xs
xsm
sm
md
lg

เร่งวิเคราะห์มาตรฐานข้อมูล ชี้ชะตา “เหมืองทองคำชาตรี” กระทบสิ่งแวดล้อม-สุขภาพ-ต่อใบอนุญาตหรือไม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เร่งวิเคราะห์ผลสำรวจ คลอดข้อมูลมาตรฐานเดียวพิจารณา “เหมืองทองคำชาตรี” กระทบสิ่งแวดล้อม สุขภาพคนจริงหรือไม่ พร้อมใช้ชี้ชะตาต่อสัมปทาน หลังหมดอายุ 13 พ.ค.นี้

เมื่อวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา รัฐมนตรี 4 กระทรวง ประกอบด้วย ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดร.วิจารย์ สิมาฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ตัวแทน รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่เหมืองทองคำอัครไมนิ่ง ของบริษัทอัครา รีซอสเซสต์ จำกัด (มหาชน) อ.ทับคล้อ จังหวัดพิจิตร เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพประชาชน พร้อมรับฟังความคิดเห็นประชาชนทั้งฝ่ายคัดค้าน และฝ่ายสนับสนุนการทำเหมืองแร่ทอง เพื่อร่วมพิจราณากำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ และพิจารณาว่าจะต่ออายุใบอนุญาตของบริษัทฯ ดังกล่าว ซึ่งจะหมดลงในวันที่ 13 พ.ค.2559 หรือไม่

นางอรรชกา กล่าวว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้ เนื่องจากนายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงในเรื่องดังกล่าว จึงให้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง และรับฟังความคิดเห็น โดยเฉพาะประเด็นผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และประชาชน ซึ่งที่ผ่านมา มีการสำรวจ และเก็บข้อมูลจากหลายหน่วยงานพบว่า มีค่าไม่ตรงกัน และใช้มาตรฐานคนละอย่าง การพิจารณาในครั้งนี้จึงให้สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ วิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดให้เป็นมาตรฐานเดียว ได้แก่ ตะกอนดิน น้ำ พืชผัก ฝุ่น หรือมลพิษทางอากาศ และเสียงจากการสั่นสะเทือน เพื่อพิจารณาว่ามีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจริงหรือไม่ และกระทบต่อสุขภาพประชาชนจริงหรือไม่ ยกตัวอย่าง สารหนูในตะกอนดิน หากเป็นที่อยู่อาศัยกำหนดไม่เกิน 3.9 ppm แต่สำหรับมาตรฐานการเกษตรอยู่ที่ 30 ppm ค่าสารหนูในดินธรรมชาติมีได้ถึง 40 ppm ซึ่งจากการสำวจดินทั่วประเทศกว่า 1,300 ตัวอย่างพบว่า มีสารหนูในดินอยู่แล้วมากกว่า 40 ppm กว่า 791 ตัวอย่าง ก็ต้องมาดูให้ชัดเจนว่าจะใช้มาตรฐานไหนในการพิจารณา หรืออย่างการสำรวจน้ำที่มีค่าโลหะหนักเกินมาตรฐานก็ต้องมาทำให้เป็นมาตรฐานเดียวเช่นกัน นอกจากนี้ ยังพบว่าเกิดจากการไม่ดูแลระบบประปา ซึ่งหลังจากทำความสะอาดก็ดีขึ้น

ทั้งนี้ มาตรฐานดังกล่าวจะต้องเสร็จสิ้นก่อนวันที่ 13 พ.ค. เพื่อพิจารณาว่าส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชนหรือไม่ เพราะหากมีผลกระทบจริงก็อาจไม่ต่อใบอนุญาตให้แก่บริษัทฯ และหากข้อมูลไม่ทันวันที่ 13 พ.ค. บริษัทก็ต้องหยุดทำเหมืองไปก่อนเนื่องจากหมดสัมปทาน

สำหรับการลงพื้นที่เหมืองก็ได้รับรายงานว่า การกำจัดไซยาไนด์ซึ่งเป็นสารในการสกัดแร่ทองคำและเงินออกมา ก็มีระบบปิดที่ได้มาตรฐาน ค่าสารไซยาไนด์ที่ต้องไม่เกิน 20 ppm ก็พบว่าไม่เกิน 1 ppm

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า กรมอนามัย มีการตรวจสอบพบระบบประปาในพื้นที่มีค่าแมงกานีส และเหล็กเกินมาตราฐาน 10 จุดจาก 49 จุด โดยปัญหาที่พบ ได้แก่ ฐานบ่อบาดาลสกปรก มีสนิมเหล็กในบ่อกรองทราย ไม่มีการระบายตะกอนออกจากหอถังสูง บางระบบไม่มีการปรับปรุงคุณภาพน้ำสูบจ่ายตรง จึงได้ร่วมกับองค์การปกครองท้่องถิ่น ดำเนินการแก้ไขระบบประปาที่มีค่าแมงกานีส และเหล็กเกินมาตราฐาน จำนวน 10 จุด และมีระบบประปาที่ประชาชนเสนอเพิ่มเติมอีก 6 จุด รวมเป็นจำนวน 16 จุด ขณะนี้ดำเนินการเสร็จแล้วทุกแห่ง สำหรับระบบประปาที่ประชาชนมีความกังวล แม้จะเป็นจุดที่ไม่พบว่ามีค่าเกินมาตรฐาน แต่ สธ. ได้เข้าไปตรวสอบและดูแลให้เกิดความปลอดภัย

ส่วนการยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส นายศักดา พันธ์กล้า รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ชี้แจงว่า ขณะนี้ยังไม่มีการตัดสินใจต่ออายุหรือไม่ต่ออายุใบอนุญาต เพราะยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของทางกระทรวงฯ ที่จะต้องนำผลการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้ง และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัคราฯ มาพิจารณาอีกครั้ง

ทั้งนี้ การลงพื้นที่ดังกล่าวมีประชาชนทั้งฝ่ายสนับสนุน และคัดค้านมายื่นข้อคิดเห็น โดยฝ่ายคัดค้านมองว่า เป็นการทำลายทรัพยากร ปนเปื้อนสารพิษ ปีที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตแล้วจำนวนมาก ส่วนกลุ่มสนับสนุนระบุว่า กลุ่มค้านไม่ใช่เสียงบริสุทธิ์ เพราะคนในพื้นที่ส่วนใหญ่ก็อยู่รอบเหมืองและสนับสนุน เพราะก่อให้เกิดการจ้างงาน มีรายได้ อีกทั้งก็ไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพตามอ้าง ซึ่งสารพิษที่เกิดขึ้นน่าจะมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ยังรับสารพิษมากกว่า เช่น ใช้ยาฆ่าแมลงในการทำการเกษตร เป็นต้น






ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น