ชื่อ วิทวัส พลไพศาล อาจไม่คุ้นหูคนไทยมากนัก แต่เชื่อว่าคนกว่าค่อนประเทศต้องรู้จัก และเคยสนับสนุนสินค้าของ เฮอริเทจ ขนมขบเคี้ยวประเภทถั่ว-เมล็ดพืชนัทวอล์คเกอร์ และซันคิสต์ แน่นอน เพียง 5 ปีกว่าที่เขาเข้ามาช่วยบิดาบริหารกิจการถั่ว เขาก็สามารถขยายธุรกิจในมือจนกลายเป็น “ราชา” ส่งออกถั่วและผลไม้อบแห้ง ให้ 60 ประเทศทั่วโลก ขณะที่ การช่วยเหลือสังคมในบริบทต่างๆ ตามกำลังความสามารถ ก็เป็นอีกสิ่งที่เขาไม่เคยละเลย
ปริ้นซ์-วิทวัส พลไพศาล ลูกชายของ วิชา-วารี พลไพศาล และเป็นหลานปู่ของเจ้าสัวประพนธ์ พลไพศาล เจ้าของ ส.สหเจริญ ผู้จำหน่ายและส่งออกอาหารแห้งและเครื่องเทศชื่อดังแห่งเยาวราช ซึ่งนับเป็นอีกตระกูลมหาเศรษฐีที่รวยเงียบของเมืองไทย “ปริ้นซ์” จึงจัดเป็นทายาทรุ่น 3 ที่น่าจับตามองว่า จะสืบทอดธุรกิจได้หรือไม่ เพราะเข้ามาบริหารงานในยุคที่การแข่งขันทางการค้ารุนแรงอย่างที่สุด
ในวัยเด็กวิทวัสบอกว่า เขาฝันอยากเป็นสถาปนิก แต่ด้วยความที่เกิดและเติบโตมากับธุรกิจของครอบครัว ทั้งหมดจึงกลายเป็นความผูกพัน ทำให้เขาเลือกที่จะมาสานต่อธุรกิจของครอบครัว ดังนั้น แทนที่จะได้เรียนสถาปัตย์ตามฝัน จึงต้องมาเรียนปริญญาตรีและปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์ ที่ University of San Francisco สหรัฐอเมริกา จนจบในปี 2546 จากนั้นใช้เวลาราวครึ่งปีศึกษาต่อด้าน Corporate Accounting และภาษาจีน ก่อนจะกลับมาช่วยธุรกิจของพ่อที่ บริษัท เฮอริเทจ สแน็ค แอนด์ ฟู้ด จำกัด
การวางตัวให้หนุ่มหน้าใสคนนี้เป็น รองประธานกรรมการ บริษัท เฮอริเทจ สแน็ค แอนด์ ฟู้ด จำกัด ในวัยเพียง 30 ปี ณ ตอนนั้น ไม่ได้เป็นเพียงเพื่อสีสัน หรือให้หวือหวาตามฐานะในสังคม หากแต่จัดวางตัวตามความเหมาะสม เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางธุรกิจด้านอุตสาหกรรมนั่นเอง หลังเรียนรู้งานในบริษัทได้เพียง 2 เดือน วิทวัสต้องรับผิดชอบโครงการก่อตั้งโรงงานเฮอริเทจ บนเนื้อที่ 20-30 ไร่ ทางตอนเหนือของ Shanghai ในประเทศจีน
“ก็ค่อนข้างหนักพอสมควรครับ แต่โชคดีตอนเข้ามาทำงานช่วงแรกๆ ได้เรียนรู้ระบบงานทุกอย่างครับ ตั้งแต่เป็นเซลส์, เช็คสต็อก, ตลาด, ฝ่ายผลิต, บัญชี แล้วยังต้องแบ่งเวลาดูไร่มะม่วงหิมพานต์ของเราที่ จ.ระนอง และในประเทศลาว พอมาทำที่จีนก็ไม่ยากเกินไปนัก”
หนุ่มหน้าใสหยุดพักการเล่าเรื่องราวการทำงานของเขา พร้อมทอดสายตามองไปยังแก้วน้ำข้างหน้า ก่อนหันมาสนทนากับเราต่อว่า เขาโชคดีที่ได้เกิดมาเป็นลูกของพ่อและแม่ ที่ผ่านการใช้ชีวิตมาอย่างโชกโชน ดังนั้น การถ่ายทอดเรื่องราวคำสอนจากพ่อและปู่จึงเป็นเสมือนมรดกล้ำค่า เขาถูกปลูกฝังอย่างหนักในเรื่องการทำความดี และใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ ห้ามดูถูกคน และที่สำคัญคือต้องอ่อนน้อมถ่อมตน หลายคำสอนที่ได้รับมาทำให้ติดเป็นนิสัย ซึ่งเขาบอกว่ามีประโยชน์มากๆ สามารถนำมาใช้ได้ทั้งในการทำงานและการดำเนินชีวิต
