>>ปิดฉากไปแล้วสำหรับการแข่งขัน “ดิอาจิโอ เวิลด์คลาส 2015” เพื่อเฟ้นหาสุดยอดบาร์เทนเดอร์ระดับโลก ว่ากันว่าในวงการเครื่องดื่ม รางวัลนี้เป็นอีกรางวัลคุณภาพที่การันตีคุณภาพของบาร์เทนเดอร์ไม่ต่างกับ “มิชลิน สตาร์” ในวงการอาหารเลยทีเดียว
สำหรับการแข่งขันดิอาจิโอ เวิลด์คลาส เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2009 ประเทศอังกฤษ ก่อนจะเป็นที่แพร่หลาย และเริ่มต้นในประเทศไทยเมื่อปี 2011 โดยบริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พรีเมียม ได้จัดกิจกรรมในการให้ความรู้ และฝึกฝนบาร์เทนเดอร์ไทยสู่การเป็นบาร์เทนเดอร์แถวหน้าของวงการ พร้อมเฟ้นหาตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันในโครงการดังกล่าว ซึ่งในปีนี้จัดขึ้นที่เมืองเคปทาวน์ ประเทศแอฟริกาใต้ เมื่อไม่นานมานี้
ในปีนี้ “ต้น-พงศ์ภัค สุทธิพงศ์” จากร้านวาย 97 คือตัวแทนจากประเทศไทยที่เดินทางไปร่วมการแข่งขัน เพื่อชิงชัยกับสุดยอดบาร์เทนเดอร์จากอีกกว่า 54 ประเทศทั่วโลก จนสามารถคว้าอันดับที่ 20 ของโลกมาครองได้สำเร็จ ส่วนตำแหน่งดิอาจิโอ เวิลด์คลาส 2015 ตกเป็นของบาร์เทนเดอร์ชาวญี่ปุ่น
“พรเศก ภาคสุวรรณ” ผู้อำนวยการฝ่ายขายผลิตภัณฑ์กลุ่มรีเสิร์ฟ บริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงภาพรวมของการแข่งขันในปีนี้ว่า การแข่งขันในปีนี้ยิ่งใหญ่ไม่แพ้เมื่อปีที่แล้วซึ่งจัดที่อังกฤษ โดยการแข่งขันเริ่มต้นที่เมืองโยฮันเนสเบิร์กก่อน เป็นการแข่งขันที่ไม่ได้เก็บคะแนน เพื่ออุ่นเครื่องให้ทุกคนรู้จักกันมากขึ้น ก่อนเริ่มการแข่งขันจริงที่เคปทาวน์ เป็นเวลา 3 วัน
สำหรับตัวแทนประเทศไทยในปีนี้ พรเศกยอมรับว่า ทำผลงานได้ดี ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคนิค หรือการนำเสนอ แต่อาจยังมีจุดที่บกพร่องบ้าง ซึ่งต้องยอมรับว่าผู้เข้าแข่งขันจากทั่วโลกเก่งขึ้นทุกปี มาตรฐานของวงการนี้สูงขึ้นเรื่อยๆ ถ้าจะเป็นอันดับต้นๆ ให้ได้ ต้องมีการเตรียมตัวอย่างน้อย 2-3 ปี
“ผมมองว่าการแข่งขันเป็นเป้าหมายให้ทุกๆ คนได้มีโอกาสแสดงฝีมือ เราไม่ได้รางวัลอะไรครับ อย่างน้อยเราได้ประะสบการณ์ ได้รู้จักเพื่อนจากทั่วโลก ทำให้เราได้แลกเปลี่ยนความรู้ เทคนิค ตลอดจนเพิ่มโอกาสและช่องทางในการที่จะนำบาร์เทนเดอร์เก่งๆ จากต่างประเทศ เข้ามาเป็นเกสต์บาร์เทนเดอร์ในประเทศไทย”
