ศูนย์ข่าวภาคใต้ - ผู้ประสานงานขาหุ้นปฏิรูปพลังงานร่อน จม.เปิดผนึกถึง “พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์” กรณีใช้งบประมาณ 20 ล้านนำผู้บริหาร และคนกระทรวงทรัพย์ฯ 81 ชีวิต ยกโขยงไปร่วมประชุมลดภาวะโลกร้อนที่ฝรั่งเศส ตั้งคำถามจี้ใจดำด้วยว่า รู้สึกละอายต่อโลกบ้างไหม?
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (17 พ.ย.) นายประสิทธิ์ชัย หนูนวล ในนามผู้ประสานงานขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน ได้ทำจดหมายเปิดผนึกส่งถึงผู้บริหารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรณีจะมีการนำงบประมาณที่ได้จากประเทศชาติ และประชาชนจำนวนมากไปใช้จ่ายในการให้ผู้บริหาร และบุคลากรในกระทรวงยกโขยงกันไปประชุมเกี่ยวกับการลดโลกร้อน แต่ดันเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน พร้อมตั้งคำถามว่า มีความรู้สึกละอายต่อโลกบ้างไหม
ทั้งนี้ เนื่องจากกระทรวงเตรียมทำเรื่องเสนอ ครม. ขออนุมัติงบประมาณเกือบ 20 ล้านบาท เพื่อใช้ในการขนผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่รวม 81 คน จาก 27 หน่วยงานในสังกัด เดินทางไปร่วมประชุมปัญหาภาวะโลกร้อนที่ประเทศฝรั่งเศส ในระหว่างวันที่ 30 พ.ย.-11 ธ.ค.ที่จะถึงนี้ โดยงบประมาณจะถูกใช้เป็นค่าเดินทาง ค่าที่พัก รวมถึงค่าเบี้ยเลี้ยงของแต่ละคนด้วย ซึ่งหัวหน้าคณะก็ไม่ใช่ใครที่ไหนคือ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั่นเอง
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ความจริงก่อนหน้านี้ กระทรวงได้กำหนดจะมีผู้ร่วมคณะเดินทางทั้งสิ้น 97 คน แต่เพื่อถูกทักท้วงจากหลายฝ่ายจึงลดลงเหลือ 81 คน ซึ่งก็ยังถูกตั้งคำถามว่าผู้ร่วมคณะยังมาก และเกินความจำเป็นอยู่อีกหรือไม่
สำหรับจดหมายเปิดผนึกที่ผู้ประสานงานขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน ส่งถึงถึงกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีเนื้อหาเชิงตั้งคำถามว่า การยกโขยงไปประชุมลดโลกร้อน แต่เดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน รู้สึกละอายต่อโลกบ้างไหม?
สืบเนื่องจากกระทรวงทัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะยกโขยงไปประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส นอกจากจะมีข่าว และการตั้งคำถามถึงจำนวนคนที่มากเกินไป ก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศอยู่ในภาวะตกต่ำ ยังมีความสำคัญมากไปกว่านั้นคือ การยกโขยงไปประชุมที่ปารีสว่าด้วยการลดโลกร้อนนั้น รัฐบาลไทยเคยถามตัวเองบ้างไหมว่า ได้ทำหน้าที่ต่อข้อเรียกร้องของโลกมากน้อยแค่ไหนในเวลาที่ผ่านมา
สำหรับกระทรวงทรัพย์ฯ รู้หรือไม่ว่าสาเหตุของการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดภาวะโลกร้อนนั้น เกิดจากเชื้อเพลิงถ่านหินเป็นสำคัญ ที่ผ่านมา มีวิจัยในระดับโลกมากมายที่บ่งชี้ว่า ถ่านหินคือตัวก่อมลพิษอันมหาศาลต่อสิ่งแวดล้อม และชีวิตมนุษย์ ทั้งโลกจึงร่วมมือกัน โดยเฉพาะเลขาธิการสหประชาชาติ ได้ออกมาเรียกร้องด้วยตัวเองให้ผู้นำทั้งโลกลดการใช้พลังงานฟอสซิล
“แต่ประเทศไทยกลับเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเต็มสูบ ด้วยนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และปฏิบัติการของการไปฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สวนกระแสจริยธรรมที่พึงปฏิบัติต่อโลก ขอเตือนว่า เตรียมตอบคำถามฝรั่งที่ลุกขึ้นถามในเวทีที่ปารีสว่า ทำไมรัฐบาลไทยถึงเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดกระบี่ เพราะพวกเขากำลังงง!” ส่วนหนึ่งของจดหมายเปิดผนึกระบุไว้ก่อนเพิ่มเติมว่า
