ระยอง-จ.ระยอง เปิดตัวโครงการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ปี 2557 โดยมี 3 เขตประกอบการอุตสาหกรรมได้รับมอบตราสัญลักษณ์อุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เพื่อเป็นแนวทางที่จะส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรม และภาคชุมชน สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข
วันนี้ (27 ส.ค.) ที่ห้องสร้อยเพชร โรงแรมโกลเด้นซิตี้ อ.เมืองระยอง นายศักดา พันธ์กล้า รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดตัวโครงการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) ประจำปี 2557
โดยมี นายวราวุธ ปิ่นเงิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ร.อ.ธเนศ จันทกลิ่น ผู้อำนวยการสำนักโรงงานอุตสาหกรรมสาขา 4 นายปรีชา รุ่งรัตน์ ที่ปรึกษากรมโรงงานอุตสาหกรรม นายสุรพล สุทธจินดา อุตสาหกรรมจังหวัดระยอง นายวีระพล พวงพิทยาวุฒิ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง
นางณัฏชภา แสงจันทร์พงษ์ ปลัดอำเภอเมือง นายทวนทน คำมีศรี ที่ปรึกษานายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ระยอง นายสนิท พุทธสังข์ ประธานสภา อบต.หนองละลอก นายพรรรัตน์ เพชรภักดี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ดร.ไชยยศ บุญญากิจ ที่ปรึกษาบริษัท UAE
นายธนินทร์ ทรัพย์บุญเรือง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท เหมราช พัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) นายโพธิวัฒน์ เผ่าพงศ์ช่วง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด(มหาชน) และชาวบ้านในพื้นที่เขตประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมเข้าร่วมงานจำนวนมาก และมีพิธีมอบตราสัญลักษณ์อุตสาหกรรมเชิงนิเวศให้แก่เขตประกอบการไออาร์พีซี เขตชุมชนอุตสาหกรรม ไอ.พี.พี. และเขตประกอบการอุตสาหกรรมเหมราชระยอง
นายศักดา พันธ์กล้า รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้กล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาภาคอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ที่เน้นการบริหารจัดการการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า หมุนเวียนการใช้ของเสียกลับมาเป็นทรัพยากร และลดการเกิดของเสียโดยใช้เทคโนโลยีสะอาด ส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และความร่วมมือกันระหว่างโรงงาน ชุมชน และภาครัฐ เพื่อเป็นการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศ และปรับโครงสร้างเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรม
จึงได้กำหนดนโยบายพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจของทั้งภาคอุตสาหกรรม และภาคชุมชน ควบคู่กับการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยคำนึงถึงการดำรงอยู่ของวิถีสังคม และวัฒนธรรมให้อยู่อย่างปกติสุข และยั่งยืน
สำหรับจังหวัดระยอง เป็นที่ทราบกันดีว่า เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก แต่ก็มีบางส่วนที่ยังก่อให้เกิดปัญหาทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม และสังคม ประชาชนในพื้นที่ยังขาดความสัมพันธ์อันดี และขาดความไว้วางใจต่อผู้ประกอบการจนส่งผลต่อภาพลักษณ์ของภาคอุตสาหกรรมโดยรวม
จังหวัดระยอง จึงเป็นเป้าหมายที่สำคัญของกรมโรงงานอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะต้องร่วมมือพัฒนาภาคอุตสาหกรรมเข้าสู่ความเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ซึ่งเป็นแนวทางที่จะส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรม และภาคชุมชนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข เป็นพื้นฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน
นายศักดา กล่าวต่อไปว่า การดำเนินการโครงการฯ ในพื้นที่ของจังหวัดระยอง ประกอบด้วย 3 พื้นที่ ได้แก่ เขตประกอบการอุตสาหกรรมไออาร์พีซี เขตประกอบการอุตสาหกรรมเหมราชระยอง ชุมชนอุตสาหกรรม ไอ.พี.พี. จังหวัดระยอง เป็นจังหวัดที่มีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่มากกว่า 2,000 โรงงาน มีนิคมอุตสาหกรรม เขตประกอบการอุตสาหกรรม และพื้นที่อุตสาหกรรมอื่นๆ รวมกว่า 20 แห่ง ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) เกือบ 800,000 ล้านบาท โดยมาจากสายการผลิตด้านอุตสาหกรรมกว่าร้อยละ 85 นำรายได้เข้าประเทศมากกว่า 120,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าภาคอุตสาหกรรมของจังหวัดระยอง เป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับมหภาคของประเทศ แต่ก็มีบางส่วนที่ยังก่อให้เกิดปัญหาทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ประชาชนในพื้นที่ยังขาดความสัมพันธ์อันดี และขาดความไว้วางใจต่อผู้ประกอบการจนส่งผลต่อภาพลักษณ์ของภาคอุตสาหกรรมโดยรวม
ทำให้จังหวัดระยอง เป็นเป้าหมายที่สำคัญของกรมโรงงานอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะต้องร่วมมือพัฒนาภาคอุตสาหกรรมเข้าสู่ความเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ซึ่งเป็นแนวทางที่จะส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรม และภาคชุมชนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข เป็นพื้นฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน