xs
xsm
sm
md
lg

ระวัง! สมุนไพรสลายพุง "มาเมะ" อ้าง อย. บุกทลายยึดของกลางคาเมืองอุบลฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ระวัง! สมุนไพรสลายพุง "มาเมะ" อ้าง อย.การันตี เจ้าหน้าที่บุกทลายยึดของกลางคาเมืองอุบลฯ พร้อมประสานไอซีทีจับเพจเฟซบุ๊กของผลิตภัณฑ์

วันนี้ (27 พ.ย.)  ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในฐานะโฆษก อย. กล่าวว่า ขณะนี้การโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารประเภทสมุนไพรช่วยลดน้ำหนัก ผ่านโซเชียลมีเดียมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเฟซบุ๊ก และมีการแอบอ้างว่าได้รับอนุญาตจาก อย. ส่งผลให้ประชาชนหลงเชื่อว่า เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตและปลอดภัย  ล่าสุด อย.ได้รับแจ้งจาก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) อุบลราชธานีให้ดำเนินการตรวจสอบและเฝ้าระวังเพจเฟซบุ๊ก ชื่อ “สมุนไพรสลายไขมัน ของแท้จากกระทรวงสาธารณสุข” สืบเนื่องจากมีผู้บริโภคร้องเรียนผ่านทาง สสจ.อุบลราชธานีว่ามีการบรรจุผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนัก และสงสัยว่าลักลอบใส่สารลดความอ้วน ลงไปในผลิตภัณฑ

ภก.ประพนธ์ กล่าวว่า อย.จึงได้สนธิกำลังลงพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหารสังกัดกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย เจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรเมืองอุบลราชธานี ดำเนินการตรวจสอบบ้านเลขที่ 76 ซอยราชธานี 1 ถนนราชธานี ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จ.อุบลราชธานี พบผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยี่ห้อ “มาเมะ” แบ่งบรรจุในขวดผลิตภัณฑ์และบรรจุหีบห่อ โดยมีผลิตภัณฑ์บางส่วนได้บรรจุใส่ในกล่องพัสดุไปรษณีย์เตรียมส่งให้ผู้สั่งซื้อสินค้า เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้ผลิต ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่ได้ขออนุญาต กับ อย. และมีการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง อันเป็นการกระทำฝ่าฝืนพ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522      จึงได้ทำการยึดของกลางไว้เป็นหลักฐานพร้อมส่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไปตรวจวิเคราะห์ ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ จ.อุบลราชธานี เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำความผิดต่อไป

"ต้องแยกให้เข้าใจก่อนว่า การได้รับอนุญาตผลิตภัณฑ์ กับอนุญาตเรื่องการโฆษณาไม่เหมือนกัน  ซึ่งต้องไปตรวจสอบเลขทะเบียนว่าได้รับอนุญาตจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจริงหรือไม่ ซึ่งการอนุญาตในเรื่องผลิตภัณฑ์ มีวัตถุประสงค์ในเรื่องของบุคคลบางกลุ่มอาจต้องการรับสารอาหารอื่นๆเพิ่มเติม เช่น เกลือแร่ กรดอะมิโน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะช่วยรักษา บำบัดโรค จึงไม่มีสิทธิโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณ หรือโฆษณาเป็นเท็จได้ ตรงนี้เมื่อมีการอวดอ้างสรรพคุณจะมีโทษปรับ 5,000 บาท  แต่หากโฆษณาเป็นเท็จจะมีโทรปรับ 30,000 บาท และจำคุก 3 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ด้วยความที่บทลงโทษน้อยเกินไป ขณะนี้จึงมีการร่างพ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. เพื่อปรับปรุงบทลงโทษให้ผู้ประกอบการที่กระทำผิดไม่กล้าละเมิดอีก โดยจะพิจารณาเป็นกรณีอย่างหากโฆษณาเป็นเท็จ จะมีโทษปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 3 แสนบาท เป็นต้น" รองเลขาธิการ อย. กล่าว

ภก.ประพนธ์ กล่าวว่า  นอกจากนี้ จากการตรวจสอบการโฆษณา ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายผ่านเว็บไซต์ต่าง ๆ ซึ่งผู้บริโภคและประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้โดยตรงและรวดเร็ว ทำให้มีผลกระทบในวงกว้าง บางเว็บไซต์ ไม่มีข้อมูลชื่อและที่ตั้งชัดเจนทำให้ยากต่อการตรวจสอบ  อย.จึงได้ดำเนินการประสานงานไปยังคณะอนุกรรมการดำเนินการสืบสวน จับกุม ปราบปราม และกระทำผิดกฎหมายทางอินเทอร์เน็ต กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ร่วมดำเนินการสืบสวนจับกุมผู้กระทำผิดแล้ว  หากพบผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย ร้องเรียนมาได้ที่สายด่วน อย. 1556 Email: 1556@fda.moph.go.th หรือ ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004หรือ ผ่านทาง Oryor Smart Application หรือสํานักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น