กรมควบคุมโรคร่วม สวทช. พัฒนาซอฟต์แวร์ “ทันระบาด” แอปพลิเคชันสำรวจแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย หวังสร้างการรายงาน แก้ปัญหาไข้เลือดออกในพื้นที่ได้รวดเร็ว จัดประชุมถ่ายทอดการใช้นวัตกรรมทั่วประเทศ
วันนี้ (26 เม.ย.) ที่โรงแรมอมารี แอร์พอร์ต ดอนเมือง กรุงเทพฯ นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดประชุมเชิงปฏิบัติการการถ่ายทอดชุดซอฟต์แวร์ “ทันระบาด” (TanRaBad Software Suite) ว่า ปัจจุบันภาวะโลกร้อน ทำให้วงจรการเกิดยุงเร็วขึ้นและเพิ่มจำนวนได้มากขึ้น โดยโรคที่เกิดจากยุงลายเป็นพาหะ จึงมีโอกาสเพิ่มสูงขึ้น เช่น โรคไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อยุงลาย (ชิคุนกุนยา) และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา เป็นต้น โดยเฉพาะโรคไข้เลือดออก จากข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกในปี 2559 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 18 เมษายน 2559 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกทั่วประเทศแล้ว 15,148 รายเสียชีวิต 12 ราย จังหวัดที่มีผู้ป่วยสูงสุด คือ กรุงเทพมหานคร จำนวน 3,228 ราย และจากการพยากรณ์โรคคาดการณ์ว่า ปี 2559 นี้ จะมีผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกมากถึง 166,000 ราย
กรมควบคุมโรค ได้พัฒนาระบบการจัดการแก้ไขปัญหาไข้เลือดออกในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (Bangkok Dengue Unit : BDU) โดยมีการพัฒนาร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) และหน่วยงานกรมควบคุมโรค ประกอบด้วย สำนักระบาดวิทยา สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง และ ศูนย์สารสนเทศ กรมควบคุมโรค รวมทั้งสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (ชื่อเดิม สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 13 กรุงเทพฯ) ร่วมดำเนินการดังกล่าว
นพ.อำนวย กล่าวว่า สำหรับการประชุมในครั้งนี้ เกิดจากการร่วมกันพัฒนานวัตกรรมใหม่ เป็นชุดซอฟต์แวร์ชื่อ “ทันระบาด” โดยร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งชุดซอฟต์แวร์นี้เป็นเครื่องมือสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ เพื่อสำรวจแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายที่ทันสมัยสามารถประมวลผลให้ทราบทันที ผลการสำรวจโดยเครื่องมือนี้แสดงให้เห็นจุดเสี่ยงของการระบาดของ โรคไข้เลือดออกได้ทันที สามารถพยากรณ์ความเสี่ยง และใช้เตือนภัย ป้องกันควบคุมโรคที่นำโดยยุงลาย นับเป็นการพัฒนาระบบการจัดการแก้ไขปัญหาโรคไข้เลือดออกให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ได้ขยายผลการใช้นวัตกรรมนี้ไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย โดยผ่านการประชุมเชิงปฏิบัติการการถ่ายทอดการใช้ชุดซอฟต์แวร์ “ทันระบาด” มีการฝึกปฏิบัติการสำรวจลูกน้ำยุงลายด้วยแอพพลิเคชั่น ทันระบาด-SERVEY โดยเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบและการสร้างรายงานด้วย ทันระบาด-REPORT เพื่อการแก้ไขปัญหาโรคไข้เลือดออกในพื้นที่อย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญ ยังมีแผนการขยายผลการใช้ชุดซอฟต์แวร์ “ทันระบาด” ให้กับประเทศในอาเซียน ในกิจกรรมวันไข้เลือดออกอาเซียน (ASEAN Dengue Day) วันที่ 15 มิถุนายน 2559 ซึ่งจะมีอธิบดีกรมควบคุมโรคจาก 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนมาร่วมการประชุมในงานดังกล่าวด้วย หากมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร. 1422
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่