xs
xsm
sm
md
lg

“1 ปีขาหุ้นฯ” การเดินทางยังไม่สิ้นสุด ลั่นต้องหยุด “เทคโนแครต-ทุนสามานย์” ผลาญพลังงานไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ครบรอบ 1 ปีการเคลื่อนไหวของเครือข่ายขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน ที่เริ่มขับเคลื่อนการปฏิรูปพลังงานภาคประชาชนเมื่อ 19 ส.ค.ปีที่ผ่านมา ท่ามกลางการกดดันของรัฐบาลทหาร แม้กิจกรรมเดินวันละโยชน์เพื่อประโยชน์คนทั้งชาติต้องล้มเลิกไปก่อนจะถึงเป้าหมายที่กรุงเทพมหานคร แต่การขับเคลื่อนปฏิรูปพลังงานยังไม่หยุดนิ่ง เป้าหมายคือ ปลดปล่อยประเทศชาติจากการผูกขาดของเทคโนแครต และนายทุนพลังงาน
 

 
วันที่ 19 สิงหาคม 2557 หรือวันนี้เมื่อปีที่แล้ว ประชาชนไทยที่รวมตัวกันในนาม “เครือข่ายขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน” ประกอบด้วย ภาคประชาชนจากทุกภาคส่วน ได้เริ่มออกเดินทางจากลานจัตุรัสนครหาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา มุ่งหน้าสู่กรุงเทพมหานคร ตามกิจกรรม “เดินวันละโยชน์ เพื่อประโยชน์คนทั้งชาติ” (1 โยชน์ เท่ากับ 16 กิโลเมตร) รวมระยะทาง 1,400 กิโลเมตร พร้อมออกแถลงการณ์ชี้แจงการเคลื่อนไหว ว่า
 

 
“ในปี พ.ศ.2555 กระทรวงพลังงาน เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ว่า ประเทศไทยสามารถขุดเจาะและผลิตก๊าซธรรมชาติ น้ำมันดิบ คอนเดนเสท และก๊าซโซลีนธรรมชาติ เทียบเท่าน้ำมันดิบวันละประมาณ 968,000 บาร์เรล หรือ 153 ล้านลิตร สถาบันบริหารข้อมูลด้านพลังงาน (Energy Information Administration -EIA) ของสหรัฐอเมริกา ได้จัดอันดับประเทศไทยเป็นผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติในอันดับที่ 24 และเป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบในอันดับ 32 จาก 200 กว่าประเทศทั่วโลก และ องค์กรร่วมประเทศผู้ผลิตน้ำมันเพื่อการส่งออก-โอเปก (OPEC) เสนอรายงานประจำปี 2010/2011 ว่า ประเทศไทยสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติได้มากกว่า อิรัก คูเวต โอมาน ไนจีเรีย เวเนซุเอลา ลิเบีย แองโกลา และเอกวาดอร์ แต่น้อยกว่า กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และแอลจีเรีย
 

 
ส่วนน้ำมันดิบ (รวมทั้งคอนเดนเสท และก๊าซโซลีนธรรมชาติ) ประเทศไทยผลิต และมีมูลค่าการส่งออกใกล้เคียงกับประเทศเอกวาดอร์ ในกลุ่มอาเซียนประเทศไทยผลิตน้ำมันดิบเป็นอันดับ 3 และมากกว่าประเทศบรูไน แต่ราคาน้ำมันเบนซินของไทยแพงกว่าสหรัฐอเมริกาถึงลิตรละ 10-14 บาท ทั้งๆ ที่สหรัฐอเมริกาต้องนำเข้าน้ำมันดิบจากทั่วโลก และราคาน้ำมันเบนซินไทยแพงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน เหมือนกับเราต้องซื้อน้ำมันจากสิงคโปร์ทั้งๆ ที่กลั่นเองในประเทศ และประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในกลุ่มอาเซียนที่ยกสัมปทานการขุดเจาะน้ำมันให้เอกชน ขณะที่ประเทศอื่นๆ ใช้ระบบการแบ่งปันผลผลิต"
 

“ขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน” เกิดจากการรวมตัวของประชาชนทุกภาคส่วนที่ต้องการให้การปฏิรูปด้านพลังงาน และตระหนักถึงความเป็นเจ้าของพลังงานของไทย โดยวิธีการเดินเท้าเพื่อบอกเล่าเรื่องราวข้อเท็จจริงด้านพลังงาน รวมถึงโครงการฯ พัฒนาพลังงาน และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากโครงการฯ เหล่านั้น เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในพื้นที่ภาคใต้ เหตุที่ต้องมีการเดินรณรงค์ด้วยความสงบ สันติ อหิงสา โดยเรียกร้องให้มีการปฏิรูปพลังงานอย่างถูกต้อง และเป็นธรรมต่อประเทศชาติ และประชาชนตามเจตนารมณ์ ประกอบด้วย
 

 
1.ตามเจตนารมณ์ของประชาชนที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปพลังงานมานานหลายปี และไม่สามารถดำเนินการได้ในรัฐบาลนักการเมืองหลายสมัยที่ผ่านมา ประกอบกับคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ได้มีนโยบายการปฏิรูปประเทศเพื่อคืนความสุขให้คนไทย อีกทั้งความสำคัญของการปฏิรูปได้บรรจุไว้ในรััฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. ๒๕๕๗ มาตรา ๒๗ ให้มีสภาปฏิรูปแห่งชาติมีหน้าที่ศึกษาและเสนอแนะเพื่อให้เกิดการปฏิรูปใน ด้านต่างๆ การปฏิรูปพลังงานบรรจุในประเด็นที่ (๗) ซึ่งเป็นประเด็นที่มีความสำคัญยิ่งต่อความสุขของคนไทย
 

 
2.เพื่อสนับสนุน คสช. คณะรัฐบาล และสภาปฏิรูปแห่งชาติให้เกิดการปฏิรูปพลังงานอย่างถูกต้องและเป็นธรรม รวมทั้งเป็นการแสดงเจตนารมณ์เพื่อสนับสนุนการปฏิรูปทั้งด้านเนื้อหา และการมี ส่วนร่วม ขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน ซึ่งประกอบด้วย ประชาชนทั้งในภาคใต้ ภาคกลาง ภาคอีสาน ภาคตะวันออก จึงได้ออกเดินรณรงค์เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนว่าทำไมต้องปฏิรูปพลังงาน และเป็นการแสดงข้อมูลความรู้เพื่อให้ข้อเสนอการปฏิรูปพลังงานตั้งอยู่บนฐานข้อเท็จจริง และเป็นข้อเสนอที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพียงกลุ่ม เดียวโดยวิธีการดังกล่าวนี้จะทำให้การปฏิรูปกลายเป็นหัวใจสำคัญของการคืนความสุขให้ประชาชนอย่างแท้จริง
 

 
3.การปฏิรูปพลังงานเป็นประเด็นสำคัญยิ่งที่เต็มไปด้วยอำนาจ และผลประโยชน์ ทั้งนี้ ได้มีตัวเลขในองค์กรต่างประเทศที่ได้แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีปิโตรเลียมมากกว่าประเทศในกลุ่มโอเปกบางประเทศ และเมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศ พบว่า เราใช้น้ำมันแพงเป็นอันดับที่ ๙ เมื่อเปรียบเทียบกับรายได้ในบรรดาการสำรวจ ๖๑ ประเทศทั่วโลก และเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านพบว่า ผลประโยชน์ที่ประเทศได้รับน้อยกว่าประเทศเหล่านั้นมาก ในทางตรงกันข้ามกำไรส่วนใหญ่ตกเป็นของบริษัทเอกชน ซ้ำร้ายกว่านั้นเมื่อให้สัมปทานไปแล้วเราจะสูญเสียอธิปไตยด้านปิโตรเลียมให้แก่บริษัทเอกชนทันที ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทต่างชาติ และทั้งหมดนี้เป็นสาเหตุสำคัญของการที่ประชาชนต้องใช้น้ำมัน ก๊าซ ในราคาแพงมาก อีกทั้งระบบดังกล่าวเอื้อต่อการทุจริตคอร์รัปชันของวงการราชการที่ยอมออกนโยบายเอื้อประโยชน์ต่อบริษัทเอกชนมากกว่าการรักษาประโยชน์ของประเทศชาติ
 

