นพ.ประพันธ์ โกมลมาลย์
ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ-การบาดเจ็บของกระดูก
โรงพยาบาลเวชธานี
ปัจจุบัน ยังพบได้บ่อยๆ ในผู้สูงอายุที่มักเกิดอาการหกล้ม ซึ่งจะส่งผลให้กระดูกหักได้ ดังนั้น ลูกๆ หลานๆ หรือคนใกล้ตัวควรใส่ใจดูแลอย่างใกล้ชิด มิฉะนั้นแล้วอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา และอาจส่งผลก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตได้ ทั้งนี้ จึงควรให้ความสำคัญต่อการป้องกัน และการรักษา เพื่อให้คุณภาพชีวิตในผู้สูงอายุดีต่อไป
กระดูกหักในผู้สูงอายุเกิดได้อย่างไร
การเกิดกระดูกหักในผู้สูงอายุมักมีปัจจัยส่งเสริมทั้งสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ลักษณะทางเดินในบ้าน แสงสว่างภายในบ้าน ราวจับยึดเกาะภายในบ้าน การปูพื้นบ้าน และปัจจัยจากตัวผู้ป่วยเอง ซึ่งได้แก่ การบกพร่องการมองเห็น การทรงตัว ภาวะเจ็บป่วยเรื้อรังบางอย่าง การใช้ยาบางชนิดรวมไปถึงความแข็งแรงของกระดูก
ใครมีปัจจัยเสี่ยงต่อกระดูกหัก
เพศหญิงมักจะพบได้มากกว่าเพศชาย ในภาวะผู้สูงอายุที่ทำให้กระดูกหัก หญิงวัยหมดประจำเดือน หรือตัดรังไข่ออกทั้ง 2 ข้าง คนที่ไม่ชอบออกกำลังกาย กินอาหารที่มีแคลเซียมน้อย อาหารที่มีไขมันมาก จะขัดขวางการดูดซึมแคลเซียม สูบบุหรี่จัด ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และกาเฟอีน เช่น กาแฟ น้ำชา ในปริมาณมากๆ เป็นประจำ ผู้ที่กินยาบางชนิด ซึ่งทำให้การดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่ร่างกายลดลง เช่น ยารักษาไทรอยด์ ยาพวกสเตียรอยด์ ยาขับปัสสาวะ เป็นต้น ผู้ที่ป่วยเป็นโรคที่เกิดจากการทำงานของต่อมไร้ท่อผิดปกติ เช่น โรคไทรอยด์ โรคเบาหวาน โรคของต่อมหมวกไต หรือการเข้าเฝือกเป็นระยะเวลานาน โรคอัมพฤกษ์-อัมพาตปัจจัย ซึ่งจะทำให้โครงสร้างของเนื้อกระดูกเสื่อม และทำให้ความหนาแน่นของเนื้อกระดูกลดลงได้
กระดูกส่วนไหนที่หักบ่อย
ส่วนกระดูกหักในผู้สูงอายุที่มักพบได้บ่อยมักเป็นบริเวณช่วงข้อสะโพก ข้อมือ กระดูกสันหลัง โดยมากอาการแต่ละส่วนจะแตกต่างกันไปตามกระดูกที่หัก เช่น ถ้ากระดูกหักบริเวณข้อสะโพกมักจะเคลื่อนไหวไม่ได้ หรือไม่สามารถลงน้ำหนักบริเวณขาด้านนั้นได้
กระดูกหักในผู้สูงอายุรักษาอย่างไร
การรักษากระดูกหักในผู้สูงอายุมีความแตกต่างกันไป ตามแต่ละตำแหน่งที่หัก โดยการรักษามีทั้งแบบไม่ผ่าตัดและแบบผ่าตัด ทั้งนี้ปัจจุบันด้วยวิวัฒนาการที่ก้าวไกล ด้วยการผ่าตัดแบบทำลายเนื้อเยื่อน้อย จะช่วยให้แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กลง ลดอาการเจ็บแผล และใช้ระยะเวลาในการพักฟื้นน้อยกว่าการผ่าตัดแบบเปิดแผล ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วขึ้น
การป้องกันกระดูกหักในผู้สูงอายุ
การป้องกันกระดูกหักในผู้สูงอายุสำคัญที่สุด คือ การป้องกันโรคกระดูกพรุน ที่ทำให้กระดูกหัก ทั้งนี้ ควรมีการตรวจวัดความหนาแน่นมวลกระดูกที่ได้มาตรฐานเพื่อที่จะรักษาอย่างถูกต้อง รวมไปถึงการปรับสภาวะแวดล้อมภายในบ้านให้เหมาะสมต่อผู้สูงอายุด้วย
ติดตาม Facebook Fanpage ของ "Quality of Life" ได้ที่