โดย...นพ.ธีรศักดิ์ พื้นงาม ศัลยแพทย์ระบบประสาท รพ.พญาไท 2 อินเตอร์เนชั่นแนล
อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และตามอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เป็นอาการที่พบได้ในคนทั่วไปที่นั่งทำงานอยู่กับที่ และอาการเหล่านี้เริ่มมีคนเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะบริเวณหมอนรองกระดูกสันหลังที่ถือเป็นอีกหนึ่งจุดที่คนไทยกำลังประสบปัญหาค่อนข้างหนัก สาเหตุก็มาจากการใช้งานร่างกายมากเกินไป และเกิดการแสดงท่าที่ผิดรูปทำให้เกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง และทันท่วงทีอาจส่งผลรุนแรงไปจนถึงขั้นพิการได้
หมอนรองกระดูกสันหลัง ถือเป็นอวัยวะที่คั่นอยู่ระหว่างกระดูกสันหลังแต่ละข้อ จะมีลักษณะเหนียว และยืดหยุ่น มีหน้าที่รองรับแรงกระแทก และรับน้ำหนักของร่างกาย ซึ่งหากเกิดอาการเสื่อม ปริ แตก นูน หรือปลิ้น ก็อาจจะทำให้เกิดการกดทับเส้นประสาทไขสันหลัง หรือตำแหน่งใกล้เคียง และส่งผลทำให้เกิดอาการปวดตามมาได้
สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท นอกจากการใช้งานร่างกายที่มากเกินไป และการแสดงท่าที่ผิดรูปนานๆ แล้ว การมีน้ำหนักตัวที่มากเกินไป การนั่งทำงานด้วยอิริยาบถที่ไม่ถูกต้อง อีกทั้งยังเกิดจากอุบัติเหตุ และการบาดเจ็บต่อกระดูกสันหลังด้วย
โดยการรักษาโรคชนิดนี้ได้มีการคิดค้นโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในหลายวิธี ทั้งการรับประทานยา การทำกายภาพบำบัด และอื่นๆ อีกมากมาย แต่มีหนึ่งวิธีที่ในขณะนี้ยังไม่สามารถพูดได้ชัดว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุด แต่หลังจากการรักษาแล้วถือว่าเห็นผลได้ชัดเจนว่าคนไข้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติได้ นั่นคือ การผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท
ซึ่งปัจจุบันนี้ วิธีดังกล่าวได้มีการพัฒนาให้ทันสมั ยและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แต่การผ่าตัดยังมีให้เลือกรักษาอีกหลายวิธี ทั้งการผ่าตัดแบบแผลเล็กด้วยกล้องขยายกำลังสูง หรือ Microscopic Discectomy ซึ่งวิธีนี้แพทย์จะทำการผ่าตัดหมอนรองกระดูกคนไข้ร่วมกับการใช้กล้องขยาย Microscopic ซึ่งเป็นกล้องที่มีกำลังการขยายสูง แพทย์จึงสามารถมองเห็นระบบประสาทภายในร่างกายของคนไข้ได้อย่างชัดเจน ส่งผลทำให้รักษาคนไข้ได้อย่างตรงจุด และมีประสิทธิผลสูงสุด ซึ่งการผ่าตัดครั้งนี้จะพบว่า แผลจากการผ่าตัดจะมีขนาดเล็กเพียงแค่ 2.5 เซนติเมตรเท่านั้น