สอดคล้องกับ “เจนณรงค์ ภูมิจิตร” ซีเนียร์ แบรนด์แอมบาสซาเดอร์ ของ ดิอาจิโอ รีเสิร์ฟ มองว่า เป็นเรื่องน่ายินดีที่แชมป์ปีนี้ตกเป็นของญี่ปุ่น เพราะอย่างน้อยก็ยังเป็นประเทศในเอเชีย เป็นการสะท้อนว่าวัฒนธรรมการดื่มในภูมิภาคเอเชียยังน่าจับตามอง เพราะนี่เป็นครั้งที่ 2 แล้วที่บาร์เทนเดอร์ตัวแทนจากญี่ปุ่นสามารถคว้าตำแหน่งแชมป์โลก เช่นเดียวกันตัวแทนประเทศไทย ซึ่งถือว่าทำผลงานไว้น่าพอใจสามารถรักษาอันดับผลงานท็อป 20 ของไทยไว้ได้
“จุดเด่นของตัวแทนประเทศไทยในปีนี้ คือ คุณต้นเป็นคนที่มีความรู้ในทุกส่วนผสมที่นำมาเลือกใช้เป็นอย่างดี ทำให้เขาสามารถเฟ้นหาวัตถุดิบที่ดีที่สุดจากแหล่งต่างๆ มาใช้ได้ สามารถตอบคำถามคณะกรรมการเกี่ยวกับวัตถุดิบที่นำมาใช้ได้ดีทีเดียว นอกจากนี้ ค็อกเทลของคุณต้นยังมีรสชาติที่คงความเป็นไทยไว้ได้อย่างชัดเจนอีกด้วย ซึ่งผมมองว่าอันนี้เป็นทั้งจุดดีและจุดที่น่าคิด เพราะบางครั้งด้วยวัฒนธรรมการดื่มในแต่ละประเทศต่างกัน วัตถุดิบบางอย่างที่เฉพาะเจาะจงมากๆ คณะกรรมการชาวต่างชาติอาจไม่คุ้นรสชาติ และไม่รู้จัก ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องระวัง”
เจนณรงค์ เล่าถึงรายละเอียดการแข่งขันในแต่ละรอบว่า ปีนี้เป็นปีแรกที่มีการเปลี่ยนแปลงการแข่งขัน จากเดิมที่ในแต่ละรอบจะตัดผู้เข้าแข่งขันให้เหลือน้อยลง ปีนี้กลายเป็นให้ตัวแทนบาร์เทนเดอร์จากแต่ละประเทศได้แข่งขันทั้ง 5 โจทย์ ก่อนจะคัดเลือกบาร์เทนเดอร์เหลือ 6 คนไปแข่งขันในรอบสุดท้าย ซึ่งข้อดีของการแข่งขันรูปแบใหม่นี้คือ ทำให้ตัวแทนบาร์เทนเดอร์ได้ใช้ของที่เตรียมมาทั้งหมด
“การแข่งขันทั้ง 5 โจทย์ประกอบด้วย 1.Against The Clock โจทย์นี้จะให้เวลาผู้เข้าแข่งขันทำค็อกเทล 10 แก้ว ภายในเวลา 10 นาที ซึ่งโจทย์นี้คุณต้นทำได้ดี ทำได้ครบ 10 แก้ว รสชาติทุกแก้วออกมาเพอร์เฟกต์มาก โจทย์นี้เราสามารถคว้าอันดับที่ 9 มาครองได้สำเร็จ โจทย์ต่อมาคือ Around The World ให้ผู้เข้าแข่งขันทำค็อกเทลที่ได้แรงบันดาลใจจากแอฟริกา และประเทศของตัวเองอย่างละ 1 แก้ว โดยคุณต้นเลือกทำค็อกเทล Flavor King โชว์ความเป็นไทยเต็มที่ ส่วนแก้วที่หยิบแรงบันดาลใจจากแอฟริกา คุณต้นเลือกนำแรงบันดาลใจจากอาหารมาทำ ในโจทย์นี้เราได้อันดับที่ 26”
โจทย์ที่ 3 คือ Night and Day ให้ทำเครื่องดื่มสำหรับกลางวันและกลางคืนอย่างละแก้ว เจนณรงค์ บอกว่า ไฮไลต์ที่คุณต้นนำมาใช้คือ การทำค็อกเทลสำหรับกลางคืน คือการนำใบยากลับมาใช้ โดยนำมารมควันเพื่อให้ได้กลิ่นหอม เหมาะกับสภาพอากาศแบบอาเซียนบ้านเรา ซึ่งวัตถุดิบตัวนี้ กรรมการค่อนข้างสนใจ มีการซักถามเยอะว่านำมาจากไหน โดยในโจทย์นี้เราได้อันดับที่ 29
