xs
xsm
sm
md
lg

เกษตรกรเลี้ยงปลาราชสาส์นร้องน้ำแล้งปลาลอยตายเกลื่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ฉะเชิงเทรา - สภาพอากาศร้อนทำน้ำแล้งหนัก เกษตรกรแปดริ้วไม่มีน้ำเติมเข้าบ่อเลี้ยงปลา ทำให้คุณภาพน้ำในบ่อตกต่ำ ปลาลอยตายเกลื่อน ขณะลำคลองชลประทานยังขาดน้ำหล่อเลี้ยงมานาน ด้านชาวบ้านชี้ระบบการก่อสร้างคลองส่งน้ำไม่สมดุลต่อสภาพภูมิศาสตร์ความสูงต่ำของพื้นที่ ทำเกิดปัญหากระทบต่ออาชีพทำกิน

วันนี้ (23 มี.ค.) เมื่อเวลา 14.30 น. นายติ่ง วรรณโมลี อายุ 66 ปี อยู่บ้านเลขที่ 44/1 ม.7 ต.เมืองใหม่ อ.ราชสาส์น จ.ฉะเชิงเทรา เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในบ่อดิน กล่าวถึงความเดือดร้อนของชาวบ้านเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาน้ำจืดในเขตพื้นที่ อ.ราชสาส์น ว่า ขณะนี้เกษตรกรจำนวนหลายรายกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำดิบ หรือน้ำต้นทุนในการเติมเข้าสู่บ่อเลี้ยงปลาเป็นอย่างมาก จนทำให้เกิดภาวะน้ำในบ่อขาดคุณภาพ จนมีปลาลอยตายเกลื่อนทั่วทั้งขอบบ่อ ทั้งที่ใกล้จะจับขายออกสู่ตลาดได้แล้ว

โดยสาเหตุมาจากสภาพอากาศที่ร้อน และในพื้นที่มีสภาพแห้งแล้งจนไม่มีน้ำต้นทุนที่จะนำมาเติมใส่ลงไปในบ่อเลี้ยงปลาได้อีก จึงนำให้คุณภาพน้ำในบ่อที่เริ่มแห้งขอดลดระดับลงนั้นมีคุณภาพที่ต่ำลง จึงทำให้ปลาเกิดอาการเจ็บป่วย มีอาการท้องแดง เหงือกแดง ลอยตายไปทั่วทั้งบ่อ สำหรับบ่อของตนนั้นมีเนื้อที่ประมาณ 8 ไร่ ได้ปล่อยเลี้ยงปลาไว้หลากหลายชนิด ทั้งปลาตะเพียน ปลายี่สก ปลาจีน ปลาสวาย และปลานิล ที่กำลังทยอยตายอย่างต่อเนื่องมานานกว่า 1 สัปดาห์แล้ว

ด้าน นายวิวัฒน์ จิตนะวัฒน์ อายุ 53 ปี อยู่บ้านเลขที่ 61 ม.4 ต.ปากน้ำ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา เกษตรกรอีกรายกล่าวว่า ตนมีบ่อเลี้ยงปลาอยู่ในเขตพื้นที่ ม.4 ต.เมืองใหม่ อ.ราชสาส์น จ.ฉะเชิงเทรา จำนวนกว่า 20 ไร่ ที่ผ่านมา ต้องประสบปัญหาเกี่ยวกับการขาดแคลนน้ำมาโดยตลอด เนื่องจากการก่อสร้างระบบคลองส่งน้ำของกรมชลประทานที่ส่งผ่านระบบคลองลอย หรือคลองปูน มาจากอ่างเก็บน้ำคลองสียัด อ.ท่าตะเกียบ มานั้น ส่วนใหญ่น้ำจะมาไม่ถึงพื้นที่ในบริเวณนี้ซึ่งเป็นคลองลอยเมืองใหม่ ซอย 2

เนื่องจากระดับพื้นที่ทางตอนปลายของลำคลองนั้นเป็นพื้นที่สูง จึงทำให้น้ำที่มีการปล่อยลงมาจากอ่างเก็บน้ำเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงฤดูแล้งนั้น จึงมาไม่ถึงยังกลุ่มเกษตรกรในบริเวณนี้ ทำให้เกิดผลกระทบ และเป็นปัญหาในการทำกินของชาวบ้านเป็นอย่างมาก เนื่องจากไม่สามารถที่จะทำกินอะไรได้เลยตลอดทั้งปี เพราะในเวลาฤดูน้ำหลากนั้น น้ำก็ท่วม พอถึงช่วงปลายฤดูฝนจะปล่อยปลา ปลาก็ต้องมาตายในช่วงของฤดูแล้ง เพราะขาดน้ำหล่อเลี้ยงที่จะนำมาเติมลงในบ่อปลา เพราะการเลี้ยงปลานั้นต้องใช้เวลาเลี้ยงยาวนานเป็นเวลาหลายเดือน จนชาวบ้านที่นี่ก็ไม่รู้ว่าจะไปทำกินอะไรกันต่อไปได้อีกแล้ว

จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยกันแก้ปัญหาให้แก่ชาวบ้านด้วย เพราะตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ในช่วงที่เคยเป็นคลองดินตามธรรมชาตินั้น น้ำไม่เคยขาดไปจากลำคลองสายนี้ แต่เมื่อมีการเข้ามาก่อสร้างคลองลอย หรือคลองปูนส่งน้ำเข้ามาจากทางชลประทานนั้น ในลำคลองสายนี้น้ำกลับไหลมาไม่ถึงชาวบ้าน จึงอยากให้ทางราชการช่วยทุบคลองส่งน้ำ หรือคลองปูนนี้ทิ้งไปเสีย เพื่อไม่ให้ชาวบ้านต้องเดือดร้อนกันอีกต่อไป หรือหากมีหน่วยงานใดเข้ามาช่วยแก้ปัญหาให้แก่ชาวบ้านได้ก็จะขออนุโมทนาสาธุต่อหน่วยงานนั้นๆ

“เพราะตลอดเวลาที่มีการก่อสร้างคลองลอยเข้ามาแล้วนั้น กลับไม่มีน้ำไหลเข้ามาในลำคลองให้แก่ชาวบ้านได้ทำกินเลย ทุกคนจึงต่างพากันเดือดร้อนเป็นอย่างมาก เพราะไม่ว่าจะเลี้ยงปลา ทำนา หรือเลี้ยงกุ้ง ทำสวนมะม่วง ก็ทำกินอะไรไม่ได้เลย” นายวิวัฒน์ กล่าว

ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาคลองสียัด ยังได้มีการปล่อยระบายน้ำลงมาสู่ระบบการส่งน้ำของกรมชลประทานในอัตราวันละ 250,000 ลบ.ม. และระบายลงสู่ลำคลองธรรมชาติเพื่อหล่อเลี้ยงระบบนิเวศในคลองสียัด จำนวน 200,000 ลบ.ม. ขณะที่ปัจจุบันน้ำในอ่างเก็บน้ำสียัด ยังมีน้ำคงเหลืออยู่ที่ 112.21 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 26.72 จากความจุของอ่างที่ 420 ล้าน ลบ.ม.



กำลังโหลดความคิดเห็น