“ที่น่าอายมากไปกว่านั้นคือ จุดยืนต่อการรักษาสิ่งแวดล้อมจากการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ทั้งนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยอมให้กระทรวงพลังงานเติมข้อความในประกาศพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมจังหวัดกระบี่ เพื่อเปิดช่องให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินได้”
เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ได้ไปสอบถามต่อเจ้าหน้าที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีรองเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เป็นหัวหน้าการพูดคุย ผลสรุปอันน่าหดหู่ก็คือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติไม่ได้ใช้ศักยภาพของตัวเองเต็มที่ในการปกป้องไม่ให้พื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมจังหวัดกระบี่ถูกทำลายจากการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จนกระทั่งปัจจุบันนี้ยังไม่มีการประกาศพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมจังหวัดกระบี่
ก่อนเดินทางไปประกาศต่อชาวโลกที่ปารีสว่าจะลดโลกร้อน กระทรวงทรัพย์ฯ และรัฐบาลไทยตอบคำถามตัวเองก่อนสัก 2 ข้อก่อนได้ไหม โดยอย่าได้อายคนทั้งโลกในนามประเทศไทย
1.กระทรวงทรัพย์ฯ ในฐานะที่มีหน้าที่รักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลองแสดงจริยธรรมต่อหน้าที่ของตัวเองด้วยการยืนยันไม่ให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ในพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมจังหวัดกระบี่ นี่ไม่ใช่ข้อเรียกร้องที่เกินเลย แต่เป็นข้อเรียกร้องให้กระทรวงทำหน้าที่ของตัวเอง (โปรดอย่าได้ตั้งคำถามว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินส่งผลอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ เพราะจะสร้างความอับอายไปทั้งโลก) ก่อนไปปารีส ลองแสดงความกล้าหาญในการทำหน้าที่ของตัวเองออกมา จะได้ไปประกาศต่อชาวโลกได้อย่างไม่อายเขา
2.รัฐบาลไทยที่จะอนุมัติให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำคณะชุดใหญ่เดินทางไปประชุมครั้งนี้ ลองทบทวนตัวเองก่อนดีไหม นโยบายเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินล้วนสวนทางต่อปฏิบัติการของหลายประเทศในโลก รวมทั้งสวนทางต่อเจตนารมณ์ของการประชุมที่ปารีส ซึ่งพวกท่านกำลังจะเดินทางไปร่วมประชุม
ทั้งนี้ ในรอบหลายปีที่ผ่านมา มีความพยายามอย่างเป็นรูปธรรมในการลด และปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินในอเมริกา ยุโรป จีน รวมถึงการถอนทุนในการลงทุนที่เกี่ยวข้องต่อถ่านหินของกองทุนแห่งชาติ บริษัทเอกชน และนักลงทุน เพื่อร่วมแสดงความรับผิดชอบต่อหายนะที่จะเกิดขึ้นต่อโลกใบนี้ ในขณะที่รัฐบาลไทยกลับเดินสวนทาง
“และอย่าแสดงความเขลาด้วยการสร้างมาตรการลดโลกร้อน เพียงแค่การเอาผิดต่อคนเล็กคนน้อย แต่กลับปูทางให้ตัวการร้ายของโลกร้อนคือ โรงไฟฟ้าถ่านหินเดินหน้าต่อไป อยากถามรัฐบาลว่า พวกท่านคิดอะไรอยู่?” ข้อความในจดหมายเปิดผนึกตอกย้ำและยังให้ข้อสังเกตไว้ด้วยว่า
“การทุ่มเทคน และงบประมาณจะไร้ความหมาย ตราบเท่าที่รัฐบาลยังหลอกตัวเองว่า ได้ช่วยลดโลกร้อน แต่ยังเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน กระทรวงทรัพย์ฯ จะมีความหมายอะไรในการลดโลกร้อน เพราะพวกท่านไม่ได้ปกป้องพื้นที่ชุ่มน้ำนานาชาตินับแสนไร่ที่กระบี่ ถ้าโรงไฟฟ้าถ่านหินยังเป็นคำตอบ ก็อย่าเดินทางไปประชุมลดโลกร้อนให้เสียเงินเปล่าอีกเลย ตอบคำถามตัวเองก่อนเถอะ ก่อนที่ทั้งโลกจะถามกลับมาให้งามหน้าคนไทย”