โจทย์ที่ 4 คือ Retro Disco Future ให้ออกแบบค็อกเทลสำหรับ 3 ยุคตามโจทย์ โดยคุณต้นเลือกตีความผ่านวัฒนธรรมการกินของผู้คนในยุคนั้นๆ ซึ่งโจทย์นี้ถือเป็นอีกโจทย์ที่สนุกมาก เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เข้าแข่งขันได้โชว์ไอเดียความคิดสร้างสรรค์เต็มที่ ในรอบนี้เราได้อันดับที่ 26
และโจทย์สุดท้าย คือ Street Food Jam โจทย์นี้จะให้ผู้เข้าแข่งขันไปเลือกอาหารสตรีตฟู้ดของแอฟริกาใต้ 2 ใน 6 จานพร้อมชิมก่อนจะถึงเวลาแข่งขัน 30 นาที จากนั้นให้ทำค็อกเทลเพื่อให้เข้ากับอาหารจานที่เลือก ในโจทย์นี้เราได้อันดับที่ 33
สำหรับความน่าสนใจของการแข่งขันในปีนี้ เจนณรงค์ยกให้การแข่งขันในรอบสุดท้าย ซึ่งโจทย์ให้เวลาผู้เข้าแข่งขัน 6 คนสุดท้าย 24 ชั่วโมง ในการเนรมิตป๊อปอัพ บาร์ของตัวเอง เพื่อรองรับแขก 300 คน ซึ่งหลังจากเห็นผลงานของผู้เข้าแข่งขันแล้ว น่าประทับใจมากๆ เพราะจากปีก่อนๆ จะให้ผู้เข้าแข่งขันคิดสูตรเพื่อทำค็อกเทลสำหรับแขก 100-200 คนเท่านั้น
“ถามว่าทีมไหนที่น่าสนใจเป็นพิเศษ ถ้าไม่นับประเทศที่โดดเด่นเรื่องวัฒนธรรมการดื่มของโลก อย่าง อังกฤษ อเมริกา ผมสนใจอิสราเอล ซึ่งเขาติด 1 ใน 6 สุดยอดบาร์เทนเดอร์ปีนี้ ผมประทับใจผลงานของเขาตั้งแต่โจทย์ Retro Disco Future เขาเลือกสะท้อน 3 ยุคนี้ ด้วยการถ่ายรูป มีการนำเลนส์กล้องมาทำเป็นแก้ว นำกล้องโพลารอยด์ถ่ายรูปมะนาวแล้วมาหนีบไว้ที่แก้วแทนการใช้มะนาวจริง”
ส่วนคู่แข่งที่น่าจับตามองในภูมิภาคอาเซียน เจนณรงค์ ยกให้ฟิลิปปินส์ ซึ่งปีนี้สามารถทำผลงานได้อย่างน่าประทับใจ เป็นอันดับ 1 ในโจทย์ Around The World ซึ่งการชนะในเวทีระดับโลกนี้ไม่ใช่เรื่องธรรมดา และแน่นอนว่า เขาจะเอาความรู้และประสบการณ์ที่ได้กลับไปพัฒนาวงการบาร์เทนเดอร์ประเทศเขาแน่นอน และหากไทยเราไม่พัฒนาตัวเองขึ้นมา ที่เคยมองว่าเราเป็นอันดับสองในภูมิภาครองจากสิงคโปร์ เราอาจจะโดนแซงหน้าได้
“แนวโน้มการพัฒนาบาร์เทนเดอร์ไทย ผมมองว่าบาร์เทนเดอร์ไทยมีพัฒนาการดีขึ้นเยอะ จาก 5 ปีก่อน ที่ผมเคยบอกว่าเราช้ากว่าสิงคโปร์ 5 ปี มาตอนนี้ ผมกล้าพูดเต็มปากว่าเราช้ากว่าไม่เกิน 2 ปี เราไล่ทันสิงคโปร์แน่นอน ส่วนแนวทางการพัฒนาบาร์เทนเดอร์ไทยที่จะไปแข่งขันในอนาคต ผมมองว่า ถ้าแข่งในไทย บาร์เทนเดอร์ไทยตีโจทย์ความเป็นไทยได้ดี