 
4.โดยเจตนาสุจริต ขาหุ้นปฏิรูปพลังงานจึงมีความจำเป็นต้องเดินรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชน เพราะข้อมูลพลังงานมีความซับซ้อน อีกทั้งบริษัทน้ำมัน หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการผลิตไฟฟ้า และข้าราชการกระทรวงพลังงานมักจะให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนรอบด้านต่อประชาชน เพื่อแสดงต่อ คสช. คณะรัฐบาล และสภาปฏิรูปเห็นว่าข้อเสนอการปฏิรูปดังกล่าวเป็นเจตนารมณ์โดยแท้ของประชาชน ทั้งนี้ จากข้อมูล และการรับฟังความเห็นของประชาชน เราขอเสนอประเด็นการปฏิรูปพลังงานเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติของผู้มีส่วนรับผิดชอบดังนี้
 

 
(1) เพื่อประเทศไทยได้ประโยชน์สูงสุดขอให้เปลี่ยนระบบสัมปทานปิโตรเลียม เป็นระบบแบ่งปันผลผลิตซึ่งได้พิสูจน์จากนานาประเทศว่าจะทำให้ประเทศได้ความเป็นเจ้าของปิโตรเลียมคืนมา

(2) ขอให้จัดตั้งบริษัทน้ำมันแห่งชาติเพื่อควบคุมปิโตรเลียมให้ประชาชนใช้ก่อนในราคาที่เป็นธรรม

(3) ขอให้มีการแบ่งพื้นที่ปิโตรเลียม และพื้นที่ผลิตอาหาร/การท่องเที่ยวอย่างชัดเจน เพื่อการพัฒนาที่สมดุล

(4) เพื่อความมั่นคงทางพลังงาน สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ขอให้ปลดโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า และเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพดังที่นานาประเทศกำลังปฏิบัติ

(5) เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้า และประชาชนทั่วไปสามารถเป็นเจ้าของการผลิตไฟฟ้าได้ ขอให้ผลักดันกฎหมาย พ.ร.บ.พลังงานหมุนเวียนที่เป็นธรรมโดยเร็ว
 

 
5.การเดินรณรงค์ดังกล่าวหัวใจสำคัญคือ การให้ความรู้ และสนับสนุนการปฏิรูปพลังงาน โดยดำเนินการตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.๒๕๕๗ มาตรา ๓ ที่ระบุว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย มาตรา ๔ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับความคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้วย่อมได้รับความคุ้มครอง ทั้งนี้ การเดินรณรงค์ปฏิรูปพลังงานดังกล่าวไม่ได้เป็นการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อย หรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน ตามที่ระบุในมาตรา ๔๔ ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ รวมทั้งไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยตามการประกาศกฎอัยการศึกของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.)
 

 
อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวของเครือข่ายขาหุ้นปฏิรูปพลังงานได้ถูกขัดขวางจากรัฐบาลทหารโดยอ้างคำสั่ง คสช.ที่ห้ามมีการชุมนุมเกิน 5 คน ทำให้สมาชิกเครือข่ายฯ จำนวน 11 คน ถูกควบคุมตัวในค่ายเสนาณรงค์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ในวันที่ 20 ส.ค.2557 หลังจากออกเดินรณรงค์ได้เพียงวันเดียวเท่านั้น โดยทหารอ้างว่า ไม่ได้เป็นการจับกุม แต่เป็นการเชิญตัวไปพูดคุยเพื่อปรับทัศนคติเท่านั้น
 

