xs
xsm
sm
md
lg

เปิด 5 กลุ่มอาหารไม่ต้องขออนุญาต อย.ขอผ่าน “ผู้ว่าฯ-สสจ.” ได้เลย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อย. มอบอำนาจ “ผู้ว่าฯ จังหวัด - นพ.สสจ.” พิจารณาอนุญาตผลิตภัณฑ์อาหาร 5 กลุ่ม “วัตถุเจือปน - รอยัลเยลลี - ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร - ไอศกรีม - เครื่องดื่มในภาชนะปิดสนิท” เริ่มแล้วตั้งแต่ 1 ก.พ. 59 พร้อมอนุญาตผู้ผลิตอาหารเพื่อส่งออกไม่ต้องขอเลขสารบบอาหาร

นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และสนับสนุนการส่งออก ส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ อย. จึงได้ปรับปรุงกระบวนการพิจารณาอนุญาตอาหาร เพื่อรองรับการขยายตัวในภาคธุรกิจให้เกิดความรวดเร็ว โดยมอบอำนาจการพิจารณาอนุญาตอาหารเพิ่มเติมให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 เป็นต้นไป ได้แก่ 1. วัตถุเจือปนอาหาร ที่ผลิตโดยวิธีแบ่งบรรจุจากผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตำรับอาหารไว้แล้ว 2. รอยัลเยลลี และผลิตภัณฑ์รอยัลเยลลี ที่ผลิตโดยวิธีแบ่งบรรจุจากผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการจดทะเบียนอาหารไว้แล้ว 3. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่ผลิตโดยวิธีแบ่งบรรจุจากผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการจดทะเบียนอาหารไว้แล้ว 4. ไอศกรีมทุกชนิด และ 5. เครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิททุกชนิด

นพ.ไพศาล กล่าวว่า นอกจากนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. นี้ เป็นต้นไป ผู้ผลิตที่ผลิตอาหารเพื่อการส่งออกเท่านั้น ไม่ต้องขอรับเลขสารบบอาหาร ยกเว้นอาหารที่มีความเสี่ยงสูง คือ อาหารควบคุมเฉพาะ ได้แก่ ซัยคลาเมต นมดัดแปลงสำหรับทารก และนมดัดแปลงสูตรต่อเนื่องสำหรับทารกและเด็กเล็ก วัตถุเจือปนอาหาร อาหารทารกและอาหารสูตรต่อเนื่องสำหรับทารกและเด็กเล็ก อาหารสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก อาหารเสริมสำหรับทารกและเด็กเล็ก สตีวิออลไกลโคไซต์ และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทั้งนี้ เลขสารบบอาหารหลักที่ 9 เป็นเลข 3 หรือ เลข 4 แสดงว่า เป็นอาหารที่ผลิตเพื่อการส่งออกต้องไม่มีวางจำหน่ายในประเทศ และสำหรับผู้ผลิตอาหารที่มีความเสี่ยงต่ำ ที่ไม่ต้องแจ้งสูตรส่วนประกอบ เช่น น้ำบริโภค น้ำแข็ง ช็อกโกแลต อาหารกึ่งสำเร็จรูป ชา ชาสมุนไพร ไข่เยี่ยวม้า น้ำผึ้ง ข้าวเติมวิตามิน เนยเทียม เนยผสม ผลิตภัณฑ์เนยเทียม และผลิตภัณฑ์เนยผสม น้ำมันเนย น้ำปลา น้ำส้มสายชู น้ำมันและไขมัน น้ำเกลือปรุงอาหาร ผลิตภัณฑ์ปรุงรสที่ได้จากการย่อยโปรตีนของถั่วเหลือง เป็นต้น อย. จะอนุญาตผ่านระบบ Auto E-submission ทันทีหลังจากที่ผู้ประกอบการแจ้งรายละเอียดตามแบบ สบ.7 ซึ่งช่วยให้การพิจารณาอนุญาตรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น