เอเจนซีส์ - ฝ่ายบริหารนครซานฟรานซิสโกมีมติเอกฉันท์วานนี้ (10 มิ.ย.) ให้ประกาศใช้กฎหมายบังคับให้เครื่องดื่มผสมน้ำตาลทุกชนิดต้องมีคำเตือนสุขภาพกำกับอยู่ในสื่อโฆษณา เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนได้ตระหนักถึงผลเสียจากการบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง
ร่างกฎหมายซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการที่ปรึกษาแห่งนครซานฟรานซิสโก (San Francisco Board of Supervisors) กำหนดให้สื่อโฆษณาเครื่องดื่มผสมน้ำตาล จะต้องมีคำเตือนที่ว่า “การดื่มเครื่องดื่มผสมน้ำตาลอาจทำให้เป็นโรคอ้วน เบาหวาน และฟันผุ นี่คือคำเตือนจากเมืองและเทศมณฑลซานฟรานซิสโก” (WARNING : Drinking beverages with added sugar(s) contributes to obesity, diabetes, and tooth decay. This is a message from the City and County of San Francisco.)
นอกจากข้อความเตือนซึ่งยึดแบบอย่างมาจากคำเตือนของกรมการแพทย์สหรัฐฯ (U.S. Surgeon General) ที่ติดบนซองบุหรี่มาตั้งแต่ปี 1966 แล้ว กฎหมายฉบับนี้ยังห้ามติดสื่อโฆษณาเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลภายในสำนักงานของรัฐ และป้องกันไม่ให้ฝ่ายบริหารเมืองนำงบประมาณไปใช้จ่ายกับเครื่องดื่มประเภทนี้
กลุ่มที่สนับสนุนกฎหมายอ้างว่า โซดาและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงคือต้นเหตุสำคัญที่ทำให้คนป่วยเป็นเบาหวาน ดังนั้น ผู้บริโภคจึงควรได้รับความรู้เกี่ยวกับอันตรายที่จะเกิดต่อสุขภาพก่อนตัดสินใจซื้อ
สกอตต์ วีเนอร์ หนึ่งในทีมร่างกฎหมายยอมรับว่า เขารู้สึกยินดีที่กฎหมายฉบับนี้ได้รับมติเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์ ทั้งที่กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มโซดาเคยทุ่มเงินล็อบบี้ถึง 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จนคว่ำร่างกฎหมายเก็บภาษีโซดาในนครซานฟรานซิสโกลงได้ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2014
ครั้งนั้น ชาวซานฟรานซิสโก 56% โหวตสนับสนุนมาตรการเก็บภาษีโซดาและเครื่องดื่มผสมน้ำตาลในอัตราส่วน 2 เซ็นต์ต่อออนซ์ ทว่ามาตรการพิเศษดังกล่าวต้องได้รับเสียงโหวตถึง 2 ใน 3 จึงจะผ่าน
วีเนอร์อธิบายว่า โซดากระป๋องขนาด 12 ออนซ์มีน้ำตาลเฉลี่ย 10 ช้อนชา ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้คนป่วยเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 เพิ่มขึ้น
เขาหวังว่า กฎหมายบังคับคำเตือนในสื่อโฆษณาจะช่วยให้ประชาชนเข้าใจว่า “เครื่องดื่มประเภทนี้แม้จะมีรสชาติอร่อย แต่ก็ทำให้คุณล้มป่วยได้”
กฎหมายฉบับนี้จะทำให้ซานฟรานซิสโกกลายเป็นเขตบริหารแห่งแรกในสหรัฐฯ ที่บังคับให้มีคำเตือนสุขภาพในสื่อโฆษณาเครื่องดื่มประเภทโซดา และห้ามโฆษณาเครื่องดื่มประเภทนี้ในสำนักงานของรัฐ
ลิซา แคทิก นักโภชนาการและที่ปรึกษาของสมาคมผู้ผลิตเครื่องดื่มอเมริกัน แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนี้ โดยมองว่าการบังคับใส่คำเตือนในโฆษณาเป็นการโยนความผิดให้แก่ผู้ผลิตเครื่องดื่ม โดยมองข้ามปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น โอกาสเข้าถึงข้อมูลด้านโภชนาการ และการขาดการออกกำลังกายในแต่ละวัน