 
แต่หลังจากสมาชิก 11 คน ถูกควบคุมตัว ต่อมา วันที่ 21 ส.ค.2557 นายศุภกร วงศ์เมฆ หรือตุด นาคอน ศิลปินเพลงเพื่อชีวิตชื่อดังของภาคใต้ ก็ได้ออกเดินรณรงค์การปฏิรูปพลังงานต่อไป โดยเขาได้เดินถือธงสัญลักษณ์จากจุดที่เพื่อนๆ 11 คน ถูกทหารเชิญตัว เดินมุ่งหน้าต่อไปยัง จ.พัทลุง และ จ.นครศรีธรรมราช เป็นการเดินคนเดียวเพื่อไม่ให้ขัดคำสั่ง คสช.ที่ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน แต่แม้จะไม่ถูกควบคุมตัวแต่ก็มีเจ้าหน้าที่ทหารคอยติดตามตลอดเส้นทาง เมื่อเดินเท้าไปถึง จ.นครศรีธรรมราช ตุด นาคอน จึงส่งมอบธงสัญลักษณ์ให้สมาชิกใน จ.สุราษฎร์ธานี ออกเดินเท้าต่อ และได้ถูกควบคุมตัวเช่นกัน จากนั้นจึงมีสมาชิกกลุ่มใหม่รับธงเดินต่อไปจนถึง จ.ชุมพร การเคลื่อนไหวของขาหุ้นฯ จึงยุติลงชั่วคราว โดยมีแถลงการณ์ระบุว่า
 

 
“เจตนารมณ์ปฏิรูปพลังงานของขาหุ้นปฏิรูปพลังงานยืนอยู่บนผลประโยชน์ของประเทศชาติ ภายใต้การปฏิรูปประเทศ เราหวังให้ประเทศได้อธิปไตยด้านพลังงานคืนมาเพื่อการจัดสรรให้แก่ประชาชนในชาติได้ใช้ในราคาที่เป็นธรรม ตลอดระยะเวลา ๒๐ วัน ขาหุ้นปฏิรูปพลังงานได้เลือกวิธีการที่อ่อนโยนที่สุดคือ การเดินเท้าภายใต้สถานการณ์เผด็จการทหารเพื่อไม่ให้ถูกตีความเจตนารมณ์ว่าเป็นการก่อความวุ่นวายต่อประเทศชาติ”
 

 
เราเรียกร้องให้ คสช. รอสภาปฏิรูปก่อนการอนุมัติเรื่องพลังงานในหลายวาระสำคัญเหมือนที่ฝ่ายทหารมักจะบอกต่อขาหุ้นว่า ให้หยุดเดินเพื่อรอสภาปฏิรูป เมื่อฝ่าย คสช.ไม่รอเราจึงจำเป็นต้องออกเดิน ให้ข้อมูลแก่ประชาชนว่า ภายใต้ขุมทรัพย์ด้านพลังงานของประเทศเราได้เสียอธิปไตยให้แก่บริษัทพลังงานมานานแล้ว ถึงเวลาที่เราต้องเอาอธิปไตยด้านพลังงานคืนมา ด้านพลังงานไฟฟ้าเราต้องกระจายผู้ผลิต และกระจายที่มาของไฟฟ้าเพื่อก่อให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงาน ไม่นำเชื้อเพลิงที่เป็นมลพิษเข้ามาสู่ประเทศ 
 

 
ขณะนี้เราเดินมาถึงจังหวัดชุมพรตามเจตนารมณ์ที่จะไปให้ถึงกรุงเทพมหานคร ตลอดระยะเวลาการเดินได้รักษากติกาตามกฎอัยการศึกนั่นคือ เดินไม่เกิน ๕ คน และได้มีการสื่อสารกันตลอดเวลาเพื่อรักษากติกาโดยฝ่ายทหารยืนยันตลอดเวลาว่า การเดินแบบนี้สามารถทำได้ไม่ผิดกฎอัยการศึกแต่อย่างใด เช้าของวันที่ ๑๐ ขาหุ้นจังหวัดชุมพรยังคงรักษาการเดิน ๒ คนตามรูปแบบเดิม แต่เมื่อเวลาประมาณ ๑๐ นาฬิกา ฝ่ายทหารบอกว่าแม้ว่าเดินไม่เกิน ๕ คนก็จะจับ การสื่อสารระหว่างกันถูกฉีกทิ้งด้วยการอ้างว่ามีการแจกเอกสารระหว่างการเดิน เอกสารที่กล่าวถึงคือพิมพ์เขียวปฏิรูปพลังงานซึ่งสามารถอ่านได้ในสื่อออนไลน์ทั่วไปแต่ถูกตีความว่าเป็นการแจกเอกสารที่ผิดกฎอัยการศึก
 