นอกจากนี้ ยังมีวิธีการผ่าตัดแบบผ่านกล้อง หรือ Endoscopic Discectomy ซึ่งแพทย์จะทำการผ่าตัดหมอนรองกระดูกเพื่อเปิดแผลที่บริเวณลำตัวของคนไข้ใกล้ๆ กับบริเวณจุดที่เป็นสาเหตุของอาการปวด โดยแผลที่เปิดนั้นจะมีขนาดประมาณ 8 มิลลิเมตร จากนั้นแพทย์จะนำกล้อง Endoscopic ซึ่งมีลักษณะเป็นทรงกระบอก มีเส้นผ่าศูนย์กลางขนาดประมาณ 6 มิลลิเมตร สอดผ่านปากแผลเข้าไปยังจุดที่เป็นสาเหตุของอาการปวด และทำการผ่าตัดรักษาโดยมองผ่านจอภาพที่แสดงผลมาจากกล้อง Endroscopic ซึ่งวิธีการผ่าตัดหมอนรองกระดูกที่กล่าวถึงจะรักษาได้ผลดีมากเมื่อใช้เลเซอร์เข้ามาช่วยในการทำผ่าตัด แต่เลเซอร์จะต้องเป็นชนิดเฉพาะที่ใช้สำหรับการรักษาหมอนรองกระดูกสันหลังเท่านั้น เพราะเลเซอร์ คือ รังสีที่สามารถให้พลังงานความร้อนสูง
อย่างไรก็ตาม การใช้เลเซอร์ในการผ่าตัดรักษาหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทนั้น แพทย์จะทำการใช้เลเซอร์ยิงไปยังหมอนรองกระดูกที่เสื่อม และปลิ้นออกมากดทับที่เส้นประสาทไขสันหลัง ความร้อนจากเลเซอร์จะค่อยๆ สลายหมอนรองกระดูกที่ปลิ้นออกมาให้หดกลับเข้าไปยังข้อกระดูกสันหลัง วิธีนี้จะช่วยลดความเสี่ยงในระหว่างการผ่าตัดได้เป็นอย่างดี
การผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาททั้ง 3 วิธีข้างต้น ถูกพัฒนาด้วยวิธีการรักษา และอุปกรณ์เครื่องมือที่ทันสมัย ทำให้คนไข้ใช้เวลาในการผ่าตัดไม่นาน ที่สำคัญยังเจ็บตัวน้อยมาก เพราะขนาดแผลมีขนาดที่เล็กกว่าการรักษาในสมัยอดีต ทำให้หลังการผ่าตัดคนไข้สามารถลุกขึ้นเดินได้ภายใน 24 ชั่วโมง และสามารถฟื้นฟูสภาพร่างกายได้อย่างรวดเร็ว ที่สำคัญเมื่อทำการรักษาด้วยวิธีนี้เสร็จสิ้น คนไข้ยังมีโอกาสหายขาด และสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติเช่นเคย
อย่างไรก็ตาม แนวทางการรักษาทั้งหมดนี้หากได้แพทย์ศัลยกรรมประสาทเข้ามาเป็นแพทย์ผ่าตัดแล้ว ถือว่าการรักษาจะเพิ่มประสิทธิภาพเป็นอย่างมาก เพราะการผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทนั้น จะมีความเชื่อมโยงในระบบของเส้นประสาทที่เชื่อมต่อกับสมอง ซึ่งถือเป็นจุดสำคัญ เพราะหากผิดพลาดอาจส่งผลเสียต่อร่างกาย จนอาจนำไปถึงการพิการทางร่างกายก็เป็นได้
แม้จะได้รับคำยืนยันว่า การรักษานี้จะทำให้คนไข้มีโอกาสไม่กลับมาเป็นโรคชนิดนี้อีกครั้ง และสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่คนไข้ก็ไม่ควรยกของหนักด้วยท่าทางที่ไม่ถูกต้องบ่อยๆ หมั่นออกกำลังกาย และควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินมาตรฐาน ส่วนวัยทำงานก็ไม่ควรทำงานด้วยอิริยาบถที่ไม่ถูกต้องนานๆ เพราะอาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้ ที่สำคัญ หากมีอาการปวดเมื่อยในบริเวณที่เคยเป็นโรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทแล้ว หรือมีอาการที่แสดงถึงความผิดปกติของร่างกายก็ไม่ควรจะปล่อยทิ้งไว้ และจะต้องเข้ารับการตรวจเช็คอย่างละเอียดจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันทีที่เกิดอาการ
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่