อุบลราชธานี - ชาวอุบลราชธานีนำหลักธรรมชาติผสมวิทยาศาสตร์ใช้คลายความร้อนจากอุณหภูมิที่สูงเฉลี่ย 40-42 องศาเซลเซียส โดยทำบ่อเลี้ยงปลา ฉีดน้ำเลี้ยงบนหลังคา ปลูกต้นไม้บังแดด ขณะ สคร.10 เตือนประชาชนระวังโรคติดต่อหน้าร้อน และโรคลมแดด สำหรับผู้ทำงานอยู่กลางแดดนานๆ ควรหลีกเลี่ยงเพราะทำให้ตายได้
จากที่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระบุว่า วันที่ 26 เม.ย.นี้ดวงอาทิตย์จะอยู่ในแนวตั้งฉากกับประเทศไทย ส่งผลให้พื้นโลกรับพลังงานความร้อนจากดวงอาทิตย์เต็มที่กว่าทุกวันที่ผ่านมา ทำให้ที่ร้านครัวคุณชาย ร้านขายอาหารตามสั่ง ตั้งอยู่ ถ.พโลชัย ต.ในเมือง อ.เมืองอุบลราชธานี มีวิธีรับมืออากาศร้อน โดยนายจักฤษณ์ ประเสริฐศรี อายุ 42 ปี เจ้าของร้านได้ต่อท่อใช้ฉีดน้ำเลี้ยงบนหลังคาเพื่อไม่ให้ความร้อนแผ่ลงมาด้านล่างอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ยังมีการนำพัดลมไอน้ำมาติดตั้งแทนการใช้พัดลมเพดาน ซึ่งจะเป็นตัวดึงความร้อนจากหลังคาลงมาในร้าน
ขณะเดียวกันยังมีการนำต้นไม้ที่ปลูกไว้ตั้งแต่ปีที่ผ่านมามาใช้สร้างร่มเงาไม่ให้ตัวอาคารรับแสงแดดจากพระอาทิตย์โดยตรง และทำบ่อเลี้ยงปลาไว้กลางร้านเป็นการอาศัยหลักธรรมชาติผสมผสานกับวิทยาศาสตร์มาใช้เพื่อเป็นการคลายร้อนในปีนี้
ด้านนายแพทย์ ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จ.อุบลราชธานี (สคร.10) กล่าวถึงการป้องกันโรคติดต่อช่วงที่มีอากาศร้อนจัด คือ โรคที่มากับการกินอาหารและน้ำดื่ม เช่น โรคอุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ โรคบิด การป้องกันให้รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ หากเก็บไว้นานให้นำอาหารมาอุ่นให้ร้อนก่อนรับประทาน
ส่วนผู้ที่ต้องทำงานกลางแจ้ง ซึ่งจังหวัดอุบลราชธานีมีอุณหภูมิในช่วงที่ผ่านมาสูงเฉลี่ย 40-42 องศาเซลเซียส ทำให้เกิดโรคลมแดด คือ โรคที่เกิดจากร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไป ทำให้ความร้อนในร่างกายสูงกว่า 40 องศา อาการเบื้องต้นคือ อ่อนเพลีย หน้ามืด เป็นลม หากรุนแรงอาจมีอาการตัวร้อนจัด คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีจะทำให้เสียชีวิตได้
บุคคลที่เสี่ยงต่อโรคลมแดด คือ ทหารที่เข้ารับการฝึกโดยปราศจากการเตรียมความพร้อม ผู้สูงอายุ เด็ก คนดื่มสุราจัด วิธีป้องกันตนเอง ดื่มน้ำวันละ 6-8 แก้ว สวมเสื้อผ้าสีอ่อน ไม่หนา และหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดเป็นเวลานานๆ ทั้งนี้ ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลความรู้เพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
“จากข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรคตั้งแต่ต้นปี 2559 มีผู้ป่วยทั้ง 5 โรคติดต่อทางอาหารและน้ำ รวม 356,827 ราย เสียชีวิต 3 ราย โรคที่พบมากอันดับ 1 ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง 319,859 ราย เสียชีวิต 2 ราย รองลงมาคือ โรคอาหารเป็นพิษ 35,038 ราย โรคบิด 1,410 ราย โรคไข้รากสาดน้อยหรือไข้ไทฟอยด์ 479 ราย โรคอหิวาตกโรค 41 ราย เสียชีวิต 1 ราย ตามลำดับ” ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 กล่าวในที่สุด