โดย...นพ.ภัทร โฆสานันท์ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ - โรคกระดูกสันหลัง โรงพยาบาลเวชธานี ลาดพร้าว 111
การเกิดโรคกระดูกสันหลังเสื่อม ส่วนใหญ่แล้วเกิดจากสาเหตุหลัก ๆ 2 ปัจจัย ได้แก่ 1. เกิดจากการใช้งานในชีวิตประจำวัน ซึ่งถ้าผู้ป่วยรายใดที่มีการใช้งานมาก ๆ มีภาระกับหลังมาก ๆ ก็จะเกิดกระดูกสันหลังเสื่อมได้ไวกว่า และ 2. เกิดจากอายุ เมื่ออายุมากขึ้นทุกวันอวัยวะต่าง ๆ รวมถึงกระดูกสันหลังก็ย่อมเสื่อมลงทุกวัน เป็นต้น ฉะนั้น ไม่ว่าใครก็ตาม มีปัจจัย 2 ข้อนี้ครบ ก็ถือว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคกระดูกสันหลังเสื่อมได้
อาการของโรคกระดูกสันหลังเสื่อม
1. เมื่อหลังมีอาการเสื่อมของกระดูกสันหลังขึ้น ทำให้หลังไม่สามารถรับน้ำหนักในร่างกายได้ อาการแรกที่จะเกิดขึ้นคือ อาการปวดหลัง ซึ่งอาจเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับกิจกรรมบางอย่าง เช่น การยืนนาน นั่งนาน หรือ เดิน และจะเริ่มมีอาการปวดหลังเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามระดับของความเสื่อม
2. อาการที่เกิดจากการกดทับบริเวณรากประสาทไขสันหลัง ทำให้ปวดหลัง และปวดร้าวจากหลังลงไปที่ขาถึงเท้า และมีอาการชา รวมไปถึงอาการอ่อนแรงได้ สำหรับขั้นตอนการรักษาของโรคกระดูกสันหลังเสื่อม
แพทย์จะรักษาตามขั้นตอนโดยเริ่มจากการใช้ยา กายภาพบำบัด การฉีดยาเข้าบริเวณโพรงประสาทสันหลังไป จนถึงการผ่าตัดหลัง โดยเป้าหมายในการผ่าตัดหลังนั้นหลัก ๆ จะเป็นการแก้ไขปัญหา 2 จุด คือ การกดทับของเส้นประสาท แพทย์จะทำการผ่าตัดขยายโพรงประสาทสันหลัง และปัญหาความไม่มั่นคงของกระดูกสันหลัง หรือกระดูกสันหลังเคลื่อน แพทย์จะทำการผ่าตัดโดยการใส่โลหะยึดตรึงข้อกระดูกให้แน่นขึ้น
ปัจจุบันการรักษาโดยการผ่าตัดแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ 1. การผ่าตัดแบบเปิดแผลทั่วไป 2. การผ่าตัดแบบแผลเล็ก (MIS: Minimally Invasive Surgery) เป็นการผ่าตัดโดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น การผ่าตัดส่องกล้อง เพื่อจะลดขนาดของแผลผ่าตัด รวมถึงทำให้สามารถเห็นบริเวณที่ทำการผ่าตัดได้ชัดเจนมากขึ้น รวมถึงการใส่โลหะยึดตรึงกระดูกสันหลังด้วยระบบนำวิถี (Navigator) ช่วยให้สามารถใส่โลหะยึดตรึงกระดูกได้แม่นยำมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ การผ่าตัดแผลเล็ก จะส่งผลให้มีการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อของผู้ป่วยน้อย อาการปวดหลังผ่าตัดลดลง การฟื้นตัวไวขึ้น ซึ่งผู้ป่วยจะใช้เวลาในการพักฟื้นหลังการผ่าตัดเพียง 1 - 2 คืน ก็สามารถกลับบ้านได้
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่