นักวิชาการ ชงรัฐออกกฎหมายห้ามดื่มที่สาธารณะ ล้อมคอกปัญหาความรุนแรง อาชญากรรมจากเครื่องดื่มมึนเมา สร้างความมั่นใจ “นักท่องเที่ยวต่างชาติ - คนไทย” ปลอดภัย เซฟภาพลักษณ์ไทยเมืองท่องเที่ยว เปิดผลสำรวจประชาชน 80% ได้รับความเดือดร้อนจากคนดื่มสุรา
นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว อาจารย์ประจำสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และ นักวิจัยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงกรณีวันรุ่นไทยดื่มสุราก่อเหตุทำร้ายนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษที่หัวหินในเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสายตาชาวโลก ว่า การดื่มสุราของวัยรุ่นกลุ่มนี้เป็นการดื่มสุราแบบตั้งวงดื่มในพื้นที่สาธารณะ ภาครัฐควรจัดการแก้ไขปัญหาโดยการออกกฎหมาย “การห้ามดื่มสุราในพื้นที่สาธารณะ (Open container law)” เพื่อป้องกันเหตุการณ์การทำร้ายนักท่องเที่ยวไม่ให้เกิดขึ้นอีก การดื่มในลักษณะนี้เป็นเรื่องผิดกฎหมายในหลายประเทศโดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา อังกฤษ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ทั้งนี้ การออกกฎหมายการห้ามดื่มสุราในพื้นที่สาธารณะพร้อมกับการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่แล้วอย่างจริงจัง เป็นทางเลือกหนึ่งที่ภาครัฐสามารถทำได้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านสวัสดิภาพความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว รวมไปถึงประชาชนชาวไทยเอง
“หลักการของกฎหมาย คือ ห้ามดื่มสุราในพื้นที่สาธารณะ เช่น สวนสาธารณะ ทางเท้า ที่จอดรถ รวมไปถึงการดื่มสุราขณะขับขี่หรือโดยสารบนยานพาหนะ โดยหลักฐานที่ใช้ดำเนินคดี คือ บรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มสุราที่ถูกเปิดฝาออก (open container) ซึ่งเป็นที่มาของชื่อเรียกกฎหมายลักษณะนี้ ยกตัวอย่างเช่น นาย A เดินถือกระป๋องเบียร์ที่เปิดฝาแล้วอยู่บนทางเท้า แม้นาย A ไม่ได้แสดงพฤติกรรมการดื่มเบียร์ให้เห็น หรือมีพฤติกรรมเมาสุราก็ตาม ถือว่านาย A กระทำผิดกฎหมายการห้ามดื่มสุราในพื้นที่สาธารณะทันที” นพ.อุดมศักดิ์ กล่าว
นพ.อุดมศักดิ์ กล่าวต่อว่า จากงานวิจัยเรื่องการทบทวนองค์ความรู้เรื่อง แอลกอฮอล์กับความรุนแรงของแผนงานการพัฒนาระบบการดูแลผู้มีปัญหาการดื่มสุรา สสส. ปี 2556 พบว่า การดื่มสุราทำให้เพิ่มความเสี่ยงการทะเลาะวิวาทเพิ่มขึ้นถึง 6 เท่าในเพศชาย และ 14 เท่าในเพศหญิง เนื่องจากสุราออกฤทธิ์ต่อสมองทำให้อารมณ์ของผู้ดื่มแปรปรวนในลักษณะก้าวร้าวและมีการตัดสินใจแย่ลง โดยในกลุ่มที่ดื่มสุราเป็นประจำ เพศชายเกือบครึ่งหนึ่ง และเพศหญิงประมาณ 1 ใน 3 เคยประสบเหตุทะเลาะวิวาทจากการดื่มสุรา นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลก ร่วมกับ สสส. ได้สำรวจเรื่องอันตรายต่อผู้อื่นจากการดื่มสุรา (The Harm to Others from Drinking) ปี 2558 กลุ่มตัวอย่างกว่า 80% เคยได้รับความเดือดร้อนจากการดื่มสุราของผู้อื่นในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก และที่น่าตกใจ คือ กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ปกครองของเด็กและเยาวชนถึง 25% ระบุว่า เด็กและเยาวชนที่อยู่ในความดูแลเคยได้รับความเดือดร้อนจากการดื่มสุรา สะท้อนให้เห็นว่า การดื่มสุรานอกจากก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้ดื่มแล้ว ยังก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้คนรอบข้างและสังคม ไม่เว้นแม้แต่เยาวชนที่เป็นอนาคตของชาติด้วย
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่