xs
xsm
sm
md
lg

ม็อบต้านเหมืองทองบุก ก.อุตฯ ยอมให้เวลา 1 เดือน ภายใน พ.ย.ต้องได้คำตอบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ม็อบต้านเหมืองทองคำ 400 กว่าคนบุกกระทรวงอุตสาหกรรม จี้ให้ยุตินโยบายสำรวจและสัมปทานเหมืองแร่ทองคำ และให้ระงับการทำเหมืองแร่ทองคำทุกแห่ง ข้าราชการระดับสูง ก.อุตฯ ตบเท้าเจรจาครึ่งวันจึงยอมยุติ โดยให้เวลาตั้งคณะกรรมการร่วมศึกษาภายใน พ.ย.เสนอรัฐบาลได้ข้อสรุปแน่




วันนี้ (15 ต.ค.) เวลาตั้งแต่ 07.00 น. ชาวบ้านประมาณ 400 กว่าคนจาก 12 จังหวัดได้ทยอยเดินทางมายังกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อยื่นหนังสือคัดค้านและให้ยุตินโยบายสำรวจและสัมปทานเหมืองแร่ทองคำและระงับการทำเหมืองแร่ทองคำทุกแห่ง เพิกถอนประทานบัตร อาชญาบัตร และอาชญาบัตรพิเศษที่เกี่ยวข้องกับแร่ทองคำทันที โดยช่วงเวลา 08.30 น. นายศักดา พันธ์กล้า รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะกำกับกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) นายชาติ หงส์เทียมจันทร์ อธิบดี กพร. เป็นตัวแทนเจรจาไกล่เกลี่ยแต่แกนนำไม่ยอม โดยยืนยันที่จะหารือกับ นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม เท่านั้น

ทั้งนี้ แกนนำยอมรับว่าที่เดินทางมาเพราะทราบข่าวว่าผู้บริหารจากบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด จะเดินทางมาพบ รมว.อุตสาหกรรมในวันนี้แต่ข้อเท็จจริงแล้วกลับไม่ใช่ ต่อมาเวลาประมาณ 10.00 น. ฝ่ายความมั่นคงพื้นที่พญาไททั้งทหารและตำรวจจึงได้ไปเจรจาและขอให้มาหารือร่วมกัน ทางแกนนำจึงยอมที่จะเดินทางมาหารือ และเวลาประมาณ 10.30 น. นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม จึงเดินทางมาเจรจาสมทบ และใช้เวลาหารือจนกระทั่งเวลา 12.00 น.จึงได้ข้อยุติ โดยกลุ่มชาวบ้านที่มาคัดค้านยอมที่จะให้เวลากับกระทรวงอุตสาหกรรมในการพิจารณาเรื่องต่างๆ ใน 1 เดือนตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ

นางอารมณ์ คำจริง ตัวแทนชาวบ้าน อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก กล่าวว่า ขณะนี้ชาวบ้านเดือดร้อนเพราะการทำกิจการเหมืองแร่ทองคำใน 12 จังหวัด ซึ่งไทยมีพื้นที่ทองคำ 31 จังหวัด เช่น พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ เลย จันทบุรี เป็นต้นแต่ กพร.เจตนาเปิดเวทีรับฟังความเห็นของประชาชนต่อนโยบายการสำรวจและทำเหมืองทองคำเพียง จ.พิจิตร และลพบุรีเท่านั้น และ กพร.เองก็เตรียมเสนอร่างนโยบายเหมืองแร่ทองคำต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถือเป็นการเร่งดำเนินการอย่างผิดปกติ ขณะเดียวกัน รอบพื้นที่ทำเหมืองขณะนี้มีการตรวจพบสารโลหะหนักในปัสสาวะและเลือด มีแมกกานีสและสารหนูปนเปื้อนในแหล่งน้ำ หากมีการเปิดทำเหมืองใหม่เพิ่มอนาคตจะยิ่งกระทบประชาชนในพื้นที่จำนวนมาก และยังกระทบอาชีพดั้งเดิมของคนในพื้นที่ เช่น มะม่วงส่งออกมูลค่า 2,000 ล้านบาทต่อปี

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันนโยบายขยายพื้นที่เพิ่มเติมไม่มีอยู่แล้วตั้งแต่ ครม.ปี 2550 ให้ชะลอออกไป ดังนั้นทุกอย่างจะต้องมีข้อยุติเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาก่อนซึ่งก็คือการตั้งกรรมการมาคุยกัน โดยภายในสัปดาห์หน้าก็จะเสร็จแน่นอน และก็ขอให้เวลาเพราะที่ผ่านมาปัญหาก็นานมาแล้ว ส่วนกรณีที่ท่านรัฐมนตรีเดินทางลงพื้นที่ไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้วก็ด้วยข้อเท็จจริงที่มีเวลานานก็เลยอาจไปพบไม่ได้ทุกพื้นที่

นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า นโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมจะมีการตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาเหมืองแร่ทองคำบ.อัครไมนิ่งขึ้นมาซึ่งจะมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมและปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานร่วมเชิญตัวแทนผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ ตัวแทนชาวบ้าน ฯลฯ มาร่วมกันหาทางแก้ไขปัญหา หลังจากได้ข้อเท็จจริงทุกด้านก็จะนำเสนอให้รัฐบาลเป็นผู้ตัดสินใจ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน

นายศักดา พันธ์กล้า รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงฯ จะทำงานตามขั้นตอนที่มีอยู่และพร้อมรับฟังความคิดเห็นทุกฝ่าย อย่างไรก็ตาม กรณีที่ท่านได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่หากมีหลักฐานท่านก็สามารถฟ้องศาลได้เลย ความยุติธรรมมีอยู่ถ้าข้าราชการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบก็ฟ้องได้ ถ้าผิดที่สุดราชการก็มีความผิดมากกว่าประชาชนด้วยซ้ำ คนไทยอยู่ใต้กฎหมายที่กำหนดไว้

นายชาติ หงส์เทียมจันทร์ อธิบดี กพร. กล่าวว่า จะให้ชี้แจงกี่ครั้งก็ยังยืนยันว่าเป็นข้อเท็จจริงไม่ได้เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแน่นอน และตลอดอายุราชการที่จะเกษียณราชการในปี 2559 นั้นยืนยันว่าไม่ได้ไปรับเงินจากภาคธุรกิจแต่อย่างใด










กำลังโหลดความคิดเห็น