การใช้ชีวิตอย่างราบเรียบปราศจากความฟุ้งเฟ้อ ซึ่งขัดแย้งกับชีวิตในฐานะลูกหลานชายเจ้าสัวผู้มั่งคั่งของเมืองไทยนั้น หนุ่มปริ้นซ์ยอมรับว่า ก็มีเที่ยวพักผ่อนบ้าง “หลังเลิกงานก็ไปดูหนัง ฟังเพลง และทานอาหารกับเพื่อนบ้าง ครอบครัวบ้าง แต่ไม่บ่อยนัก ผมไม่ชอบเข้าเมืองเพราะรถติดมาก บ้านผมอยู่ย่านพุทธมณฑลกว่าจะเข้า-ออกเมืองก็ต้องใช้เวลาพอสมควร ถ้ามีเวลาว่างก็ออกต่างจังหวัดเลย”
อย่างไรก็ตาม การออกต่างจังหวัดของปริ้นซ์นอกเหนือจากไปเพื่อพักผ่อนแล้ว เขาชอบที่จะเดินทางไปในที่กันดาร เพื่อศึกษาชีวิตความเป็นอยู่ของคนแต่ละท้องถิ่น และถ้าที่ไหนขาดในสิ่งที่เขาพอจะหาให้ได้ เขาจะรีบทำทันที โดยเขาให้ความสำคัญเรื่องเด็กที่ด้อยโอกาสมาก เพราะมองว่าเด็กเหล่านี้ขาดความรักความเอาใจใส่จากสังคม พอโตมาก็จะกลายเป็นปัญหาสังคม แต่ถ้าเด็กเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนที่ดี เมื่อโตขึ้นมาพวกเขาจะเป็นคนเก่ง เป็นคนดี เป็นผู้นำ นักธุรกิจ หรือข้าราชการ เด็กเหล่านี้จะช่วยเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทางที่ดีขึ้นได้
“หลายครั้งมีโอกาสติดตามคุณพ่อคุณแม่ไปทำบุญช่วยเหลือเด็กในที่ต่างๆ พอคนรู้ก็มักมาขอความช่วยเหลือ ผมเลยตัดสินใจตั้ง “มูลนิธิเฮอริเทจ ประเทศไทย” ช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่างๆ รวมถึงสนับสนุนการศึกษาเด็กๆ เป็นหลักครับ”
การตั้งมูลนิธิทำให้ได้เห็นชีวิตของผู้คนมากมาย เรื่องราวความประทับใจมีให้เห็นตลอด ครั้งหนึ่งที่เขารู้สึกมีความสุขมากคือ เมื่อครั้งไปบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือเด็กที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนตะโกปิดทอง ซึ่งประกอบด้วยนักเรียนชาวกะเหรี่ยงและชาวมอญ โดยโรงเรียนตั้งติดตะเข็บชายแดน ไทย-พม่า อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี น้องสาวของเขาได้นำถั่วและขนมไปแจก เด็กกระเหรี่ยงหลายคนนั่งจับขนมแน่น ไม่ยอมแกะกินตามนิสัยเด็ก เมื่อสอบถามก็บอกว่าจะเก็บไว้ ค่อยๆ กิน จนเขาต้องให้เพิ่มเพื่อให้เด็กได้กินอย่างเต็มที่ “สะท้อนใจนะครับ ขนมห่อเล็กๆ ผู้ใหญ่บางคนกินทิ้งกินขว้าง แต่กับเด็กๆ ตรงนั้นมันมีคุณค่าสำหรับพวกเขามาก”
เรื่องราวชีวิตและการทำงานที่เขาสะท้อนให้เราฟัง ทำให้รู้ได้ว่า เมล็ดพันธุ์แห่ง “การให้" ได้หยั่งรากลึกในตัวเขาอย่างเต็มที่แล้ว ดังนั้น หากเราจะยกให้เขาเป็น “เจ้าชายขายถั่วผู้ใจบุญ” ก็ดูไม่ขัดเลย
เรื่อง วรกัญญา สมพลวัฒนา
ภาพ ธัชกร กิจไชยภณ