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการฝ่ายสิ่งแวดล้อมโครงการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ยืนยันว่าในระหว่างตั้งคณะกรรมการไตรภาคีและระหว่างพูดคุยหารือกันจนกว่าจะมีข้อยุติ เราจะไม่ลงนามสัญญาต่างๆ ที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย จนกว่าอีไอเอจะผ่านความเห็นชอบ และอะไรที่ไม่อยู่ในอีไอเอบริษัทที่ได้รับการประมูลต้องนำไปเพิ่มเติมและปฏิบัติตาม ขณะเดียวจะนำข้อเสนอนี้ไปประกาศลงเว็บไซต์การไฟฟ้าตามที่เครือข่ายได้เสนอฯ

ขณะที่ พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ ประธานกรรมาธิการพลังงานสนช. กล่าวว่า ตนเข้าใจทั้งสองฝ่ายว่าต้องดำเนินการตามกลไกของตัวเอง ทาง กฟผ.ก็ดำเนินการประมูล ทางเครือข่ายก็ต้องการพลังงานทดแทน แต่ทั้งนี้เมื่อตั้งคณะไตรภาคีแล้วผลออกมาอย่างไรก็ต้องทำตามนั้น หากกรรมการไตรภาคีไม่เอาด้วยกับการสร้างโรงไฟฟ้า ก็ต้องล้มโครงการทั้งหมดที่ได้ทำมา ซึ่งนายกฯ ยึดผลหลังการพูดคุยของไตรภาคีเป็นใหญ่ในการมีผลบังคับใช้

โดยเวลา 11.30 น. พล.ต.สรรเสริญได้แถลงข่าวเพื่อสรุปใจความการหารือ ว่า ทางพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดกระบี่ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงพลังงาน รัฐวิสาหกิจหรือ กฟผ. และ สมาชิก สนช. สปช. จะร่วมเป็นคณะกรรมการสามฝ่าย หรือไตรภาคี ที่จะยุติความไม่สบายใจในข้อกังวลต่างๆ และในระหว่างที่ข้อกังวลของประชาชนกำลังถูกหารือในไตรภาคีนั้น กระบวนการทั้งหลายของหน่วยงานปฏิบัติ จะไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย เพราะท้ายที่สุดต้องผ่านความเห็นชอบจาก ครม. และอยากเรียนว่าภาครัฐบาลต้องคำนึงถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนในต่างประเทศ ขณะเดียวกันรัฐบาลก็คำนึงถึงความไม่สบายใจของประชาชน เพราะฉะนั้น ขออย่าถือเป็นชัยชนะอะไรกัน

ทั้งนี้จะจัดการประชุมไตรภาคีโดยเร็วที่สุด ส่วนข้อกังวลของทางเครือข่ายฯที่ว่าวันที่ 5 สิงหาคม ที่จะถึงนี้จะมีการประมูลต่อหรือไม่ ตนได้สอบถามกับทาง กฟผ.แล้ว พบว่าเป็นการดูแลรายละเอียดเงื่อนไข และไม่มีการลงนามใดๆ ไม่มีผลผูกพันกับการปฏิบัติใดๆ อย่างไรก็ตามประเทศเราต้องมีความมั่นคงทางพลังงาน แต่จะด้วยอะไรก็ตามแต่ ไม่ว่าจะพลังงานทดแทน หรือพลังงานถ่านหิน ก็ให้พูดคุยกันในไตรภาคีต่อไป ทั้งหมดอยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ



















กำลังโหลดความคิดเห็น