 
ด้วยเจตนาอันซื่อตรง ขาหุ้นปฏิรูปพลังงานได้ก้าวข้ามความกลัวมานานแล้วเห็นได้จากการถูกควบคุมตัว ๒ ครั้ง ยังมีคนสานเจตนาตลอดเส้นทาง แต่เพื่อเป็นการไว้อาศัยต่อการไร้สัจจะของทหารขาหุ้นปฏิรูปพลังงานขอพักการเดินเท้าสักหลายชั่วโมง เพื่อให้นายทหารเรียกสติกลับมา ยึดถือการปฏิบัติต่อประชาชนภายใต้กฎหมายที่ให้อำนาจอย่างเคร่งครัด ไม่ใช้อารมณ์ส่วนตัว และไม่ใช้การวินิจฉัยเพื่อรักษาภาพมากกว่าการรักษาเจตนารมณ์ของกฎอัยการศึก

เหตุการณ์ครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า การใช้กฎอัยการศึกไม่ได้มีไว้เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย แต่ถูกเลือกใช้เพื่อสกัดการเดินเท้าของขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาของการเดินเท้าไม่สามารถหามาตรฐานการปฏิบัติของทหารได้เลย ขึ้นกับอารมณ์ของนายทหารแต่ละค่ายว่าจะวินิจฉัยอย่างไร ตัวบทกฎหมายเสมือนว่าไม่มีความศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องปฏิบัติมากไปกว่าความเห็นของนายทหาร

เราจึงขอไว้อาลัยต่อการลุแก่อำนาจในการบังคับใช้กฎอัยการศึกของทหาร โดยการหยุดเดินเป็นระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้สังคมทบทวนต่อการใช้อำนาจเผด็จการของทหารในครั้งนี้ ส่วนเจตนารมณ์การเดินเท้าถึงกรุงเทพฯ นั้นจะปฏิบัติสานต่อจนลุล่วงอย่างแน่นอนตามเวลาที่กำหนดไว้

ขาหุ้นปฏิรูปพลังงานขออภัยต่อกำลังใจของทุกท่านที่รออยู่ข้างหน้า และที่ส่งตามมาให้ขาหุ้นตลอดเวลา เราสัญญาว่าจะเดินไปถึงกรุงเทพมหานครอย่างแน่นอน
 

 
นายศุภกร วงศ์เมฆ หรือตุด นาคอน กล่าวเนื่องในวันครบรอบ 1 ปีขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน ว่า ขาหุ้นฯ ต่างคนก็ต่างสร้างงานปฏิบัติการตามที่ตนถนัด เพื่อเรียกร้องทวงสิทธิสิ่งที่คนไทยเป็นเจ้าของมาตั้งแต่บรรพบุรุษ นั่นคือแผ่นดินไทยที่เต็มไปด้วยพลังงาน ไม่ให้ตกไปเป็นของคนใดคนหนึ่ง ขอเป็นกำลังใจให้ขาหุ้นทุกๆ ท่านครับ ฟังเสียงหัวใจที่อยู่ในฝ่าเท้าเราสิ พร้อมกับได้เขียนบทกวี ใจความว่า

รื้อขอนเห็นตะขาบ
สัตว์ร้ายนอนราบพื้น
ซ่อนตัวไต้กองฟืน
รอวันไหลลื่นสำแดงตน

เรารื้อเราผลักให้ขอนล้ม
ตะขาบเกลือกอาจมนานทน
ให้โผล่ตัวหัวหางกลางถนน
ให้ผู้คนยินยลรูปพรรณ