แต่พอไปแข่งในระดับโลก ไอเดียของบาร์เทนเดอร์ไทยอาจยังไม่สะท้อนความเป็นสากลพอ สิ่งที่เรานำเสนอคณะกรรมการต่างชาติไม่เข้าใจ ดังนั้น ในปีถัดไป เราอาจต้องมองหาผู้ที่มีมุมมองในการนำเสนอแบบกลางๆ มากขึ้น แต่ผมยังมั่นใจว่าศักยภาพของบาร์เทนเดอร์เรายังไปได้อีกไกล เราตั้งเป้าว่าสักวันเราต้องติดท็อปเทนในเวทีโลกให้ได้”
ขณะที่พรเศกอธิบายเสริมถึงการปรับตัวของบาร์เทนเดอร์ เพื่อรับกับเทรนด์การดื่มของคนไทยในปัจจุบัน ว่าผู้บริโภคเริ่มค้นหาเครื่องดื่มที่ให้รสชาติ และประสบการณ์ในการดื่ม หรือที่เรียกว่า Fine Drinking หรือ Cocktail Culture ซึ่งในแต่ละร้านก็เริ่มให้ความสนใจกับการหาบาร์เทนเดอร์ที่สามารถสร้างสรรค์เครื่องดื่มเหล่านั้น ตอบสนองความต้องการของตลาด ซึ่งทำให้บาร์เทนเดอร์ต้องไม่หยุดยั้งที่จะค้นคว้าหาความรู้ให้กับตัวเอง อันเป็นคุณสมบัติสำคัญของบาร์เทนเดอร์ที่ดี
พรเศกยังบอกด้วยว่า ด้วยความที่ประเทศไทยเป็นเมืองท่องเที่ยว อุตสาหกรรมโรงแรมและร้านอาหารจึงมีการเติบโตเร็วมาก ประเทศไทยขาดแคลนบุคลากรในสายอาชีพเหล่านี้นับล้านตำแหน่ง หนึ่งในนั้นคือบาร์เทนเดอร์
“ทุกวันนี้มีร้านใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกสัปดาห์ ทุกเดือน แต่บาร์เทนเดอร์เก่งๆ ไม่สามารถพัฒนาขึ้นมาได้ทัน ทางดิอาจิโอ และเวิลด์คลาส จึงได้พยายามช่วยสร้างบุคลากรเหล่านั้น ช่วยนำบาร์เทนเดอร์เก่งๆ เข้ามาแลกเปลี่ยนความรู้ แม้ว่าคงไม่ทันสิงคโปร์ ซึ่งเป็น Cocktail Culture ที่นำหน้าไทยอยู่ 3-5 ปี แต่บาร์เทนเดอร์ไม่ได้มีแค่ชาวสิงคโปร์อย่างเดียว มีชาวยุโรปและชาติอื่นๆ เข้ามาทำงานในสิงคโปร์ด้วย ตลาดค็อกเทลของเขาจึงไปได้เร็ว ซึ่งไม่นานประเทศไทยก็จะคล้ายๆ กัน เพราะเราเริ่มเห็นบาร์เทนเดอร์ต่างชาติในหลายๆ บาร์ในกรุงเทพฯ แล้ว”
พรเศกกล่าวทิ้งท้ายอย่างน่าสนใจว่า “ร้านอาหารและโรงแรมต่างแย่งตัวบาร์เทนเดอร์ที่เก่งๆ จึงไม่แปลกที่ค่าตอบแทนของอาชีพนี้จะสูงขึ้นกว่าเมื่อ3-4 ปีที่แล้วมากกว่า 100% และนอกเหนือจากงานประจำ บาร์เทนเดอร์ยังมีงานอีเวนต์ หรือคนที่เก่งๆ บุคลิกดีก็สามารถเป็นซูเปอร์สตาร์ในสายอาชีพนี้ได้เลย งานในต่างประเทศเพื่อนบ้านเราก็มีรองรับอีกเยอะ ถ้ามีความสามารถด้านภาษา นั่นหมายความว่า
… ถึงเวลาแล้วที่สังคมต้องเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่ออาชีพบาร์เทนเดอร์ว่าเป็นอาชีพที่มั่นคงไม่แพ้การเป็นเชฟครับ” :: Text by FLASH