xs
xsm
sm
md
lg

อย่าตระหนก!! พบเชื้อ “ชิคุนกุนยา” ในลิง เรื่องปกติ ยันไม่พบกลายพันธุ์ ดื้อยา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมควบคุมโรคแจงพบเชื้อ “ชิคุนกุนยา” ในลิง ถือเป็นเรื่องปกติ ยังไม่พบการกลายพันธุ์ หรือ ดื้อยา เผยสถานการณ์ล่าสุดพบผู้ป่วยเพียง 4 ราย จาก 3 จังหวัดพื้นที่ตอนใต้ของไทย แนะเดินหน้า 3 เก็บ 3 โรค ช่วยป้องกัน

วันนี้ (7 มี.ค.) นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ตรวจพบเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาในลิงแสม ในพื้นที่สาธารณะ วัด และเขตอนุรักษ์ป่า จ.กระบี่ ซึ่งเป็นต้นตอโรคไข้ปวดข้อยุงลาย ว่า การติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา มีการแพร่เชื้อ 2 วงจร คือ คน - ยุง - ลิง ซึ่งวงจรนี้ส่วนใหญ่พบในทวีปแอฟริกา ซึ่งอาจทำให้มีผู้ป่วยประปราย หรืออาจมีการระบาดเล็ก ๆ ได้เป็นครั้งคราว เมื่อมีผู้ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันเข้าไปในพื้นที่ที่มีเชื้อ และคนอาจนำมาสู่ชุมชนเมือง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มียุงลายชุกชุม ทำให้เกิดวงจรแพร่เชื้อ คน - ยุง - คน โดยสามารถเกิดการแพร่เชื้อจากคนไปคน โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรคได้ ส่วนในทวีปเอเชีย การแพร่เชื้อส่วนใหญ่เป็นแบบ คน - ยุง - คน โดยมี ยุงลาย เป็นพาหะที่สำคัญ ซึ่งอุบัติการณ์ของโรคเป็นไปตามการแพร่กระจายและความชุกชุมของยุงลาย มีรายงานจากประเทศต่าง ๆ ในทวีปเอเชีย ได้แก่ กัมพูชา เวียดนาม พม่า ศรีลังกา อินเดีย อินโดนีเซีย และ ฟิลิปปินส์ เป็นต้น

“ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก เนื่องจากไม่มีรายงานการกลายพันธุ์ที่มีนัยสำคัญ กล่าวคือ ยังไม่มีรายงานว่า เชื้อไวรัสมีความรุนแรงมากขึ้น หรือมีการดื้อยา ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคจะได้หารือกับกรมอุทยานฯ ภายใต้ความร่วมมือ การดำเนินงานด้านสุขภาพหนึ่งเดียวเพื่อความมั่นคงทางสุขภาพของประเทศต่อไป อย่างไรก็ตาม ขอความร่วมมือหน่วยงานทั้งรัฐ เอกชน และประชาชน ร่วมมือกันอย่างจริงจัง ในการป้องกันยุงลายไม่ให้เกิด และไม่ให้ยุงลายกัด โดยเริ่มต้นจากที่บ้าน เพราะยุงลายอยู่ตามบ้าน ขอให้หน่วยงานในพื้นที่ ดำเนินการตามมาตรการ “3 เก็บ 3 โรค” ได้แก่ เก็บบ้านให้ปลอดโปร่งไม่ให้ยุงลายเกาะพัก เก็บขยะเศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย และเก็บน้ำ ปิดให้มิดชิด หรือเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกสัปดาห์ไม่ให้ยุงลายวางไข่ ซึ่งสามารถป้องกันได้ 3 โรค คือ ไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย” อธิบดี คร. กล่าว

นพ.อำนวย กล่าวว่า โรคชิคุนกุนยา หรือ ไข้ปวดข้อยุงลาย เกิดจากการโรคติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะนำโรค โรคนี้มีระยะฟักตัวโดยทั่วไปประมาณ 1 - 12 วัน แต่ที่พบบ่อยประมาณ 2 - 3 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงฉับพลัน มีผื่นแดงตามร่างกาย ตาแดง ผู้ใหญ่มักมีอาการรุนแรงมากกว่าเด็ก ในผู้ใหญ่อาการที่เด่นชัด คือ อาการปวดข้อ ซึ่งอาจพบข้ออักเสบได้ ส่วนใหญ่จะเป็นที่ข้อเล็ก ๆ เช่น ข้อมือ ข้อเท้า อาการปวดข้อจะพบได้หลาย ๆ ข้อเปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อย ๆ  อาการจะรุนแรงมากจนบางครั้งขยับข้อไม่ได้ อาการจะหายภายใน 1 - 12 สัปดาห์ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดข้อเกิดขึ้นได้อีกภายใน 2 - 3 สัปดาห์ต่อมา และบางรายอาการปวดข้อจะอยู่ได้นานเป็นเดือนหรือเป็นปี ไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงถึงช็อก โรคนี้จะพบมากในฤดูฝน เมื่อประชากรยุงเพิ่มขึ้นและมีการติดเชื้อในยุงลายมากขึ้น พบโรคนี้ได้ในทุกกลุ่มอายุ ในประเทศไทยพบมีการระบาดของโรคชิคุนกุนยา 7 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2531 ที่จังหวัดสุรินทร์ พ.ศ. 2534 ที่จังหวัดขอนแก่นและปราจีนบุรี ในปี พ.ศ. 2536 มีการระบาด 3 ครั้งที่จังหวัดเลย นครศรีธรรมราช และหนองคาย และปี พ.ศ. 2551 ที่จังหวัดนราธิวาส ส่วนสถานการณ์ล่าสุด จากข้อมูลเฝ้าระวังโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 - 16 กุมภาพันธ์ 59 พบผู้ป่วยเพียง 4 ราย จาก 3 จังหวัดในพื้นที่ตอนใต้ของประเทศไทย

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น