รูปชั่วตัวพิษตวิดเขี้ยว
งอเงี้ยวเลี้ยวลับจับมัน
สัตว์ร้ายซ่อนกายใกล้ฉัน
เราจะปล่อยจะฟันมันดี

ขาหุ้นก็เหมือนคนรื้อขอน
ตื่นก่อนเห็นก่อนมันหนี
ผลักฟืนท่อนใหญ่แล้วไล่ตี
เป็นบาปชั่วดีพิจารณา
 

 
นายอัครเดช ฉากจินดา หนึ่งในผู้อดข้าวประท้วงต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ กล่าวว่า หนึ่งปีผ่านไปต่อการร่วมตัวกันของประชาชนที่เห็นถึงความไม่เป็นธรรมในการบริหารจัดการด้านพลังงานของประเทศ ทั้ง น้ำมัน ก๊าซ ไฟฟ้า ที่ผ่านมา ประชาชนได้รับประโยชน์น้อยมาก แต่ในทางกลับกันได้สร้างความร่ำรวยให้แก่กลุ่มทุนพลังงานที่ผูกขาด

“เราในฐานะประชาชนย่อมมีสิทธิในการมีส่วนร่วมตัดสินใจและออกแบบการเลือกใช้พลังงานของประเทศ เดินวันละโยชน์เพื่อประโยชน์ของคนทั้งชาติ กับกลุ่มขาหุ้นปฏิรูปพลังงานได้เดินทางมาครบรอบหนึ่งปีถือได้ว่าการเคลื่อนไหวของเราที่ผ่านมาได้ทำให้สังคมตื่นรู้ และเกิดผลในหลายๆเรือง แต่ถึงอย่างไรเราก็ยังต้องขับเคลื่อนกันต่อไปให้บรรลุวัตถุประสงค์ คือ พลังงานที่เป็นธรรม ประชาชนเป็นเจ้าของครับ”
 

 
นายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย ผู้ได้รับรางวัล “สันติประชาธรรม” คนล่าสุด กล่าวว่า พลังงานพื้นฐานสำหรับมนุษยชาติคือ พลังงานที่ทำให้เราได้เติบโต มีกล้ามเนื้อ มีมันสมองที่จะพัฒนาไปสู่สติปัญญาในการพัฒนาด้านอื่นๆ ของสังคม ดังนั้น แหล่งอาหารจึงถือเป็นพลังงานพื้นฐานที่มีความจำเป็นที่จะต้องรักษาให้คงอยู่ตลอดไป

“หากการคิดแต่พลังงานอื่นโดยละเลย หรือลืมแหล่งพลังงานที่แท้จริงของมนุษยชาติ การพัฒนาพลังงานนั้นๆ ก็จะเป็นการทำลายล้างมนุษยชาติในที่สุด ดังนั้น การพัฒนาพลังงานฟอสซิลให้มาเป็นพลังงานจึงต้องคิดให้รอบคอบเพราะหากไปทำลายแหล่งพลังงานสำหรับการดำรงอยู่ของชีวิต เราไม่ควรกระทำ”
 

 
ขณะที่ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้ประสานงานเครือข่ายขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน กล่าวว่า การรวมตัวของขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน และจัดกิจกรรมเดินวันโยชน์เพื่อการปฏิรูปพลังงาน ที่ออกเดินจากหาดใหญ่ มุ่งหน้าสู่กรุงเทพมหานคร โดยออกเดินเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2557 บัดนี้ครบ 1 ปีอย่างรวดเร็ว แต่การปฏิรูปพลังงานที่ประชาชนคาดหวังก็ยังไปไม่ถึงไหน

“สำหรับผม ผมคิดว่าหัวใจของการปฏิรูปพลังงานมี 2 หัวใจสำคัญ”

คือ หนึ่งการเปิดการมีส่วนร่วมให้แก่ประชาชนในทุกเรื่องอย่างจริงจัง ในการร่วมรับรู้ ร่วมนำเสนอข้อมูล ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมทำ และร่วมตัดสินใจ การจัดการเรื่องพลังงานต้องไม่อยู่ในมือเทคโนแครต หรือข้าราชการกระทรวงพลังงานเท่านั้นอีกต่อไป เพราะที่ผ่านมา มีความชัดเจนเพียงพอแล้วว่า การผูกขาดการตัดสินใจกับการคอร์รัปชันเป็นของคู่กัน ผลประโยชน์ชาติที่ควรตกเป็นของประเทศ และประชาชนกลับตกไปสร้างความมั่งคั่งให้แก่กลุ่มทุนไม่กี่คนมาอย่างยาวนาน ภายใต้วาทกรรมสร้างภาพเรื่อง การต้องสัมปทาน เรื่องความมั่นคงทางพลังงาน เรื่องถ่านหินสะอาด เรื่องนิวเคลียร์ปลอดภัย หรือทำให้สังคมเข้าใจผิดว่าพลังงานหมุนเวียนพึ่งพาไม่ได้ การมีส่วนร่วมในทุกระดับทั้งในสภา และนอกสภาจึงเป็นการปลดล็อกการผูกขาด และการคอร์รัปชันที่สำคัญที่สุด
 

 
สอง การเดินสู่เป้าหมายที่ให้ประชาชน และชุมชนพึ่งตนเองด้านพลังงานให้ได้มากที่สุด แนวคิดการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ปล่อยมลพิษให้คนในพื้นที่หนึ่งๆ รับเคราะห์ แล้วนำไฟฟ้าไปสร้างความสว่างไสวใช้อย่างสิ้นเปลืองให้แก่คนที่มีกำลังจ่ายในอีกพื้นที่นั้น เป็นหลักการที่ควรหลีกไปให้ไกลได้แล้วในยุคสมัยนี้ คนจนคนชนบทได้เสียสละมานานเกือบ 60 ปี ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแล้ว การส่งเสริมให้ทุกบ้านติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาเพื่อผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ไว้ใช้เอง หากมีเหลือก็ส่งเข้าสายส่งเพื่อขายให้แก่การไฟฟ้า รวมทั้งการสนับสนุนให้พึ่งพาพลังงานหมุนเวียนทุกรูปแบบ จะเป็นการปลดล็อกการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินสกปรก และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อันตรายลงไปได้ แต่จนถึงบัดนี้ประเทศไทยเราไม่เคยมีการเดินหน้าสู่เป้าหมายการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนอย่างจริงจัง ทั้งๆ ที่เป็นหัวใจของการปฏิรูปพลังงาน

“ในโอกาสครบรอบ 1 ปีของขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน การปลดปล่อยสังคมไทยจากการผูกขาดของเทคโนแครต และนายทุนพลังงาน และการทำให้ประชาชนทุกคนพึ่งตนเองทางพลังงานให้ได้มากที่สุดยังต้องการการร่วมมือร่วมใจสานต่อภารกิจต่อไป”

ด้าน นายประสิทธิชัย หนูนวล กล่าวว่า เรื่องปิโตรเลียม เราได้ช่วยปลุกกระแสความสนใจของคนได้มาก จนนำมาสู่การเจรจาของรัฐบาล โดยความร่วมมือของเครือข่ายปฏิรูปพลังงานที่ กทม.ตอนนี้ก็ได้นำไปสู่สิ่งที่จะนำไปสู่การแก้ไขเชิงเนื้อหา แต่ว่ายังไม่ง่ายคงต้องสู้กันต่อ

 “เรื่องไฟฟ้าเราได้ต่อสู้เรื่องถ่านหิน และได้สร้างกระแสการรับรู้เรื่องถ่านหินพอสมควร จนกลายเป็นกระแสระดับชาติ และหลังจากนี้คงต้องทำงานกันต่อเนื่องถ้าประเมินโดยรวม คิดว่าเราบรรลุในเชิงสังคม แต่ในเชิงการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมาย และนโยบายรัฐคงต้องพยายามต่อไป”
 
 
 
 





 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น